คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1259/2549

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การวินิจฉัยว่าการเลิกจ้างเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 49 หรือไม่นั้น จะต้องพิจารณาว่ามีเหตุแห่งการเลิกจ้างหรือไม่ และเหตุดังกล่าวเพียงพอแก่การเลิกจ้างหรือไม่เป็นสำคัญ คดีนี้จำเลยอ้างเหตุแห่งการเลิกจ้างว่าเป็นเพราะคำสั่งซื้อสินค้าลดลง เพื่อพยุงฐานะของจำเลยจึงจำต้องเลิกจ้างพนักงานเพื่อลดค่าใช้จ่ายเท่านั้น ซึ่งไม่ปรากฏว่างานของจำเลยได้ลดน้อยลงมากหรือประสบกับการขาดทุนจนถึงขนาดต้องลดรายจ่ายโดยลดจำนวนพนักงานลง และยุบงานบางแผนกเพื่อพยุงฐานะของจำเลยให้อยู่รอด แม้การเลิกจ้างของจำเลยได้กระทำตามขั้นตอนโดยมีคณะกรรมการพิจารณา มิได้เลือกปฏิบัติหรือกลั่นแกล้งโจทก์ทั้งหกและปีต่อมายังคงมีกำไรสุทธิโดยเฉลี่ยปีละประมาณ 1,500 ล้านบาท และการที่ภาวะเศรษฐกิจโดยทั่วไปในขณะนั้นไม่ดีนักก็ไม่ปรากฏชัดแจ้งว่า แนวโน้มในการดำเนินธุรกิจของจำเลยในปีต่อๆไปจะต้องประสบภาวะวิกฤตจนถึงขั้นไม่อาจดำเนินกิจการต่อไปได้หากไม่แก้ไขจัดการโดยวิธียุบหน่วยงานบางแผนกและเลิกจ้างโจทก์ทั้งหกเสียแต่ต้น การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งหกโดยอ้างเหตุแห่งการเลิกจ้างดังกล่าว จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
(คำสั่งศาลฎีกา)

