คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4181/2550

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มิได้บัญญัติว่าการขอคืนเงินอากรที่ได้รับยกเว้นจะต้องยื่นคำร้องขอคืนตามแบบที่กำหนดไว้ การขอคืนเงินอากรที่ได้รับยกเว้นอากรจึงไม่ต้องยื่นคำร้องตามแบบที่กำหนดไว้ ดังนั้น แม้ใบขอคืนเงินจะระบุแต่ชื่อโจทก์และจำนวนเงินอากรที่ขอคืนเท่านั้น มิได้ระบุรายละเอียดอื่นจำเลยก็ต้องพิจารณาว่าจะต้องคืนเงินอากรให้แก่โจทก์หรือไม่ เมื่อจำเลยพิจารณาแล้วไม่คืนเงินอากรให้แก่โจทก์ โจกท์ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยได้
โจทก์กับกรมอู่ทหารเรือทำสัญญาซื้อขายสินค้าพิพาท และกระทรวงกลาโหมมีหนังสือถึงอธิบดีจำเลยขอยกเว้นค่าอากรสำหรับสินค้าพิพาทที่นำเข้า เนื่องจากเป็นยุทธภัณฑ์ที่ใช้ในราชการทหารแต่ต่อมากรมอู่ทหารเรือบอกเลิกสัญญาเนื่องจากสินค้าที่โจทก์ส่งมอบเป็นสินค้าจากประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร มิใช่จากประเทศสหรัฐอเมริกาตามที่กำหนดไว้ในสัญญาซื้อขาย สัญญาซื้อขายจึงเป็นอันเลิกกัน คู่สัญญาแต่ละฝ่ายย่อมกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 สินค้าพิพาทจึงมิใช่ยุทธภัณฑ์ที่ใช้ในทางราชการในขณะที่นำเข้ามาในราชอาณาจักร ไม่ได้รับยกเว้นอากรขาเข้าตาม พ.ร.ก.พิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ.2530 แม้ภายหลังกรมอู่ทหารเรือจะประกาศสอบราคาและทำสัญญาซื้อขายใหม่กับโจทก์โดยถือคุณสมบัติของสินค้าเหมือนเดิมทุกประการ ก็เป็นกรณีที่จะได้รับยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับสินค้าที่นำเข้าตามสัญญาซื้อขายใหม่ การที่โจทก์นำสินค้าพิพาทที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรและผ่านพิธีการทางศุลกากรเสร็จสิ้นแล้ว โดยชำระค่าอากรขาเข้าเพราะไม่ได้เป็นยุทธภัณฑ์ที่ใช้ในทางราชการไปแล้วไปส่งมอบให้กรมอู่ทหารเรือตามสัญญาซื้อขายฉบับใหม่ ไม่ทำให้สินค้าพิพาทตามสัญญาเดิมที่ไม่ได้รับยกเว้นอากรขาเข้ากลายเป็นได้รับยกเว้นอากรขาเข้าไปด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2546 โจทก์ได้ทำสัญญาซื้อขายสายไฟฟ้าหุ้มยางผลิตภัณฑ์ตราอักษร DRAKA จำนวน 2 รายการ คุณสมบัติ THOF – 250 หรือ เทียบเท่าจำนวน 300 เมตร เป็นค่าสินค้า 970,500 บาท และคุณสมบัติ THOF – 150 หรือเทียบเท่าจำนวน 60 เมตร เป็นค่าสินค้า 136,500 บาท รวมเป็นค่าสินค้าหรือภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นเงิน 1,189,490 บาท กับกองทัพเรือ โดยกรมอู่ทหารเรือ เพื่อใช้ในราชการ สินค้าดังกล่าวจึงเป็นยุทธภัณฑ์ได้รับยกเว้นภาษีอากรขาเข้าประเภทที่ 13 ตามพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ.2530 ต่อมาเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2546 สินค้าดังกล่าวได้มาถึงประเทศไทย การนำสินค้าดังกล่าวไปส่งมอบให้แก่กรมอู่ทหารเรือโจทก์ต้องปฏิบัติพิธีการศุลกากรเพื่อขอยกเว้นภาษีอากรขาเข้าตามระเบียบของจำเลยก่อน