คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6087/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

เจ้าหนี้เป็นหน่วยงานราชการครอบครองต้นฉบับเอกสารอยู่แล้ว ได้นำส่งสำเนาเอกสารอันเกิดจากการรับรองความถูกต้องของเจ้าหน้าที่ภายในหน่วยงานของรัฐ จึงรับฟังเอกสารที่เจ้าหนี้ส่งเป็นพยานเอกสารได้
เจ้าหนี้ได้มีหนังสือเตือนให้ลูกหนี้ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัด ศ. นำเงินภาษีอากรไปชำระตามแบบแจ้งการประเมินจำนวน 2 ครั้ง โดยลูกหนี้ได้รับหนังสือเตือนแล้ว เป็นกรณีที่เจ้าหนี้ได้ใช้สิทธิเรียกร้องให้ลูกหนี้ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการรับผิดในหนี้ภาษีอากรของห้าง นับจากวันที่ลูกหนี้ได้รับหนังสือเตือนครั้งแรกวันที่ 11 พฤศจิกายน 2537 ถึงวันที่เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้วันที่ 24 พฤษภาคม 2543 หนี้ดังกล่าวจึงยังไม่ขาดอายุความ 10 ปีตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/31 และมูลหนี้ค่าภาษีอากรดังกล่าวเป็นมูลหนี้ค่าภาษีอากรค้างชำระที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ 13 ธันวาคม 2542 อันเป็นวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด จึงไม่ต้องห้ามมิให้ขอรับชำระหนี้ตามมาตรา 94 แห่ง พ.ร.บ.ล้มละลายฯ และเป็นหนี้ที่หุ้นส่วนผู้จัดการต้องรับผิดร่วมกับห้างหุ้นส่วนจำกัด ศ. เมื่อห้างหุ้นส่วนจำกัด ศ. ผิดนัดชำระหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1070 ประกอบมาตรา 1077 (2) โดยเจ้าหนี้ไม่จำต้องไปใช้สิทธิเรียกร้องเอากับลูกหนี้ตามมาตรา 55 แห่ง ป.วิ.พ. แต่อย่างใด กรณีไม่ต้องด้วย มาตรา 88 และ 89 แห่ง พ.ร.บ.ล้มละลายฯ เพราะเจ้าหนี้ได้ใช้สิทธิดำเนินคดีกับตัวลูกหนี้โดยตรงแล้ว
การใช้อำนาจตาม ป.รัษฎากรฯ มาตรา 12 สั่งยึดและอายัดทรัพย์สินของลูกหนี้นำออกขายทอดตลาดเพื่อหักชำระหนี้ภาษีได้นั้น เป็นกระบวนการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหนี้ และลูกหนี้มิได้โต้แย้งจำนวนหนี้ค่าภาษีอากรที่เจ้าหนี้ได้แจ้งการประเมินเรียกให้ลูกหนี้ชำระแต่อย่างใด จึงไม่ได้มีปัญหาที่ศาลจะบังคับใช้กฎหมายตามมาตรา 12 แห่ง ป.รัษฎากรฯ ที่จะต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายมาตราดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ (จำเลย) เด็ดขาดเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2542
เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ภาษีอากรเป็นเงิน 479,424 บาท จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้นัดให้บรรดาเจ้าหนี้และลูกหนี้มาตรวจคำขอรับชำระหนี้แล้ว ไม่มีผู้ใดโต้แย้งคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้รายนี้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนแล้วเห็นว่า ควรให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ในมูลหนี้ค่าภาษีอากรเป็นเงินจำนวน 479,424 บาท จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ตามมาตรา 130 (7) แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 เต็มตามขอ
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ตามความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
