คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1875/2515

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

บริษัทโรงภาพยนตร์จำเลยที่ 1 โดยผู้จัดการโรงภาพยนตร์จำเลยที่ 2 ร่วมรู้เห็นในการที่จำเลยที่ 3 กับ ส. ซึ่งเป็นพนักงานขายตั๋ว ใช้อุบายเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียอากรมหรสพ โดยขายตั๋วฉบับเดียวคิดราคาเป็น 2 เท่า และอนุญาตให้ผู้ซื้อเข้าดูภาพยนตร์ได้ 2 คน โดยเสียอากรเท่าฉบับเดียว เป็นผลให้จำเลยได้เงินขายตั๋วส่วนที่เกินราคาเป็นประโยชน์แห่งตน ดังนี้ ศาลย่อมลงโทษตามประมวลรัษฎากร มาตรา 37 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยฉบับที่ 16 พ.ศ.2502 มาตรา 14 ได้จะอ้างว่าการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตามมาตรา 135(3) ซึ่งมีบทลงโทษโดยเฉพาะอยู่แล้วตามมาตรา 142 หาได้ไม่

เนื่องจากการกระทำของจำเลยดังกล่าว พนักงานเจ้าหน้าที่อากรมหรสพได้มีหนังสือแจ้งให้ผู้จัดการโรงภาพยนตร์นำเงินค่าอากรและเงินเพิ่มอากรไปชำระตามมาตรา 138 ทวิ และเจ้าหน้าที่ได้รับชำระเงินไว้แล้ว เงินจำนวนนี้ก็ไม่ใช่เงินค่าปรับเปรียบเทียบในทางอาญา อันจะทำให้คดีเลิกกันและไม่ถือว่าเป็นการกระทำหรือเป็นการเปรียบเทียบโดยอธิบดีกรมสรรพากรหรือผู้ทำการแทน ตามมาตรา 3 ทวิ อันจะคุ้มผู้ต้องหามิให้ถูกฟ้องร้องทางอาญาต่อไปด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและเพิ่มเติมฟ้องว่า จำเลยทั้งสามกับพวกร่วมกันใช้อุบายกระทำการหลีกเลี่ยงการเสียอากรมหรสพ กล่าวคือ ขายตั๋วเข้าดูภาพยนตร์เกินราคา โดยขายฉบับเดียวคิดราคาเป็นสองเท่า และอนุญาตให้ผู้ซื้อเข้าไปนั่งดูภาพยนตร์ได้ 2 คนต่อตั๋วหนึ่งฉบับโดยเสียอากรเท่าฉบับเดียว ทำให้รัฐบาลขาดค่าอากรจากผู้เข้าดูภาพยนตร์ที่จะได้รับ ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ของจำเลยกับพวกขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลรัษฎากร ริบตั๋วของกลาง กับนับโทษจำเลยที่ 1, 2, 3 ต่อจากคดีอาญาแดงที่ 2561/2512 ของศาลอาญา

จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นจำเลยคนเดียวกับจำเลยคดีอาญาที่กล่าวในฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานเจตนาหลีกเลี่ยงการเสียอากรโดยใช้อุบายต้องตามประมวลรัษฎากรมาตรา 37 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 16) พ.ศ. 2502 มาตรา 14 จำคุกจำเลยที่ 2 ที่ 3 คนละ 1 ปี ปรับคนละ 10,000 บาท โทษจำรอให้คนละ 2 ปี ส่วนจำเลยที่ 1 ให้ปรับ 10,000 บาท ถ้ากักขังแทนค่าปรับให้กักขังแทน 2 ปี ของกลางริบ คำขอนอกนั้นให้ยก

