คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2066/2549

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ผู้ร้องยื่นคำร้องเข้ามาในชั้นบังคับคดีและอาจมีผลกระทบต่อสิทธิของคู่ความในคดีเดิมหรือการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานบังคับคดี จึงหาใช่เป็นเรื่องระหว่างผู้ร้องกับศาลไม่ การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ผู้ร้องนำส่งสำเนาอุทธรณ์ให้จำเลย โจทก์และเจ้าพนักงานบังคับคดีและผู้ร้องทราบคำสั่งของศาลชั้นต้นโดยชอบแล้ว แต่ผู้ร้องไม่นำส่งสำเนาอุทธรณ์ให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 3 จึงเป็นการเพิกเฉยไม่ดำเนินคดีภายในระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนด ศาลอุทธรณ์ชอบที่จะจำหน่ายคดีของผู้ร้องได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 174 (2) ประกอบมาตรา 246

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามชำระเงิน 2,805,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 23 กันยายน 2540 แก่โจทก์ จำเลยทั้งสามไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษา โจทก์ขอให้ศาลออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดี เพื่อยึดทรัพย์สินของจำเลยทั้งสาม ผู้ร้องยื่นคำร้องว่าผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้จำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 15106 และ 15107 ตำบลในเมือง (โพธิ์กลาง) อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา พร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 1 ซึ่งเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดไว้ จำเลยที่ 1 ไม่มีทรัพย์สินอื่นอีก ขอให้มีคำสั่งให้ผู้ร้องเข้าเฉลี่ยในทรัพย์สินหรือเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์ที่ยึด ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกฟ้อง ค่าคำร้องเป็นพับ
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า รับเป็นอุทธรณ์คำสั่งของผู้ร้อง สำเนาให้จำเลย โจทก์และเจ้าพนักงานบังคับคดีแก้ภายใน 15 วัน ให้ผู้ร้องนำส่งภายใน 5 วัน ไม่มีผู้รับโดยชอบให้ปิด หากส่งไม่ได้ให้ผู้ร้องแถลงเพื่อดำเนินการต่อไปภายใน 15 วัน นับแต่วันส่งไม่ได้ หากไม่แถลงให้ถือว่าผู้ร้องทิ้งอุทธรณ์คำสั่ง ต่อมาเจ้าหน้าที่ศาลเสนอรายงานต่อศาลชั้นต้นว่า ผู้ร้องไม่นำส่งสำเนาอุทธรณ์คำสั่งให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้รวบรวมสำนวนส่งศาลอุทธรณ์เพื่อพิจารณา
ศาลอุทธรณ์พิพากษา ให้จำหน่ายคดีจากสารบบความของศาลอุทธรณ์
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงปรากฏตามสำนวนว่า ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของผู้ร้องและให้ผู้ร้องนำส่งสำเนาอุทธรณ์ให้จำเลย โจทก์และเจ้าพนักงานบังคับคดีภายใน 5 วัน ผู้ร้องไม่นำส่งสำเนาอุทธรณ์ให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนด ศาลชั้นต้นส่งสำนวนไปยังศาลอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์จำหน่ายคดีจากสารบบความ มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่า ศาลอุทธรณ์จำหน่ายคดีของผู้ร้องจากสารบบความโดยเห็นว่าเป็นการทิ้งอุทธรณ์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ที่ผู้ร้องฎีกาว่า อุทธรณ์ของผู้ร้องเป็นเรื่องระหว่างผู้ร้องกับศาลจึงไม่ต้องส่งสำเนาอุทธรณ์ให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 3 นั้น เห็นว่าผู้ร้องยื่นคำร้องเข้ามาในชั้นบังคับคดี และอาจมีผลกระทบต่อสิทธิของคู่ความในคดีเดิมหรือการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานบังคับคดี จึงหาใช่เป็นเรื่องระหว่างผู้ร้องกับศาลไม่ การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ผู้ร้องนำส่งสำเนาอุทธรณ์ให้จำเลย โจทก์และเจ้าพนักงานบังคับคดีและผู้ร้องทราบคำสั่งของศาลชั้นต้นโดยชอบแล้ว แต่ผู้ร้องไม่นำส่งสำเนาอุทธรณ์ให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 3 จึงเป็นการเพิกเฉยไม่ดำเนินคดีภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนด ศาลอุทธรณ์ชอบที่จะจำหน่ายคดีของผู้ร้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 174 (2) ประกอบมาตรา 246 ส่วนที่ผู้ร้องอ้างว่าไม่ได้รับหมายแจ้งว่ายังส่งสำเนาให้แก่คู่ความยังไม่ครบนั้นหาใช่ข้ออ้างที่จะทำให้การกระทำของผู้ร้องไม่เป็นการเพิกเฉยไม่ดำเนินคดีภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนดดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยไม่ ที่ศาลอุทธรณ์จำหน่ายคดีจากสารบบความจึงชอบแล้ว ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น”
อนึ่ง ศาลอุทธรณ์ยังมิได้สั่งค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ ศาลฎีกา จึงสั่งให้ถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 161 และ 167
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และฎีกาให้เป็นพับ

Share