ลูกหนี้อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของลูกหนี้ว่า ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ตามความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ชอบหรือไม่ เห็นว่า ลูกหนี้มิได้โต้แย้งจำนวนหนี้ค่าภาษีอากรที่เจ้าหนี้ได้แจ้งการประเมินเรียกให้ลูกหนี้ชำระแต่อย่างใด คงอุทธรณ์โต้แย้งในปัญหาเกี่ยวกับเอกสารที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้พิจารณาวินิจฉัยไว้ในความเห็นแล้วว่าเจ้าหนี้เป็นหน่วยงานราชการครอบครองต้นฉบับเอกสารอยู่แล้ว ได้นำส่งสำเนาเอกสารอันเกิดจากการรับรองความถูกต้องของเจ้าหน้าที่ภายในหน่วยงานของรัฐ จึงรับฟังเอกสารที่เจ้าหนี้ส่งเป็นพยานเอกสารได้ กรณีไม่ต้องห้ามมิให้รับฟังพยานเอกสารในสำนวนดังข้อโต้แย้งของลูกหนี้ ส่วนในปัญหาเรื่องหนี้ที่เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ขาดอายุความแล้วหรือไม่ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้พิจารณาว่าเจ้าหนี้ได้แจ้งการประเมินให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดศิวานันท์ทราบก่อนแล้ว แต่ห้างหุ้นส่วนจำกัดศิวานันท์เพิกเฉยไม่ชำระหนี้ เจ้าหนี้จึงได้มีหนังสือเตือนให้ลูกหนี้ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัดศิวานันท์นำเงินภาษีอากรไปชำระตามแบบแจ้งการประเมินจำนวน 2 ครั้ง ครั้งแรกลูกหนี้เป็นผู้รับหนังสือเองเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2537 ครั้งที่สองเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2537 มีผู้รับหนังสือไว้แทน เป็นกรณีที่เจ้าหนี้ได้ใช้สิทธิเรียกร้องให้ลูกหนี้ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการรับผิดในหนี้ภาษีอากรของห้างซึ่งลูกหนี้ได้รับหนังสือเตือนให้มาชำระหนี้โดยชอบแล้วเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2537 นับถึงวันที่เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้วันที่ 24 พฤษภาคม 2543 หนี้ดังกล่าวจึงยังไม่ขาดอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/31 และมูลหนี้ค่าภาษีอากรดังกล่าวเป็นมูลหนี้ค่าภาษีอากรค้างชำระที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ 13 ธันวาคม 2542 อันเป็นวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด จึงไม่ต้องห้ามมิให้ขอรับชำระหนี้ตามมาตรา 94 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 และเป็นหนี้ที่หุ้นส่วนผู้จัดการต้องรับผิดร่วมกับห้างหุ้นส่วนจำกัดศิวานันท์เมื่อห้างหุ้นส่วนจำกัดศิวานันท์ผิดนัดชำระหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1070 ประกอบมาตรา 1077 (2) โดยเจ้าหนี้ไม่จำต้องไปใช้สิทธิเรียกร้องเอากับลูกหนี้ตามมาตรา 55 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งดังข้อโต้แย้งของลูกหนี้แต่อย่างใด กรณีดังกล่าวไม่ต้องด้วยมาตรา 88 และ 89 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ด้วยเหตุที่ว่าเจ้าหนี้ได้ใช้สิทธิดำเนินคดีกับตัวลูกหนี้โดยตรงตามมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 แล้ว ส่วนการที่เจ้าหนี้ใช้อำนาจตามประมวลรัษฎากร มาตรา 12 สั่งยึดและอายัดทรัพย์สินของลูกหนี้นำออกขายทอดตลาดเพื่อหักชำระหนี้ภาษีได้นั้น เป็นกระบวนการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหนี้ และลูกหนี้มิได้โต้แย้งจำนวนหนี้ค่าภาษีอากรที่เจ้าหนี้ได้แจ้งการประเมินเรียกให้ลูกหนี้ชำระแต่อย่างใด จึงไม่ได้มีปัญหาที่ศาลจะบังคับใช้กฎหมายตามมาตรา 12 แห่งประมวลรัษฎากรที่จะต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายมาตราดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ดังอุทธรณ์ลูกหนี้ อุทธรณ์ลูกหนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share