แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ความผิดฐานพรากผู้เยาว์ตาม ป.อ. มาตรา 319 หมายความว่า ผู้กระทำความผิดได้กระทำการอันเป็นการละเมิดต่ออำนาจปกครองของบิดามารดาหรือต่อผู้ปกครองหรือต่อผู้ดูแลของผู้เยาว์ คดีนี้บิดาของผู้เสียหายมิได้จดทะเบียนสมรสกับมารดาผู้เสียหายจึงมิใช่บิดาโดยชอบด้วยกฎหมาย แต่บิดาและมารดาของผู้เสียหายได้เลิกร้างกันมานานถึง 17 ปี โดยผู้เสียหายอยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของบิดามาตลอด บิดาของผู้เสียหายจึงเป็นผู้ปกครองผู้เสียหาย การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานพรากผู้เยาว์ไปเสียจากผู้ปกครอง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยพรากนางสาวสุขใจ อายุ 16 ปีเศษ ไปเสียจากนายดอนล่าซึ่งเป็นบิดาเพื่อการอนาจาร โดยจำเลยกระทำชำเรานางสาวสุขใจโดยนางสาวสุขใจเต็มใจไปด้วย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 319
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 319 วรรคแรก จำคุก 4 ปี จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นจับกุม เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 ปี 8 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานพรากผู้เยาว์ไปเสียจากบิดาหรือไม่ ซึ่งจำเลยฎีกาว่านายดอนล่าบิดาของผู้เสียหายมิได้จดทะเบียนสมรสกับมารดาของผู้เสียหาย การกระทำจึงไม่ครบองค์ประกอบความผิดฐานพรากผู้เยาว์ตามฟ้องโจทก์ เห็นว่า ความผิดฐานพรากผู้เยาว์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 319 นั้น บัญญัติว่า ผู้ใดพรากผู้เยาว์อายุกว่า 15 ปี แต่ยังไม่เกิน 18 ปี ไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลเพื่อหากำไรหรือเพื่อการอนาจารโดยผู้เยาว์เต็มใจไปด้วย… หมายความว่า ผู้กระทำความผิดดังกล่าวได้กระทำการอันเป็นการละเมิดต่ออำนาจปกครองของบิดามารดาหรือต่อผู้ปกครองหรือต่อผู้ดูแลของผู้เยาว์แล้วแต่กรณี คดีนี้แม้บิดาของผู้เสียหายมิได้จดทะเบียนสมรสกับมารดาของผู้เสียหายจึงมิใช่บิดาโดยชอบด้วยกฎหมายก็ตาม แต่ได้ความว่าบิดาและมารดาของผู้เสียหายได้เลิกร้างกันมานานถึง 17 ปี โดยผู้เสียหายอยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของบิดามาตลอด ดังนี้บิดาของผู้เสียหายเป็นผู้ปกครองผู้เสียหาย การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานพรากผู้เยาว์ไปเสียจากผู้ปกครอง จึงเป็นความผิดตามฟ้อง”
พิพากษายืน