ย่อยาว

คดีทั้งสี่สำนวนนี้ศาลแรงงานกลางสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกันโดยให้เรียกโจทก์ในสำนวนคดีหมายเลขดำที่ ส.ค. 193/2547 และ ส.ค. 194/2547 ว่า โจทก์ที่ 1 และที่ 2 เรียกโจทก์ในสำนวนคดีหมายเลขดำที่ ส.ค. 221/2547 ว่า โจทก์ที่ 3 และเรียกโจทก์ในสำนวนคดีหมายเลขดำที่ ส.ค. 227/2547 ว่า โจทก์ที่ 4 ถึงที่ 6 ตามลำดับ
โจทก์ทั้งหกฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระค่าเสียหายอันเกิดจากการเลิกจ้างอันไม่เป็นธรรม
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาโจทก์ทั้งหกขอสละประเด็นที่ว่า การเลิกจ้างไม่ชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากผู้เลิกจ้างไม่ใช่กรรมการผู้มีอำนาจ
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชำระค่าเสียหายอันเกิดจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 110,000 บาท แก่โจทก์ที่ 2 จำนวน 100,000 บาท แก่โจทก์ที่ 3 จำนวน 370,000 บาท แก่โจทก์ที่ 4 จำนวน 250,000 บาท แก่โจทก์ที่ 5 จำนวน 335,000 บาท แก่โจทก์ที่ 6 จำนวน 50,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์ทั้งหกและจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางฟังมาจากคำแถลงรับข้อเท็จจริงของโจทก์ทั้งหกและจำเลยได้ความว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งหกมีสาเหตุเนื่องมาจากคำสั่งซื้อสินค้าลดลง เพื่อพยุงฐานะของจำเลยจึงจำต้องเลิกจ้างพนักงานเพื่อลดค่าใช้จ่าย การคัดเลือกพนักงานที่จะถูกเลิกจ้างกระทำโดยคณะกรรมการคัดเลือกซึ่งคัดพนักงานที่มีระยะเวลาการทำงานนานและเงินเดือนสูงเพื่อทำการเลิกจ้าง ได้มีการเลิกจ้างพนักงานทั้งหมด 3 ครั้ง รวมพนักงานที่ถูกเลิกจ้างประมาณ 100 คน มีการจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยให้แก่โจทก์ทั้งหกครบถ้วนแล้ว ขณะเลิกจ้างโจทก์ที่ 1 เป็นโฟร์แมนในฝ่ายคิวซี โจทก์ที่ 2 เป็นโฟร์แมนในฝ่ายผลิต โจทก์ที่ 3 เป็นผู้จัดการในฝ่ายผลิต โจทก์ที่ 4 ประจำอยู่ฝ่ายฝึกอบรม โจทก์ที่ 5 เป็นรองผู้จัดการแผนกในฝ่ายผลิต โจทก์ที่ 6 เป็นแผนกโฟร์แมนในฝ่ายผลิต ผลประกอบการของจำเลยในปี 2543 มีกำไรสุทธิ 1,174,893,166 บาท ปี 2544 มีกำไรสุทธิ 1,614,330,630 บาท ปี 2545 มีกำไรสุทธิ 1,596,903,117 บาท ปี 2546 มีกำไรสุทธิ 1,484,772,316 บาท คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยก่อนว่าการที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งหกเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ เห็นว่าการวินิจฉัยว่าการเลิกจ้างเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 หรือไม่นั้น จะต้องพิจารณาว่ามีเหตุแห่งการเลิกจ้างหรือไม่ และเหตุดังกล่าวเพียงพอแก่การเลิกจ้างหรือไม่เป็นสำคัญ คดีนี้จำเลยอ้างเหตุแห่งการเลิกจ้างว่า เป็นเพราะคำสั่งซื้อสินค้าลดลง เพื่อพยุงฐานะของจำเลยจึงจำต้องเลิกจ้างพนักงานเพื่อลดค่าใช้จ่ายเท่านั้น ซึ่งข้อเท็จจริงก็ไม่ปรากฏว่างานของจำเลยได้ลดน้อยลงมากหรือประสบกับการขาดทุนจนถึงขนาดต้องลดรายจ่ายโดยลดจำนวนพนักงานลง และยุบงานบางแผนกเพื่อพยุงฐานะของจำเลยให้อยู่รอด แม้การเลิกจ้างของจำเลยได้กระทำตามขั้นตอนโดยมีคณะกรรมการพิจาณา มิได้เลือกปฏิบัติหรือกลั่นแกล้งโจทก์ทั้งหกก็ตาม แต่การประกอบกิจการของจำเลยในปีที่มีการเลิกจ้างโจทก์ทั้งหกและปีต่อมายังคงมีกำไรสุทธิโดยเฉลี่ยปีละประมาณ 1,500 ล้านบาท และการที่ภาวะเศรษฐกิจโดยทั่วไปในขณะนั้นไม่ดีนัก ข้อเท็จจริงก็ไม่ปรากฏอย่างชัดแจ้งว่า แนวโน้มในการดำเนินธุรกิจของจำเลยในปีต่อๆ ไปจะต้องประสบภาวะวิกฤตจนถึงขั้นไม่อาจดำเนินกิจการต่อไปได้หากไม่แก้ไขจัดการโดยวิธียุบหน่วยงานบางแผนกและเลิกจ้างโจทก์ทั้งหกเสียแต่ต้นดังที่จำเลยอุทธรณ์ ที่ศาลแรงงานกลางนำเฉพาะผลกำไรจากการดำเนินกิจการของจำเลยแต่เพียงประการเดียวมาวินิจฉัยถึงเหตุแห่งการเลิกจ้างว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมก็ไม่ทำให้ผลแห่งคำวินิจฉัยเปลี่ยนแปลงไปศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งหกว่า ศาลแรงงานกลางกำหนดค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งหกโดยคำนวณตามระยะเวลาการทำงานของโจทก์ทั้งหกเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะต้องถืออายุของโจทก์ทั้งหกและมูลเหตุแห่งการเลิกจ้างเป็นเกณฑ์ในการกำหนดค่าเสียหายนั้น เห็นว่า อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้เป็นการอุทธรณ์ดุลพินิจในการกำหนดค่าเสียหายของศาลแรงงานกลางถือเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ส่วนที่โจทก์ทั้งหกอุทธรณ์ว่า การบอกเลิกจ้างเป็นโมฆะไม่สมบูรณ์ตามกฎหมายนั้น เห็นว่า โจทก์ทั้งหกได้สละข้อต่อสู้ในประเด็นนี้แล้ว จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงานกลาง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายืน

Share