คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3412/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์ร่วมกับจำเลยทำบันทึกกันไว้ตามรายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐานซึ่งมีข้อความว่า คู่กรณีตกลงกันแล้วต่างฝ่ายต่างไม่ติดใจเรียกร้องฟ้องกันทั้งทางแพ่งและอาญาต่อกัน โดยจำเลยได้ช่วยเหลือค่าเสียหายของกระบือที่ถูกยิงตายให้โจทก์ร่วมเป็นเงิน 7,000 บาท จะนำเงินมาจ่ายให้หมดในวันที่ 1 ตุลาคม 2544 แล้วลงชื่อโจทก์ร่วมและจำเลย เช่นนี้ จึงเป็นการทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันโดยชอบด้วยกฎหมาย เมื่อความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 358, 359 เป็นความผิดอันยอมความได้ จึงมีผลทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2) แม้ต่อมาจำเลยจะไม่ชำระค่าเสียหายตามสัญญาประนีประนอมยอมความ โจทก์ร่วมก็ไม่มีสิทธิร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่จำเลยในข้อหาทำให้เสียทรัพย์ หลังจากมีการยอมความกันโดยชอบด้วยกฎหมายแล้วอีกได้ คงมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายตามสัญญาประนีประนอมยอมความเท่านั้น ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยแม้ไม่มีฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334, 358, 359, 91 ให้จำเลยใช้ราคาทรัพย์เป็นเงิน 20,000 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณานางแดง ฉวีภักดิ์ ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาตเฉพาะข้อหาทำให้เสียทรัพย์และลักทรัพย์
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคสาม, 72 ทวิ วรรคสอง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334, 357 (ที่ถูก มาตรา 358), 359 (2) อันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมีอาวุธปืนมีทะเบียนของผู้อื่น จำคุก 1 ปี ฐานพาอาวุธปืน จำคุก 1 ปี ฐานทำให้เสียทรัพย์ต่อปศุสัตว์ จำคุก 6 เดือน ฐานลักทรัพย์ จำคุก 6 เดือน รวมจำคุก 2 ปี 12 เดือน ให้จำเลยใช้ราคาทรัพย์เป็นเงิน 20,000 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำคุกจำเลยฐานมีอาวุธปืน 6 เดือน ฐานพาอาวุธปืน 6 เดือน รวมกับโทษจำคุกฐานทำให้เสียทรัพย์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นอีก 6 เดือน ด้วยแล้ว เป็นจำคุก 1 ปี 6 เดือน ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสาม คงจำคุก 1 ปี ยกฟ้องในข้อหาลักทรัพย์และยกคำขอที่ให้จำเลยใช้ราคาทรัพย์ 20,000 บาท แก่ผู้เสียหาย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติโดยโจทก์จำเลยไม่ฎีกาโต้แย้งว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้องจำเลยได้ใช้อาวุธปืนยิงกระบือ 1 ตัวของโจทก์ร่วมตาย แล้วจำเลยนำซากกระบือไปชำแหละเนื้อขาย สำหรับข้อหามีและพาอาวุธปืนโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและข้อหาทำให้เสียทรัพย์เป็นอันยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 คดีคงมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยมีความผิดฐานลักทรัพย์หรือไม่ แม้โจทก์จะมีนายนิพนธ์ ปานทน เป็นพยานเบิกความว่า พยานขอซากกระบือกลับบ้าน