คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3096/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นรับฟังข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานในสำนวนแล้ววินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำความผิดอาญาตามฟ้อง การกระทำของจำเลยตามที่โจทก์นำสืบจึงไม่มีเจตนา พิพากษายกฟ้อง การที่โจทก์อุทธรณ์ว่าข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบฟังได้ว่าข้อความที่จำเลยแจ้งเป็นความเท็จและจำเลยมีเจตนาแจ้งความเท็จ เป็นอุทธรณ์โต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้นจึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้รับอนุญาตหรือมีการรับรองให้อุทธรณ์ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 ตรี จึงต้องห้ามอุทธรณ์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 ทวิ
ส่วนอุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่า ศาลชั้นต้นมิได้วินิจฉัยว่าการที่จำเลยแจ้งข้อความว่าโจทก์เอาสมุดบันทึกของ อ. ไป เป็นการกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ เป็นการวินิจฉัยผิดจากพยานหลักฐานในสำนวนนั้น เป็นการอุทธรณ์ว่าศาลชั้นต้นวินิจฉัยพยานหลักฐานไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นปัญหาข้อกฎหมาย ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วนและเห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาใหม่ เพื่อให้การวินิจฉัยความผิดของจำเลยเป็นไปตามลำดับศาลตาม ป.วิ.อ. มาตรา 208 (2) ประกอบมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญาต่อพันตำรวจตรีวัฒนา บุญเหิน พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลท่าพระว่า เมื่อประมาณเดือนกรกฎาคม 2544 จำเลยแสดงเจตนามอบอาวุธปืนมรดกของนายอุทัย แสงสวัสดิกุล ผู้ตาย จำนวน 2 กระบอก ให้แก่สถานีตำรวจนครบาลท่าพระแต่โจทก์เอาไปเป็นประโยชน์ส่วนตัว จำเลยพยายามทวงถามหลายครั้งแล้ว โจทก์ไม่ยอมคืน นอกจากนี้ โจทก์ยังเอาสมุดบันทึกของผู้ตายไปด้วย เนื่องจากโจทก์เข้ามามีส่วนได้เสียในการแบ่งทรัพย์มรดกของผู้ตาย ซึ่งเป็นข้อสำคัญในคดี ความจริงจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของนายอุทัยหนังสือมอบอาวุธปืนรีวอลเวอร์ขนาด .22 แม็กนั่ม หมายเลขทะเบียน กท.380232 และอาวุธปืนพกออโตเมติกขนาด .380 หมายเลขทะเบียน กท.2804559 ให้แก่โจทก์ และทำหนังสือมอบอำนาจให้โจทก์โอนอาวุธปืนดังกล่าวด้วย โจทก์ไม่เคยเข้าเกี่ยวข้องกับสมุดบันทึกและไม่เคยเข้าไปมีส่วนได้เสียในการแบ่งทรัพย์มรดกของนายอุทัย ทำให้โจทก์และพันตำรวจตรีวัฒนาได้รับความเสียหาย ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 172, 173, 91
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายว่าคดีโจทก์ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 ทวิ ตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นรับฟังข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานในสำนวนแล้ววินิจฉัยว่าหนังสือมอบอาวุธปืนเอกสารหมาย จ.2 ระบุว่าประสงค์จะมอบให้ใช้ในราชการตำรวจต่อไป และโจทก์เบิกความว่า หนังสือมอบอาวุธปืนตามเอกสารหมาย จ.2 และ จ.3 ใครจะเป็นผู้พิมพ์ให้ไม่ทราบ ลายมือชื่อที่ลงในช่องพยานไม่ได้ลงต่อหน้าโจทก์ เอกสารหมาย จ.6 จ.9 ถึง จ.16 โจทก์ไม่ได้รับมอบจากจำเลยโดยตรง จำเลยเคยพูดกับโจทก์ว่าจะมอบอาวุธปืนทั้งสองกระบอกให้สถานีตำรวจนครบาลท่าพระ ซึ่งสอดคล้องกับบันทึกมอบอาวุธปืนให้สถานีตำรวจนครบาลท่าพระเอกสารหมาย ล.1 โดยเอกสารดังกล่าวทำในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2544 ก่อนวันที่ระบุในเอกสารหมาย จ.2 ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำความผิดอาญาตามฟ้อง การกระทำของจำเลยตามที่โจทก์นำสืบจึงไม่มีเจตนา พิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ว่า ข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบฟังได้ว่าข้อความที่จำเลยแจ้งเป็นความเท็จและจำเลยมีเจตนาแจ้งความเท็จ กับศาลชั้นต้นมิได้วินิจฉัยว่าการที่จำเลยแจ้งข้อความว่าโจทก์เอาสมุดบันทึกของนายอุทัย แสงสวัสดิกุลไปเป็นการกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ อันเป็นการวินิจฉัยผิดจากพยานหลักฐานในสำนวน เห็นว่า อุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่าข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบฟังได้ว่าข้อความที่จำเลยแจ้งเป็นความเท็จและจำเลยมีเจตนาแจ้งความเท็จ เป็นอุทธรณ์โต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้น จึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้รับอนุญาตหรือมีการรับรองให้อุทธรณ์ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 ตรี จึงต้องห้ามอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 ทวิ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาชอบแล้ว ส่วนอุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่า ศาลชั้นต้นมิได้วินิจฉัยว่าการที่จำเลยแจ้งข้อความว่าโจทก์เอาสมุดบันทึกของนายอุทัยไปเป็นการกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ เป็นการวินิจฉัยผิดจากพยานหลักฐานในสำนวนนั้น เป็นการอุทธรณ์ว่าศาลชั้นต้นวินิจฉัยพยานหลักฐานไม่ชอบด้วยกฎหมายเป็นปัญหาข้อกฎหมาย ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วนและเห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาใหม่ เพื่อให้การวินิจฉัยความผิดของจำเลยเป็นไปตามลำดับศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 208 (2) ประกอบมาตรา 225”
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ให้ครบถ้วนแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

Share