คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4116/2550

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ทั้งสี่ฟ้องจำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของ บ. ตามคำสั่งศาล อ้างว่าจำเลยจัดการมรดกโดยทำบัญชีทรัพย์มรดกและแบ่งมรดกไม่ถูกต้อง จึงเป็นคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดก กำหนดอายุความต้องบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง เมื่อยังมีทรัพย์มรดกที่จำเลยจะต้องแบ่งให้แก่ทายาทและการจัดการมรดกยังไม่สิ้นสุดลง จึงยังไม่เริ่มนับอายุความตามบทกฎหมายดังกล่าว และโดยเหตุที่จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกต้องรับผิดต่อทายาทตามมาตรา 1720 ในลักษณะตัวการตัวแทนตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 809 ถึง 812, 819 และมาตรา 823 การที่จำเลยครอบครองที่ดินซึ่งมีส่วนเป็นทรัพย์มรดกกึ่งหนึ่ง ถือได้ว่าเป็นการครอบครองแทนทายาท จำเลยจะยกอายุความตามมาตรา 1754 ขึ้นต่อสู้ทายาทหาได้ไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสี่เป็นบุตรของนายบุญเลี้ยง รัชบุตร กับนางคำ รัชบุตร ซึ่งจดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมาย เมื่อนางคำถึงถึงแก่ความตาย นายบุญเลี้ยงสมรสใหม่กับจำเลยเมื่อปี 2517 และมีบุตรด้วยกัน 2 คน วันที่ 24 กันยนยน 2541 นายบุญเลี้ยงถึงแก่ความตาย ศาลจังหวัดอุดรธานีมีคำสั่งตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของนายบุญเลี้ยงเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2542 ต่อมาจำเลยทำบัญชีทรัพย์มรดกส่งให้โจทก์ทั้งสี่พร้อมแจ้งว่าจัดแบ่งทรัพย์มรดกเรียบร้อยแล้ว โดยโจทก์ทั้งสี่ได้รับส่วนแบ่งคนละ 10,059.32 บาท ซึ่งไม่ถูกต้อง เนื่องจากยังมีทรัพย์มรดกอยู่ในครอบครองของจำเลยที่ไม่ได้ระบุไว้ในบัญชีทรัพย์มรดก คือที่ดินโฉนดเลขที่ 13809 และ 13804 ที่ดินปลูกบ้านพร้อมสิ่งปลูกสร้าง รถไถนาชนิดเดินตาม และทรัพย์สินที่ระบุไว้ในบัญชีทรัพย์มรดกแล้วแต่ยังไม่ได้แบ่ง คือรถยนต์ยี่ห้อดัทสัน 1 คัน ปืน 2 กระบอก และรถจักรยานยนต์ 1 คัน รวมราคาประมาณ 2,650,250 บาท ทรัพย์สินดังกล่าวเป็นเป็นสินสมรสของนายบุญเลี้ยงกับจำเลย จึงเป็นทรัพย์มรดกกึ่งหนึ่งราคาประมาณ 1,325,125 บาท ซึ่งต้องแบ่งให้แก่ทายาท 7 คน โจทก์ทั้งสี่จะได้รับส่วนแบ่งคนละ 189,303 บาท รวมเป็นเงิน 754,214 บาท (ที่ถูก 357,212 บาท) ขอให้บังคับจำเลยแบ่งทรัพย์มรดกของนายบุญเลี้ยงแก่โจทก์ทั้งสี่คนละส่วนหรือแบ่งให้แก่โจทก์ทั้งสี่เป็นเงิน 754,214 บาท หากตกลงแบ่งกันไม่ได้ ให้นำทรัพย์มรดกดังกล่าวออกขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งให้แก่โจทก์ทั้งสี่คนละส่วน
จำเลยให้การว่า จำเลยทำบัญชีทรัพย์มรดกถูกต้องแล้ว ที่ดินโฉนดเลขที่ 13809 และ 13804 และรถไถนาชนิดเดินตามมิใช่ทรัพย์มรดก แต่เป็นสินส่วนตัวของจำเลย ส่วนที่ดินปลูกบ้านพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นทรัพย์สินที่นายบุญเลี้ยงยกให้จำเลยก่อนตาย จำเลยครอบครองที่ดินดังกล่าวมา 10 ปี และครอบครองรถไถนาชนิดเดินตามมา 3 ปี โจทก์ฟ้องขอแบ่งมรดกเกินกว่า 1 ปี นับแต่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย คดีโจทก์จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยจัดการแบ่งทรัพย์มรดกของนายบุญเลี้ยง รัชบุตร คือที่ดินโฉนดเลขที่ 13804 และ 13809 ตำบลบ้านถิ่น อำเภอโนนสัง จังหวัดหนองบัวลำภู รถไถนาชนิดเดินตาม รถยนต์ยี่ห้อดัทสัน 1 คัน ปืน 2 กระบอก และรถจักรยานยนต์ 1 คัน ให้แก่โจทก์ทั้งสี่ หากตกลงแบ่งกันไม่ได้ ให้นำทรัพย์มรดกดังกล่าวออกขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งให้แก่โจทก์ทั้งสี่ ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสี่ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 8,000 บาท แทนโจทก์ทั้งสี่