แต่เนื่องจากทางกองทัพเรือโดยกรมอู่ทหารเรือมีความจำเป็นต้องใช้ยุทธภัณฑ์ดังกล่าวเป็นการด่วน โจทก์จึงยื่นคำร้องขอผ่อนผันรับของออกไปก่อนพร้อมทั้งทำสัญญาประกันโดยวางเงินประกันค่าอากรขาเข้าและค่าภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ต่อจำเลยจำนวน 311,167 บาท จำเลยได้อนุมัติให้โจทก์รับของออกไปก่อน และให้มาดำเนินการยกเว้นอากรขาเข้าในภายหลัง หลังจากได้รับสินค้าแล้วโจทก์และกองทัพเรือโดยกรมอู่ทหารเรือได้ขอขยายเวลายื่นใบขนสินค้าขาเข้าเพื่อปฏิบัติพิธีการศุลกากรให้สมบูรณ์และขอต่ออายุสัญญาประกันเรื่อยมา จนกระทั้งเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2546 กรมอู่ทหารเรือได้แจ้งให้โจทก์ทราบว่าสายไฟฟ้าหุ้มยาง THOF – 250 และ THOF – 150 ที่โจทก์ส่งมอบให้ไม่ถูกต้องตามที่สัญญาซื้อขายกำหนดไว้และขอบอกเลิกสัญญาซื้อขายสายไฟฟ้าหุ้มยางกับโจทก์ ความจริงแล้วโจทก์ได้ส่งมอบสายไฟฟ้าหุ้มยางที่มีคุณสมบัติตามที่กำหนดในสัญญาทุกประการ แต่เกิดจากความผิดพลาดของหน่วยงานตรวจรับสินค้าของกรมอู่ทหารเรือ โจทก์ได้ยื่นเรื่องขอชำระภาษีอากรต่อจำเลย จำเลยมีคำสั่งให้นำเงินที่โจทก์ได้วางประกันไว้ในส่วนค่าอากรขาเข้าจำนวน 219,132 บาท เป็นค่าภาษีอากรขาเข้าของสินค้ายุทธภัณฑ์ดังกล่าวเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2547 ต่อมาวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2547 กรมอู่ทหารเรือได้ประกาศสอบราคาซื้อสายไฟฟ้าหุ้มยางอีกครั้งหนึ่ง โดยกำหนดชนิดของสายไฟฟ้าและข้อกำหนดความต้องการเหมือนกับที่โจทก์ได้ทำสัญญาซื้อขายกับกรมอู่ทหารเรือ โดยในครั้งหลังโจทก์ได้เสนอราคาและได้รับสิทธิขายสินค้าให้แก่กรมอู่ทหารเรือในราคายกเว้นศุลกากร และต่อมาโจทก์ได้ส่งมอบสายไฟฟ้าหุ้มยาง THOF – 250 และ THOF – 150 ให้แก่กรมอู่ทหารเรืออีกครั้งหนึ่ง โดยหมวดรับและจัดส่งศูนย์พัสดุช่าง กรมอู่ทหารเรือ ได้ตรวจรับสายไฟฟ้าดังกล่าวแล้ว สินค้าสายไฟฟ้าหุ้มยาง THOF – 250 และ THOF – 150 ที่โจทก์ขายให้แก่กรมอู่ทหารเรือดังกล่าวจึงเป็นยุทธภัณฑ์อันได้รับยกเว้นภาษีอากรขาเข้าตามพิธีการศุลกากร เงินค่าภาษีอากรขาเข้าซึ่งโจทก์ได้แจ้งขอชำระต่อจำเลยและจำเลยได้นำเป็นเงินค่าภาษีอากรขาเข้าไปในครั้งแรกในวันที่ 12 มีนาคม 2547 จำนวน 219,132 บาท จึงเป็นการชำระไปโดยผิดหลงในข้อเท็จจริง โจทก์จึงมีสิทธิติดตามและเอาคืนเงินค่าภาษีดังกล่าวจากจำเลยผู้ไม่มีสิทธิยึดถือไว้ทั้งหมดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 ก่อนฟ้องคดีนี้โจกท์ได้ยื่นเรื่องขอคืนภาษีอากรขาเข้าที่โจทก์ชำระไปโดยผิดหลงในชนิดของสินค้าต่อจำเลยแล้ว แต่จำเลยไม่ยอมรับใบขอคืนเงินที่โจทก์นำไปยื่นต่อจำเลย ก่อนโจทก์ขอคืนภาษีจำเลย กองทัพเรือโดยกรมอู่ทหารเรือได้ขอยกเว้นภาษีอากรยุทธภัณฑ์เพื่อให้จำเลยคืนอากรให้แก่โจทก์ แต่จำเลยไม่คืนอากรให้โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยคืนเงินค่าอากรพร้อมดอกเบี้ยถึงวันฟ้องจำนวน 