จำเลยทั้งสามอุทธรณ์ทั้งปัญหาข้อเท็จจริงและปัญหาข้อกฎหมาย

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยทั้งสามฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาเฉพาะในปัญหาข้อกฎหมายซึ่งมีว่า (1) การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นการฝ่าฝืนประมวลรัษฎากร มาตรา 135(3) มีบทลงโทษตามมาตรา 142 เมื่อจำเลยชำระเงินเป็นจำนวนสูงเกินกว่าอัตราค่าปรับอย่างสูงตามกฎหมายไปแล้ว คดีนี้เป็นอันเลิกกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 37 (2) ศาลจะนำมาตรา 37 แห่งประมวลรัษฎากรซึ่งเป็นบททั่วไปมาลงโทษจำเลยทั้งสามในข้อเท็จจริงคดีนี้ ซึ่งเป็นความผิดตามมาตรา 135(3) ประมวลรัษฎากรหาได้ไม่ เพราะมาตรา 135(3) มีบทลงโทษโดยเฉพาะอยู่แล้วในมาตรา 142

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ศาลล่างทั้งสองฟังข้อเท็จจริงมาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ร่วมรู้เห็นในการขายตั๋วเกินราคาของนางศิริรัตน์จำเลยที่ 3 และนางสาวสุนี โดยขายตั๋วฉบับเดียวคิดราคาเป็นสองเท่า และอนุญาตให้ผู้ซื้อเข้าไปนั่งดูภาพยนตร์ได้ 2 คนต่อตั๋วหนึ่งฉบับ โดยเสียอากรเท่าฉบับเดียว เป็นผลให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ได้เงินขายตั๋วส่วนที่เกินราคาเป็นประโยชน์แห่งตนทั้งหมดอันเป็นอุบายเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ต้องเสียอากรมหรสพและฟังว่าจำเลยที่ 1 ได้ชำระเงินเป็นค่าอากรและค่าเพิ่มอากรมหรสพต่อพนักงานเจ้าหน้าที่กรมสรรพากรเป็นเงิน 756 บาทแล้ว สำหรับประเด็นข้อ 1 ศาลฎีกาเห็นว่าเงินจำนวนนี้ศาลล่างทั้งสองฟังว่าเป็นเงินค่าอากรและค่าเพิ่มอากร ซึ่งจำเลยจะต้องชำระตามประมวลรัษฎากรมาตรา 138 ทวิ ฉะนั้นแล้ว เงินจำนวนนี้จึงไม่ใช่เป็นเงินค่าปรับเปรียบเทียบในทางอาญาอันจะทำให้คดีเลิกกันอย่างไรก็ดี ตามมาตรา 3 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากกรซึ่งได้แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 16) พ.ศ. 2502 มาตรา 3 บัญญัติว่า ความผิดตามประมวลรัษฎากร มาตรา 142 ซึ่งเกิดขึ้นในจังหวัดพระนครหรือจังหวัดธนบุรีผู้มีอำนาจเปรียบเทียบคดีซึ่งคุ้มผู้ต้องหามิให้ถูกฟ้องร้องทางอาญาต่อไป คือ อธิบดี ซึ่งตามมาตรา 2 แห่งประมวลรัษฎากร ย่อมหมายถึงอธิบดีกรมสรรพากรหรือผู้ทำการแทน ในคดีนี้ได้ความว่าพนักงานเจ้าหน้าที่อากรมหรสพได้มีหนังสือ ก.ค.0813/102 ลงวันที่ 18 เมษายน 2511 ให้ผู้จัดการโรงภาพยนตร์ควีนส์นำเงินดังกล่าวไปชำระ ณ กองอากรแสตมป์ กรมสรรพากร ภายใน 10 วันนับแต่วันได้รับหนังสือแม้เจ้าหน้าที่จะได้รับเงินไว้แล้วก็ตาม แต่จะถือว่าเป็นการกระทำหรือเป็นการเปรียบเทียบโดยอธิบดีกรมสรรพากรหรือผู้ทำการแทนหาได้ไม่ สรุปแล้ว คดีนี้จึงหาได้เลิกกันแล้วตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 37 ไม่ ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น

สำหรับประเด็นข้อ 2 เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติดังกล่าวมาแล้วข้างต้น การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร ต้องตามประมวลรัษฎากร มาตรา 37 ซึ่งได้แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 16) พ.ศ. 2502 มาตรา 14 ฉะนั้น ศาลจึงนำประมวลรัษฎากร มาตรา 37 และที่แก้ไขเพิ่มเติมมาเป็นบทลงโทษจำเลยได้ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นดุจเดียวกัน

พิพากษายืน ยกฎีกาจำเลยทั้งสาม

Share