แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เงิน รายได้ ฌา ปน สถานที่ จำเลย เบียดบัง ไม่ได้ ส่ง กรมตำรวจ ตาม ที่ โจทก์ กล่าวหา เป็น เงิน นอก งบประมาณ ไม่ใช่ เงิน รายได้ ของ แผ่นดิน และ ความผิด ต่อ ตำแหน่ง หน้าที่ ราชการ ตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 ทรัพย์ ที่ เจ้าพนักงาน เบียดบัง เอาไว้ เป็น ของ ตน หรือ ของ ผู้อื่น ต้อง เป็น ทรัพย์ ที่ เจ้าพนักงาน มี หน้าที่ ซื้อ ทำ จัดการ หรือ รักษา แต่เมื่อ เงิน ที่ จำเลย ยักยอก เอาไป ใช้ ส่วนตัว ใน คดี นี้ เป็น เงิน ค่าบำรุง ที่ เจ้า ภาพ งาน ศพ มา ใช้ ฌา ปน สถาน มอบ ให้ แก่ จำเลย เพื่อ เก็บ ส่ง เป็น เงิน สวัสดิการ ต่อ กรมตำรวจ เท่านั้น มิใช่ เงิน ของ ทางราชการ หรือ ของ รัฐบาล ที่ จำเลย ผู้เป็น เจ้าพนักงาน มี หน้าที่ จัดซื้อ ทำ จัดการ หรือ รักษา จึง ลงโทษ จำเลย ตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 ไม่ได้ การกระทำ ของ จำเลย เป็น ความผิด ตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 เป็น ความผิดอันยอมความได้ ซึ่ง ผู้เสียหาย จะ ต้อง ร้องทุกข์ ภายใน 3 เดือน นับแต่ รู้ เรื่อง ความผิด และ รู้ตัว ผู้กระทำ ความผิด แต่ ปรากฏว่า ผู้ช่วย อธิบดี กรมตำรวจ ปฏิบัติ ราชการ แทน อธิบดี กรมตำรวจ รู้ เรื่อง ความผิด และ รู้ตัว ผู้กระทำ ความผิด เมื่อ วันที่ 17 กันยายน 2528 แต่ ท . เพิ่ง ได้รับ คำสั่ง จาก ผู้บังคับการ กองสวัสดิการ กรมตำรวจ ให้ ไป ร้องทุกข์ ต่อ พนักงานสอบสวน เมื่อ วันที่ 18 มีนาคม 2530 การ ร้องทุกข์ ซึ่ง จะ ต้อง ดำเนินการ ตั้งแต่ รับคำ สั่ง จึง เกิน 3 เดือน นับแต่ รู้ เรื่อง และ รู้ตัว ผู้กระทำผิด แล้ว คดี จึง ขาดอายุความ แม้ จำเลย ไม่ได้ ยก อายุความ ขึ้น ต่อสู้ ศาลฎีกา ก็ ยกขึ้น พิจารณา ได้เอง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ ตำแหน่งหัวหน้าฌาปนสถานและสุสาน กรมตำรวจ ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายมีหน้าที่รับเงินรายได้ เงินค่าบำรุงและค่าบริการต่าง ๆ จากเจ้าหน้าที่ฝ่ายผลประโยชน์หรือลูกจ้างชั่วคราวของฌาปนสถานและสุสานกรมตำรวจ หรือเจ้าภาพงานศพแล้วต้องนำเงินที่ได้รับตามหน้าที่ให้เจ้าหน้าที่ลงบัญชีเงินสดและนำส่งกองสวัสดิการ กรมตำรวจแต่ได้เบียดบังเงินจำนวนดังกล่าวตามฟ้องไปเป็นประโยชน์ส่วนตนโดยทุจริต ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147, 157, 91 จำเลยให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดรวม 33 กรรม จำคุกกระทงละ 5 ปี ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดรวมจำคุก 165 ปี จำเลยรับสารภาพในชั้นพนักงานตรวจเงินแผ่นดินและนำสืบเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาลดโทษให้หนึ่งในสามตามมาตรา 78 เหลือโทษจำคุก 110 ปี แต่คงให้จำคุก 50 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91(3) จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติว่า พนักงานตรวจเงินแผ่นดินได้ตรวจสอบบัญชีการเงินฌาปนสถาน