229,998.79 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 219,132 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จสิ้นแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยยังไม่ได้รับใบคำขอคืนเงินของโจทก์ดังกล่าว จำเลยจึงไม่ได้พิจารณาคำขอคืนเงินของโจทก์ว่าจะคืนหรือไม่คืนเงินให้แก่โจทก์หรือไม่ เพียงใด ใบคำขอคืนเงินของโจทก์เป็นเอกสารที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายและระเบียบปฏิบัติราชการ เพราะกรอกข้อความที่เป็นสาระสำคัญไม่ครบถ้วน โดยโจทก์ไม่ได้กรอกเลขประจำตัวผู้เสียภาษี ที่ใบขนสินค้าที่โจทก์อ้างว่าได้ชำระอากรโดยผิดหลง ไม่ระบุเลขที่บัญชีธนาคารที่โจทก์ประสงค์ให้จำเลยโอนเงินเข้าตามจำนวนที่โจทก์ขอคืน ทั้งไม่มีหลักฐานการลงรับหนังสือตามระเบียบปฏิบัติราชการ ประกอบกับหน่วยงานราชการที่โจทก์อ้างว่าเป็นคู่สัญญาซื้อขายกับโจทก์ซึ่งเป็นผู้มีสิทธิขอยกเว้นอากรได้มิได้ดำเนินการเพื่อยกเว้นอากรตามจำนวนเงินที่โจทก์ขอคืนจากจำเลย โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง โจทก์ไม่มีสิทธิขอคืนเงินอากรจำนวน 219,132 บาท จากจำเลย เนื่องจากเงินจำนวนดังกล่าวเป็นเงินอากรที่โจทก์ได้ขอชำระแก่จำเลย และเจ้าหน้าที่ของจำเลยได้รับไว้โดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ประกอบกับสินค้าที่โจทก์ส่งให้แก่กรมอู่ทหารเรือดังกล่าวไม่ใช่ยุทธภัณฑ์ตามสัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์กับกองทัพเรือ ตามสัญญาเลขที่ 130/งป.2546 หากแต่เป็นยุทธภัณฑ์ที่โจทก์ส่งให้กับกรมอู่ทหารเรือตามสัญญาซื้อขายฉบับอื่นซึ่งกรมอู่ทหารเรือได้ทำการสอบราคาเพื่อจัดซื้อใหม่ หลังจากบอกเลิกสัญญาฉบับเลขที่ 130/งป.2546 กับโจทก์แล้ว และโจทก์ยังไม่ได้รับการพิจารณายกเว้นอากรจากกองทัพเรือซึ่งเป็นคู่สัญญากับโจทก์ สินค้าที่โจทก์ขอคืนเงินค่าภาษีอากรดังกล่าวจึงยังไม่ได้เข้าสู่กระบวนการพิจารณายกเว้นอากร โจทก์ไม่มีสิทธิขอคืนเงิน 219,132 บาท จากจำเลย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยคืนอากรขาเข้า 219,132 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 12 มีนาคม 2547 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะคืนเงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์เสร็จสิ้น โดยดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องคืนวันที่ 29 ตุลาคม 2547 ต้องไม่เกิน 10,866.79 บาท ให้จำเลยชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 2,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้โดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดโต้แย้งว่า เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2546 โจทก์ทำสัญญาซื้อขายสายไฟฟ้าหุ้มยาง 2 รายการ แบบ THOF – 250 และ THOF – 150 