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้จำเลยยื่นฎีกาภายในกำหนดฎีกาโดยฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 เฉพาะปัญหาเรื่องอายุความ ศาลชั้นต้นเห็นว่าฎีกาของจำเลยมีข้อความไม่ถูกต้องและสั่งให้จำเลยทำฎีกามาใหม่ จำเลยยื่นฎีกาฉบับใหม่โดยมีประเด็นอื่นเพิ่มเติม ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาเฉพาะแต่ข้อที่เกี่ยวกับอายุความ ส่วนฎีกาข้ออื่นถือว่ายื่นล่วงพ้นกำหนดฎีกาจึงไม่รับ คงมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยเพียงว่า คดีโจทก์ในส่วนที่ฟ้องขอแบ่งที่ดินโฉนดเลขที่ 13804 และ 13809 ตำบลบ้านถิ่น อำเภอโนนสัง จังหวัดหนองบัวลำภู ขาดอายุความหรือไม่ ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ว่า โจทก์ทั้งสี่เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายบุญเลี้ยง รัชบุตร กับนางคำ รัชบุตร เมื่อนางคำถึงแก่ความตาย นายบุญเลี้ยงสมรสกับจำเลยและอยู่กินฉันสามีภริยาจนมีบุตรด้วยกัน 2 คน ต่อมานายบุญเลี้ยงถึงแก่ความตาย จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของนายบุญเลี้ยงตามคำสั่งศาล ที่ดินโฉนดเลขที่ 13804 และ 13809 เป็นสินสมรสของนายบุญเลี้ยงกับจำเลย ทรัพย์สินดังกล่าวกึ่งหนึ่งตกเป็นมรดกของนายบุญเลี้ยงที่จำเลยฎีกา นายบุญเลี้ยงมิได้ทำพินัยกรรม มรดกที่ตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมของนายบุญเลี้ยงหมายถึงแต่เฉพาะทรัพย์สินที่ระบุไว้ในคำร้องขอให้ศาลตั้งผู้จัดการมรดก การที่จำเลยครอบครองที่ดินโฉนดเลขที่ 13804 และ 13809 ซึ่งมีชื่อจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ จึงไม่ถือว่าจำเลยครอบครองที่ดินในฐานะผู้จัดการมรดกแทนทายาทอื่นรวมทั้งโจทก์ทั้งสี่ โจทก์ทั้งสี่ฟ้องคดีเกิน 1 ปี จึงขาดอายุความนั้น เห็นว่า โจทก์ทั้งสี่ฟ้องจำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของนายบุญเลี้ยงตามคำสั่งศาล อ้างว่าจำเลยจัดการมรดกโดยทำบัญชีทรัพย์มรดกและแบ่งมรดกไม่ถูกต้อง จึงเป็นคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดก กำหนดอายุความต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1733 วรรคสอง ซึ่งบัญญัติมิให้ทายาทฟ้องเกินกว่า 5 ปี นับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลง เมื่อปรากฏว่ายังมีทรัพย์มรดกหลายรายการที่จำเลยจะต้องแบ่งให้แก่ทายาทและการจัดการมรดกยังไม่สิ้นสุดลง จึงยังไม่อาจเริ่มนับอายุความตามบทกฎหมายดังกล่าว และโดยเหตุที่จำเลยเป็นผู้จัดการมรดก ต้องรับผิดต่อทายาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1720 ในลักษณะตัวการตัวแทนตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 809 ถึง 812, 819 และมาตรา 823 การที่จำเลยครอบครองที่ดินโฉนดเลขที่ 13804 และ 13809 ซึ่งมีส่วนเป็นทรัพย์มรดกกึ่งหนึ่ง ถือได้ว่าเป็นการครอบครองแทนทายาท จำเลยจะยกอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 ขึ้นต่อสู้ทายาทหาได้ไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยว่าคดีโจทก์ทั้งสี่ไม่ขาดอายุความ จึงชอบแล้ว”
พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความ 5,000 บาท แทนโจทก์ทั้งสี่

Share