คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5246/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การกระทำอันเป็นความผิดฐานใช้หรืออ้างเอกสารปลอมตาม ป.อ. มาตรา 268 วรรคแรก นั้น ต้องเป็นการใช้หรืออ้างเอกสารอันเกิดจากการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 264, 265, 266 หรือ 267 โจทก์บรรยายฟ้องความว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ใบกำกับภาษีมูลค่าเพิ่มที่ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าบุคคลใดเป็นผู้ออกใบกำกับภาษีมูลค่าเพิ่มที่ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าบุคคลใดเป็นผู้ออกใบกำกับภาษีซื้ออันเป็นเอกสารปลอมไปใช้ในการเครดิตภาษีซึ่งหมายความว่าใบกำกับภาษีซื้อที่โจทก์อ้างว่าเป็นเอกสารปลอมนั้นเป็นใบกำกับภาษีมูลค่าเพิ่มที่ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าบุคคลใดเป็นผู้ออก อันเป็นองค์ประกอบของความผิดตาม ป.รัษฎากร มาตรา 90/4 (7) เท่านั้น คำฟ้องโจทก์ไม่มีข้อความใดที่แสดงว่าเอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารที่ทำปลอมขึ้นทั้งฉบับหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใด หรือมีการกระทำอื่นใดต่อเอกสารให้ผิดไปจากเดิมอันเป็นองค์ประกอบของความผิดเกี่ยวกับเอกสารตาม ป.อ. มาตรา 264, 265, 266 หรือ 267 แต่อย่างใด คำฟ้องโจทก์จึงไม่สมบูรณ์เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 268 วรรคแรก แม้โจทก์จะมีคำขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตาม ป.อ. มาตรา 268 วรรคแรก, 83 และจำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ การกระทำของจำเลยทั้งสองก็ไม่เป็นความผิดฐานใช้หรืออ้างเอกสารปลอมตามบทบัญญัติดังกล่าว กรณีเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยทั้งสองไม่ได้ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขโดยปรับบทกฎหมายให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจทำการแทน เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2540 เวลากลางวัน จำเลยที่ 1 ซึ่งได้จดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการภาษีมูลค่าเพิ่มต่อกรมสรรพากรมีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มและเสียภาษีมูลค่าเพิ่มทุกเดือนภาษีโดยคำนวณจากภาษีขายหักด้วยภาษีซื้อในแต่ละเดือนภาษี และจำเลยที่ 2 ร่วมกันอ้างใช้ใบกำกับภาษีมูลค่าเพิ่มที่ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าบุคคลใดเป็นผู้ออกใบกำกับภาษีซื้ออันเป็นเอกสารปลอมจำนวน 20 ฉบับ รวมเป็นค่าซื้อสินค้าจำนวน 2,511,760 บาท ค่าภาษีมูลค่าเพิ่มจำนวน 175,823.20 บาท มาใช้ในการเครดิตภาษีมูลค่าเพิ่มของเดือนเมษายน 2540 ในแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ. 30) ประจำเดือนเมษายน 2540 ที่ยื่นต่อสำนักงานสรรพากรอำเภอแปลงยาวทำให้ค่าภาษีมูลค่าเพิ่มที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระขาดไปเป็นจำนวน 276,194.23 บาท ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268, 83 ประมวลรัษฎากร มาตรา 89 (7) วรรคสอง, 90/4 (7), 90/5
จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลรัษฎากร มาตรา 90/4 (7), 90/5 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 83 เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลรัษฎากร มาตรา 90/4 (7) ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 80,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 1 ปี 6 เดือน จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คนละกึ่งหนึ่ง คงปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 40,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 9 เดือน จำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลรัษฎากร มาตรา 90/4 (7) นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “การกระทำอันเป็นความผิดฐานใช้หรืออ้างเอกสารปลอมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคแรก นั้น ต้องเป็นการใช้หรืออ้างเอกสารอันเกิดจากการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264, 265, 266 หรือ 267 โจทก์บรรยายฟ้องความว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ใบกำกับภาษีมูลค่าเพิ่มที่ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าบุคคลใดเป็นผู้ออกใบกำกับภาษีซื้ออันเป็นเอกสารปลอมไปใช้ในการเครดิตภาษีซึ่งหมายความว่าใบกำกับภาษีซื้อที่โจทก์อ้างว่าเป็นเอกสารปลอมนั้นเป็นใบกำกับภาษีมูลค่าเพิ่มที่ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าบุคคลใดเป็นผู้ออก อันเป็นองค์ประกอบของความผิดตามประมวลรัษฎากร มาตรา 90/4 (7) เท่านั้น คำฟ้องโจทก์ไม่มีข้อความใดที่แสดงว่าเอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารที่ทำปลอมขึ้นทั้งฉบับหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใด หรือมีการกระทำอื่นใดต่อเอกสารให้ผิดไปจากเดิมอันเป็นองค์ประกอบของความผิดเกี่ยวกับเอกสารตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264, 265, 266 หรือ 267 แต่อย่างใด คำฟ้องโจทก์จึงไม่สมบูรณ์เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคแรก แม้โจทก์จะมีคำขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคแรก, 83 และจำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ การกระทำของจำเลยทั้งสองก็ไม่เป็นความผิดฐานใช้หรืออ้างเอกสารปลอมตามบทกฎหมายดังกล่าว กรณีเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยทั้งสองไม่ได้ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขโดยปรับบทกฎหมายให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลรัษฎากร มาตรา 90/4 (7) ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ลงโทษจำเลยที่ 1 ปรับ 30,000 บาท จำเลยที่ 2 จำคุก 8 เดือน และปรับ 30,000 บาท ลดโทษให้คนละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 จำเลยที่ 1 คงปรับ 15,000 บาท จำเลยที่ 2 คงจำคุก 4 เดือน และปรับ 15,000 บาท โทษจำคุกของจำเลยที่ 2 ให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30

Share