กรมตำรวจวัดตรีทศเทพพบว่าระหว่างวันที่ 8 มกราคม 2520 ถึงวันที่14 กันยายน 2524 เงินฌาปนสถานและสุสานที่วัดตรีทศเทพขาดบัญชีไปเป็นเงิน 7,810 บาท ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของจำเลยเป็นค่าบำรุงสุสาน 15 ราย รายละ 350 บาท เป็นเงิน 5,250 บาทค่าบริการไฟฟ้าฉายภาพยนตร์ 1 ราย เป็นเงิน 350 บาทค่าทำบุญเลี้ยงพระ 17 ราย รายละ 30 บาท เป็นเงิน 510 บาทรวมเป็นเงิน 6,110 บาท และอยู่ในความรับผิดชอบของจ่าสิบตำรวจบุญชู เอี่ยมระเบียบ 1,700 บาท ตามเอกสารหมาย จ.21มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยว่าจำเลยได้รับเงินตามฟ้องไว้และไม่ได้นำส่งกรมตำรวจจริงหรือไม่ ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงแล้ว เห็นว่าพยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบมาฟังได้ว่าจำเลยรับเงินดังกล่าวไว้และไม่ได้นำส่งกรมตำรวจจริง ปัญหาต่อไปมีว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามฟ้องหรือไม่ข้อที่โจทก์กล่าวหาว่าจำเลยเบียดบังทรัพย์อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 นั้น ข้อเท็จจริงได้ความจากพันตำรวจโทวิโรจน์ สัตยสัณห์สกุล และนางมยุรีว่าเงินรายได้ฌาปนสถานที่จำเลยไม่ได้ส่งกรมตำรวจตามที่โจทก์กล่าวหาทั้งหมดนี้เป็นเงินนอกงบประมาณไม่ใช่เงินรายได้ของแผ่นดิน แต่ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 นั้นทรัพย์ที่เจ้าพนักงานเบียดบังเอาไว้เป็นของตนหรือของผู้อื่นต้องเป็นทรัพย์ที่เจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาแต่ในคดีนี้เงินที่จำเลยยักยอกเอาไปใช้ส่วนตัวเป็นเงินค่าบำรุงที่เจ้าภาพงานศพมาใช้ฌาปนสถานมอบให้แก่จำเลยเพื่อเก็บส่งเป็นเงินสวัสดิการต่อกรมตำรวจเท่านั้น หาใช่เงินของทางราชการหรือของรัฐบาลที่จำเลยผู้เป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาแต่อย่างใดไม่ ฟังไม่ได้ว่าจำเลยได้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรานี้จึงจะลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 148 ไม่ได้ แต่ศาลฎีกามีความเห็นต่อไปว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 แต่ความผิดในมาตรานี้เป็นความผิดอันยอมความกันได้ซึ่งผู้เสียหายจะต้องร้องทุกข์ภายใน 3 เดือน นับแต่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด คดีนี้ได้ความว่าผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมตำรวจรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2528 ตามเอกสารหมาย ป.จ.1แต่พันตำรวจโทวิโรจน์ สัตยสัณฑ์สกุล เพิ่งได้รับคำสั่งจากผู้บังคับการกองสวัสดิการ กรมตำรวจ ให้ไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2530 ตามเอกสารหมาย จ.1 การร้องทุกข์ซึ่งจะต้องดำเนินการตั้งแต่รับคำสั่งจึงเกิน 3 เดือนนับแต่รู้เรื่องและรู้ตัวผู้กระทำผิดแล้ว คดีจึงขาดอายุความแม้จำเลยไม่ได้ยกอายุความขึ้นต่อสู้ ศาลฎีกาก็ยกขึ้นพิจารณาได้เอง พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์