คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1578/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

คดีเดิมเป็นคดีฟ้องขับไล่จำเลยออกจากอสังหาริมทรัพย์อันมีค่าเช่าในขณะยื่นฟ้องไม่เกินเดือนละหนึ่งหมื่นบาท อันเป็นคดีต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคสอง ส่วนคดีนี้เป็นคดีเกี่ยวกับการบังคับบริวารของจำเลย และเมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จึงต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตามมาตรา 248 วรรคสาม
ศาลอุทธรณ์รับฟังข้อเท็จจริงว่า ผู้ร้องไม่ได้ครอบครองที่ดินพิพาทเพื่อตน ผู้ร้องอยู่ในที่ดินพิพาทในฐานะบริวารของจำเลย ผู้ร้องฎีกาว่าผู้ร้องมีสิทธิพิเศษเหนือที่ดินพิพาทเพราะผู้ร้องคัดค้านการรังวัดออกโฉนดที่ดินพิพาท เป็นการเปลี่ยนเจตนายึดถือที่ดินมาเป็นของผู้ร้อง ผู้ร้องแย่งการครอบครองเกิน 1 ปีแล้ว จึงเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ ฎีกาของผู้ร้องจึงเป็นฎีกาในข้อเท็จจริงต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว
ศาลพิพากษาขับไล่จำเลยกับบริวาร ผู้ร้องจะยื่นคำร้องว่าโจทก์ใช้สิทธิฟ้องคดีโดยไม่สุจริตและไม่ชอบด้วยกฎหมายหาได้ไม่ เพราะมีปัญหาเกี่ยวกับผู้ร้องในชั้นบังคับคดีเพียงว่า ผู้ร้องเป็นบริวารของจำเลยหรือไม่เท่านั้น

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและขนย้ายทรัพย์สินกับบริวารออกไปจากที่ดินพิพาท ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ไร่ละ 500 บาทต่อเดือนนับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยกับบริวารจะออกไปจากที่ดิน คดีถึงที่สุดจำเลยไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา โจทก์จึงขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีนำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปดำเนินการบังคับคดี
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปขับไล่จำเลยและบริวารให้ออกจากบ้านเลขที่ 110/2 หมู่ที่ 3 ตำบลดอนกระเบื้อง อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ซึ่งเป็นของผู้ร้อง โดยเมื่อประมาณปี 2526 ผู้ร้องเช่าที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ตามฟ้องบางส่วนเนื้อที่ประมาณ 8 ไร่ จากโจทก์เพื่อทำไร่และเลี้ยงสัตว์แล้วผู้ร้องปลูกสร้างบ้านดังกล่าวบนที่ดินที่เช่า ต่อมาปี 2538 ผู้ร้องเปลี่ยนลักษณะการยึดถือที่เช่ามาเป็นการยึดถือเพื่อตนโดยไม่ชำระค่าเช่าแก่โจทก์และเมื่อปี 2539 เจ้าพนักงานที่ดินไปรังวัดเพื่อออกโฉนดที่ดินบริเวณดังกล่าว ผู้ร้องได้คัดค้านอันเป็นการยืนยันเปลี่ยนแปลงเจตนาการยึดถือที่ดิน นับถึงวันยื่นคำร้องนี้เป็นเวลาเกินกว่า 1 ปีแล้ว ผู้ร้องไม่ใช่บริวารของจำเลย ขอให้ศาลมีคำสั่งงดการบังคับคดีแก่ผู้ร้อง
โจทก์ยื่นคำคัดค้านว่า จำเลยเช่าที่ดินตามฟ้องจำนวน 8 ไร่ จากโจทก์ เพื่อทำเกษตรกรรมเมื่อปี 2524 ผู้ร้องไม่เคยมีความสัมพันธ์กับโจทก์ หากผู้ร้องอยู่อาศัยบนที่ดินพิพาทก็เป็นการอยู่โดยอาศัยสิทธิของจำเลย ผู้ร้องเป็นบริวารจำเลยขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องแล้วมีคำสั่งยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่ผู้ร้องฎีกาว่า หนังสือมอบอำนาจช่วงให้ฟ้องคดีติดอากรแสตมป์ไม่บริบูรณ์ โจทก์ใช้สิทธิฟ้องคดีโดยไม่สุจริตและไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น ฎีกาของผู้ร้องดังกล่าวเป็นปัญหาข้อพิพาทระหว่างโจทก์จำเลย เมื่อศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกจากที่ดินพิพาทแล้วถือว่าปัญหาดังกล่าวเป็นอันยุติ คงมีปัญหาเกี่ยวกับผู้ร้องในชั้นบังคับคดีตามคำพิพากษาเพียงว่า ผู้ร้องเป็นบริวารของจำเลยหรือไม่เท่านั้น ศาลฎีกาจึงไม่วินิจฉัยฎีกาของผู้ร้องดังกล่าว ที่ผู้ร้องฎีกาต่อไปว่าผู้ร้องได้รับโอนสิทธิการเช่าที่ดินพิพาทมาจากจำเลยโดยชอบนั้นตามคำร้องของผู้ร้องคงกล่าวอ้างแต่เพียงว่า ผู้ร้องเช่าที่ดินพิพาทจากโจทก์ จำเลยกับผู้ร้องไม่เกี่ยวข้องกัน ปัญหาที่ผู้ร้องฎีกาจึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 7 ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ปัญหาสุดท้ายตามฎีกาของผู้ร้องว่า ผู้ร้องมีสิทธิครอบครองเหนือที่ดินพิพาทหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้เป็นคดีเกี่ยวกับการบังคับบริวารของจำเลยผู้ถูกฟ้องขับไล่ ซึ่งคดีเดิมเป็นคดีฟ้องขับไล่จำเลยออกจากอสังหาริมทรัพย์อันมีค่าเช่าในขณะยื่นฟ้องไม่เกินเดือนละหนึ่งหมื่นบาท อันเป็นคดีต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคสอง และคดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ดังนั้น คดีนี้จึงต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตามมาตรา 248 วรรคสาม แห่งกฎหมายดังกล่าว ศาลอุทธรณ์ภาค 7 รับฟังข้อเท็จจริงว่า ผู้ร้องไม่ได้ครอบครองที่ดินพิพาทเพื่อตน ผู้ร้องอยู่ในที่ดินพิพาทในฐานะบริวารของจำเลย ที่ผู้ร้องฎีกาในปัญหานี้ว่าผู้ร้องมีสิทธิพิเศษเหนือที่ดินพิพาทเพราะผู้ร้องคัดค้านการรังวัดออกโฉนดที่ดินพิพาทเมื่อปี 2538 เป็นการเปลี่ยนเจตนายึดถือที่ดินมาเป็นของผู้ร้องซึ่งโจทก์ทราบแล้ว ผู้ร้องแย่งการครอบครองเกิน 1 ปีแล้วจึงเป็นการโตแย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 7 ฎีกาของผู้ร้องจึงเป็นฎีกาในข้อเท็จจริงต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายกฎีกาของผู้ร้อง

Share