คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2853/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การที่จำเลยที่ 1 ยอมให้พนักงานสอบสวนเปรียบเทียบปรับและชำระค่าปรับแล้ว มีผลเพียงทำให้คดีอาญาดังกล่าวเลิกกันตาม ป.วิ.อ. มาตรา 37 เท่านั้น การเปรียบเทียบปรับของพนักงานสอบสวนดังกล่าวไม่ใช่คำพิพากษาคดีส่วนอาญา กรณีจึงไม่ต้องด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 46 ที่คดีในส่วนแพ่งจะต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ถือเอาข้อเท็จจริงในคดีอาญาที่จำเลยที่ 1 ยอมรับต่อพนักงานสอบสวนว่า จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์โดยประมาทมาชี้ขาดตัดสินคดีนี้เป็นการไม่ชอบ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 583,488.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 542,780 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ไม่ใช่เจ้าของผู้ครอบครองรถบรรทุกสิบล้อหมายเลขทะเบียน 80-1985 ระนอง เหตุเกิดจากความประมาทของนายวรวิทย์ ชัยณรงค์ ผู้ขับรถบรรทุกสิบล้อดังกล่าว จำเลยที่ 1 ยอมรับต่อพนักงานสอบสวนว่าเป็นฝ่ายผิดเนื่องจากพนักงานสอบสวนจะยึดรถกระบะของจำเลยที่ 1 ค่าเสียหายของโจทก์เป็นค่าซ่อมไม่เกิน 30,000 บาท และใช้เวลาซ่อมไม่เกิน 10 วัน ค่าเสียหายขาดประโยชน์จากการใช้รถมีไม่เกิน 10,000 บาท ส่วนจำเลยที่ 2 รับผิดตามสัญญาประกันภัยไม่เกิน 250,000 บาท
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกัน (ที่ถูก ให้จำเลยที่ 1) ชำระเงิน 325,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2540 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิด 250,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า โจทก์เป็นเจ้าของรถบรรทุกสิบล้อหมายเลขทะเบียน 80-1985 ระนอง ตามสำเนารายการจดทะเบียน จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของรถกระบะ หมายเลขทะเบียน 2ฎ-9068 กรุงเทพมหานคร จำเลยที่ 2 เป็นผู้รับประกันภัยรถกระบะของจำเลยที่ 1 ขณะเกิดเหตุอยู่ในอายุสัญญาตามกรมธรรม์ประกันภัย ตามวันเวลาเกิดเหตุ รถทั้งสองคันเฉี่ยวชนกันที่ถนนเพชรเกษมบริเวณศาลพ่อตาหินช้าง หมู่ที่ 3 ตำบลสลุย อำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพร หลังเกิดเหตุพนักงานสอบสวนได้มาตรวจสถานที่เกิดเหตุ และบันทึกรายละเอียดไว้ในรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดี
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยว่า หลังเกิดเหตุพนักงานสอบสวนมีความเห็นว่า เหตุเกิดจากความประมาทของจำเลยที่ 1 จึงแจ้งข้อหาจำเลยที่ 1 ว่า ขับรถประมาทเป็นเหตุให้ทรัพย์สินของผู้อื่นเสียหาย จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพและยอมให้พนักงานสอบสวนเปรียบเทียบปรับ 400 บาท ในคดีอาญาข้อเท็จจริงจึงรับฟังยุติได้ว่า จำเลยที่ 1 ขับรถประมาทเป็นเหตุให้ทรัพย์สินผู้อื่นได้รับความเสียหาย ในการรับฟังพยานหลักฐานในคดีแพ่งจำต้องถือข้อเท็จจริงในคดีอาญาว่าจำเลยที่ 1 ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ทรัพย์สินของโจทก์ได้รับความเสียหายนั้นเป็นการวินิจฉัยที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า การที่จำเลยที่ 1 ยอมให้พนักงานสอบสวนเปรียบเทียบปรับและชำระค่าปรับแล้ว มีผลเพียงทำให้คดีอาญาดังกล่าวเลิกกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 37 เท่านั้น การเปรียบเทียบปรับของพนักงานสอบสวนดังกล่าวไม่ใช่คำพิพากษาคดีส่วนอาญา กรณีจึงไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 ที่คดีในส่วนแพ่งจะต้องถือข้อเท็จจริงตาม ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ถือเอาข้อเท็จจริงในคดีอาญาที่จำเลยที่ 1 ยอมรับต่อพนักงานสอบสวนว่า จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์โดยประมาทมาชี้ขาดตัดสินคดีนี้เป็นการไม่ชอบ ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ต้องวินิจฉัยชี้ขาดข้อเท็จจริงตามพยานหลักฐานในสำนวนคดีนี้ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 2 ฟังขึ้น แต่เนื่องจากคดีนี้คู่ความได้นำสืบพยานหลักฐานในประเด็นนี้ไว้ครบถ้วนแล้ว หากศาลฎีกาจะย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยปัญหานี้ใหม่ก็จะทำให้คดีต้องล่าช้าโดยใช่เหตุ เพื่อความสะดวกรวดเร็วและเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยให้เสร็จสิ้นไปเสียทีเดียว
อนึ่ง คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินแก่โจทก์ 325,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันทำละเมิด ส่วนจำเลยที่ 2 ให้ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 จำนวน 250,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันทำละเมิด ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน เมื่อจำเลยที่ 2 ฎีกาขอให้ยกฟ้อง ทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกาของจำเลยที่ 2 จึงเท่ากับ 250,000 บาท กับดอกเบี้ยของต้นเงินดังกล่าวก่อนฟ้องเท่านั้น ที่จำเลยที่ 2 ชำระค่าขึ้นศาลชั้นฎีกามาสำหรับทุนทรัพย์ 325,000 บาท จึงเกินกว่าที่จำเลยที่ 2 ต้องชำระ และที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าขึ้นศาลแทนโจทก์เท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีโดยกำหนดค่าทนายความ 7,000 บาท ทั้งที่จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 เพียง 250,000 บาท เป็นการพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชำระค่าขึ้นศาลสูงเกินส่วนไป เมื่อคำนึงถึงเหตุอันสมควรและความสุจริตในการดำเนินคดีของจำเลยที่ 2 แล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดชำระค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นแทนโจทก์เพียงเท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีจำเลยที่ 2 เท่านั้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ร่วมกันชำระค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นแทนโจทก์เท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีจำเลยที่ 2 ให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 5,000 บาท แทนโจทก์ คืนค่าขึ้นศาลในชั้นฎีกาส่วนที่ชำระไว้เกินแก่จำเลยที่ 2 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8

Share