หรือที่มีคุณสมบัติเทียบเท่ากับกองทัพเรือตามสัญญาซื้อขายสายไฟฟ้าหุ้มยางเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 92 ถึง 99 ต่อมาเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2546 โจทก์สั่งซื้อและนำสินค้าสายไฟฟ้าหุ้มยางตราอักษร DRAKA 2 รายการ ซึ่งมีคุณสมบัติ THOR – 250 หรือเทียบเท่าจำนวน 300 เมตร ค่าสินค้า 970,500 บาท และ คุณสมบัติ THOF – 150 หรือเทียบเท่าจำนวน 60 เมตร ค่าสินค้า 136,500 บาท รวมค่าสินค้าพร้อมภาษีมูลค่าเพิ่ม 1,184,490 บาท เข้ามาในราชอาณาจักรตามใบขนสินค้าขาเข้าเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 66 และสำเนาใบกำกับสินค้า เอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 85 โดยโจทก์ขอผ่อนผันนำสินค้าดังกล่าวออกไปก่อนพร้อมทั้งวางเงินประกันจำนวน 311,167 บาท ตามสำเนาหนังสือขอผ่อนผันและสัญญาประกันเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 80 และ 81 โจทก์ได้ขอขยายระยะเวลาปฏิบัติพิธีการศุลกากรหลายครั้ง ต่อมาวันที่ 12 ธันวาคม 2546 กระทรวงกลาโหมได้มีหนังสือขอยกเว้นค่าอากรสำหรับสายไฟฟ้าหุ้มยางที่โจทก์นำเข้ามาในราชอาณาจักรตามสำเนาหนังสือขอยกเว้นค่าอากร เอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 43 แต่ปรากฏว่าในวันที่ 26 ธันวาคม 2546 กรมอู่ทหารเรือได้บอกเลิกสัญญาซื้อขายกับโจทก์เนื่องจากโจทก์ส่งมอบพัสดุไม่ถูกต้องตามเงื่อนไขของสัญญาตามหนังสือบอกเลิกสัญญาเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 76 และ 77 หลังจากนั้นในวันที่ 6 มกราคม 2547 โจทก์มีหนังสือขอชำระอากรและภาษีมูลค่าเพิ่มตามสำเนาหนังสือเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 44 เจ้าพนักงานจำเลยได้นำเงินประกันจำนวน 311,167 บาท ไปชำระค่าอากรขาเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่มตามใบสั่งผลักและถอนเงินประกัน เอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 63 และ 64 ต่อมาวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2547 กรมอู่ทหารเรือได้ประกาศสอบราคาซื้อสายไฟฟ้าหุ้มยางทั้งสองรายการดังกล่าวใหม่ตามประกาศกรมอู่ทหารเรือเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 17 โจทก์เป็นผู้ได้รับสิทธิในการขายสินค้าให้แก่กรมอู่ทหารเรือและได้ส่งมอบสินค้าให้แก่กรมอู่ทหารเรือแล้ว กรมอู่ทหารเรือจึงมีหนังสือถึงจำเลยให้คืนค่าอากรแก่โจทก์ตามหนังสือเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 12 ซึ่งจำเลยได้ปฏิเสธคืนอากรดังกล่าวตามหนังสือเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 6 และ 7
ปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ข้อแรกของจำเลยมีว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มิได้บัญญัติว่าการขอคืนเงินอากรที่ได้รับยกเว้นอาจจะต้องยื่นคำร้องขอคืนตามแบบที่กำหนดไว้ ต่างกับการขอคืนภาษีอากรตามประมวลรัษฎากรที่มาตรา 27 ตรี แห่งประมวลรัษฎากรบัญญัติให้ยื่นคำร้องขอคืนตามแบบที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด เว้นแต่จะมีบทบัญญัติกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ฉะนั้นการขอคืนเงินอากรที่ได้รับยกเว้นอากรจึงไม่ต้องยื่นคำร้องตามแบบที่กำหนดไว้ ดังนั้น แม้ใบขอคืนเงินตามเอกสารหมาย จ.1 จะระบุแต่ชื่อโจทก์และจำนวนเงินอากรที่ขอคืนเท่านั้น มิได้ระบุรายละเอียดอื่น เช่น เลขประจำตัวผู้เสียภาษี เลขที่ใบขนสินค้าที่อ้างว่าได้ชำระอากรโดยผิดหลง เลขที่บัญชีธนาคารที่ประสงค์จะให้จำเลยโอนเงินตามจำนวนที่ขอคืน จำเลยก็ต้องพิจารณาว่าจะต้องคืนเงินอากรให้แก่โจทก์หรือไม่ เมื่อจำเลยพิจารณาแล้วไม่คืนเงินอากรให้แก่โจทก์ โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยได้ อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ข้อต่อไปของจำเลยมีว่า สินค้าพิพาทได้รับยกเว้นอากรขาเข้าหรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ.2530 ภาค 4 ของที่ได้รับยกเว้นอากรประเภทที่ 13 ต้องเป็นยุทธภัณฑ์ที่ใช้ในทางราชการ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่ามีการทำสัญญาซื้อขายสินค้าพิพาทระหว่างโจทก์กับกรมอู่ทหารเรือ และกระทรวงกลาโหมมีหนังสือถึงอธิบดีจำเลยขอยกเว้นค่าอากรสำหรับสินค้าพิพาทที่นำเข้าตามสัญญาซื้อขายดังกล่าวเนื่องจากเป็นยุทธภัณฑ์ที่ใช้ในราชการทหาร แต่ต่อมากรมอู่ทหารเรือบอกเลิกสัญญาซื้อขายดังกล่าวเนื่องจากสินค้าที่โจทก์ส่งมอบเป็นสินค้าจากประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร์ มิใช่สินค้ารจากประเทศสหรัฐอเมริกาตามที่กำหนดไว้ในสัญญาซื้อขาย สัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์กับกรมอู่ทหารเรือจึงเป็นอันเลิกกัน คู่สัญญาแต่ละฝ่ายย่อมกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 สินค้าพิพาทจึงมิใช่ยุทธภัณฑ์ที่ใช้ในทางราชการในขณะที่นำเข้ามาในราชอาณาจักร ไม่ได้รับยกเว้นอากรขาเข้าตามพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ.2530 ภาค 4 ของที่ได้รับยกเว้นอากรประเภทที่ 13 แม้ภายหลังกรมอู่ทหารเรือจะประกาศสอบราคาและทำสัญญาซื้อขายใหม่กับโจทก์โดยถือคุณสมบัติของสินค้าเหมือนเดิมทุกประการ ก็เป็นกรณีที่จะได้รับยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับสินค้าที่นำเข้าตามสัญญาซื้อขายใหม่ การที่โจทก์นำสินค้าพิพาทที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรและผ่านพิธีการทางศุลกากรเสร็จสิ้นแล้ว โดยชำระค่าอากรขาเข้าเพราะไม่ได้เป็นยุทธภัณฑ์ที่ใช้ในทางราชการไปแล้วไปส่งมอบให้กรมอู่ทหารเรือตามสัญญาซื้อขายฉบับใหม่ ไม่ทำให้สินค้าพิพาทตามสัญญาเดิมที่ไม่ได้รับยกเว้นอากรขาเข้ากลายเป็นได้รับยกเว้นอากรขาเข้าไปด้วยฉะนั้น จำเลยจึงไม่ต้องคืนเงินอากรขาเข้าพร้อมดอกเบี้ยตามฟ้องให้แก่โจทก์ ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรไม่เห็นด้วย”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

Share