แต่จำเลยไม่ยอมจะยึดซากกระบือไว้เพื่อชดใช้ค่าเสียหายที่กระบือเหยียบย่ำสวนแตงโมจำเลยเสียหายและปฏิเสธว่าไม่ได้ยกซากกระบือให้จำเลย แต่นายนิพนธ์ก็ยอมรับว่า ตนเองได้อ้างว่าเป็นเจ้าของกระบือขณะเจรจากับจำเลย ทั้งยอมรับว่ากระบือเหยียบย่ำสวนแตงโมของจำเลยเสียหายจริง ซึ่งนายช่วง แสนภักดี ผู้ใหญ่บ้านท้องที่เกิดเหตุพยานโจทก์อีกปากหนึ่งเบิกความว่า จำเลยมาแจ้งว่าทราบเจ้าของกระบือแล้วจึงพาพยานไปที่เกิดเหตุพบนายนิพนธ์ อ้างว่าเป็นเจ้าของกระบือจึงให้พูดคุยกับจำเลยโดยจำเลยเรียกค่าเสียหายที่กระบือเหยียบย่ำสวนแตงโมเสียหายเป็นเงิน 5,000 บาท นายนิพนธ์ไม่มีเงินให้และบอกว่ายกกระบือให้แก่จำเลยไป พยานทำบันทึกข้อตกลงไว้ เห็นว่า นายช่วงเป็นเจ้าพนักงานปกครองท้องที่ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียเกี่ยวข้องกับฝ่ายใดจึงเป็นพยานคนกลางที่มีน้ำหนักเชื่อถือได้ ประกอบกับตามบันทึกมีข้อความว่าทั้งสองฝ่ายประนีประนอมตกลงยินยอมไม่ติดใจดำเนินคดีทั้งแพ่งและอาญา แม้ไม่มีข้อความว่านายนิพนธ์ยอมยกซากกระบือให้จำเลย ก็เชื่อว่านายนิพนธ์ได้ตกลงยกซากกระบือให้แก่จำเลยดังที่นายช่วงเบิกความเจือสมข้อนำสืบของจำลย มิฉะนั้นจำเลยคงไม่ยินยอมเนื่องจากกระบือทำให้สวนแตงโมของจำเลยเสียหาย เช่นนี้ แม้ต่อมาข้อเท็จจริงจะได้ความว่ากระบือเป็นของโจทก์ร่วมแต่ขณะเกิดเหตุนายนิพนธ์ทำให้จำเลยเชื่อว่ากระบือเป็นของนายนิพนธ์มีสิทธิยกให้จำเลยเป็นการชดใช้ค่าเสียหาย การที่จำเลยนำซากกระบือไปชำแหละขายจึงกระทำไปโดยเข้าใจว่ามีสิทธิกระทำได้ จำเลยไม่มีเจตนาทุจริตการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายกฟ้องข้อหานี้มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง สำหรับข้อหาทำให้เสียทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358, 359 เป็นความผิดอันยอมความได้ และข้อเท็จจริงได้ความจากข้อนำสืบของโจทก์และโจทก์ร่วมว่าเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2544 โจทก์ร่วมกับจำเลยได้ตกลงเกี่ยวกับค่าเสียหายที่กระบือของโจทก์ร่วมทำให้สวนแตงโมของจำเลยเสียหายและค่าเสียหายราคากระบือที่จำเลยยิงตายโดยทำบันทึกกันไว้ตามรายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐาน ซึ่งมีข้อความว่า คู่กรณีตกลงกันแล้วต่างฝ่ายต่างไม่ติดใจเรียกร้องฟ้องกันทั้งทางแพ่งและอาญาต่อกัน โดยจำเลยได้ช่วยเหลือค่าเสียหายของกระบือที่ถูกยิงตายให้โจทก์ร่วมเป็นเงิน 7,000 บาท จะนำเงินมาจ่ายให้หมดในวันที่ 1 ตุลาคม 2544 แล้วลงชื่อโจทก์ร่วมและจำเลย เช่นนี้ จึงเป็นการทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันโดยชอบด้วยกฎหมายมีผลให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (2) แม้ต่อมาจำเลยจะไม่ชำระค่าเสียหายตามสัญญาประนีประนอมยอมความ โจทก์ร่วมก็ไม่มีสิทธิร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่จำเลยในข้อหาทำให้เสียทรัพย์ในวันที่ 29 ตุลาคม 2544 หลังจากมีการยอมความกันโดยชอบด้วยกฎหมายแล้วอีกได้ คงมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายตามสัญญาประนีประนอมยอมความเท่านั้น ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358, 359 เสียด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8

Share