คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4517/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่ 2 และที่ 4 ซึ่งเป็นสามีภริยากันนำสิบตำรวจโท อ. เจ้าพนักงานตำรวจที่ทำการล่อซื้อ เดินทางไปติดต่อซื้อเมทแอมเฟตามีนของกลางจากจำเลยที่ 1 ที่บ้านจำเลยที่ 1 ด้วยกัน จำเลยที่ 1 นำเมทแอมเฟตามีนของกลางที่ซุกซ่อนอยู่ในรถยนต์กระบะออกมาให้สิบตำรวจโท อ. ดู แล้วจำเลยที่ 2 ขอยืมรถยนต์กระบะของจำเลยที่ 1 ขับพาจำเลยที่ 4 และสิบตำรวจโท อ. ไปตลาดนิคมเพื่อรับเงินที่ซื้อเมทแอมเฟตามีนของกลางด้วยกัน การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 4 เป็นการกระทำความผิดร่วมกับจำเลยที่ 2 แล้ว แต่เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างประจำ ตำแหน่งนักการภารโรงสถานีตำรวจภูธร อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี จำเลยที่ 1 จึงมิใช่พนักงานองค์การและหน่วยงานของรัฐตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 100 จึงไม่อาจปรับบทมาตราดังกล่าวสำหรับจำเลยที่ 1 ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 100, 102 พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 3, 10 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 72 พระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ.2498 มาตรา 4, 6, 22, 23 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 83, 91 ริบยาเสพติดให้โทษ อาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนและวิทยุคมนาคมของกลาง
จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ให้การปฏิเสธ
จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสี่มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 66 วรรคสอง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 จำเลยที่ 1 เป็นพนักงานในหน่วยงานของรัฐจึงต้องรับโทษหนักขึ้นตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100 และพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 10 นอกจากนี้การกระทำของจำเลยที่ 1 ยังเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 72 วรรคสองและวรรคสาม (ที่ถูกมาตรา 72 วรรคสาม) พระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ.2498 มาตรา 6 วรรคหนึ่ง (ที่ถูกประกอบมาตรา 23) สำหรับข้อหาความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดของจำเลยทั้งสี่เป็นการกระทำที่เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท เฉพาะจำเลยที่ 1 ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 66 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 100 ให้ลงโทษประหารชีวิตข้อหาความผิดเกี่ยวกับอาวุธปืนให้ลงโทษจำคุก 9 เดือน และข้อหาความผิดตามพระราชบัญญัติวิทยุคมนาคมจำคุก 3 เดือน จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ลงโทษจำคุกตลอดชีวิต คำรับสารภาพชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา เห็นควรลดโทษให้คนละหนึ่งในสาม เฉพาะจำเลยที่ 1 ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษคงจำคุกตลอดชีวิต ส่วนข้อหาความผิดเกี่ยวกับอาวุธปืน จำคุก 6 เดือน ข้อหาความผิดตามพระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม จำคุก 2 เดือน เมื่อรวมโทษทุกกระทงความผิดของจำเลยที่ 1 แล้ว คงลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ตลอดชีวิตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (3) สำหรับจำเลยที่ 3 และที่ 4 คงจำคุกคนละ 32 ปี 8 เดือน ส่วนจำเลยที่ 2 รับสารภาพในชั้นสอบสวนและพิจารณา เห็นควรลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 25 ปี ริบยาเสพติดและวิทยุคมนาคมของกลาง
จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยทั้งสี่ได้พร้อมยึดเมทแอมเฟตามีน 8,004 เม็ด อาวุธปืน 1 กระบอก ซองกระสุน 1 อัน กระสุนปืน 12 นัด วิทยุคมนาคม 1 เครื่อง พร้อมแท่นชาร์จและเงินสดจำนวน 6,000 บาท เป็นของกลาง จำเลยที่ 1 มีความผิดฐานมีอาวุธปืนของกลางไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต และมีเครื่องรับส่งวิทยุคมนาคมของกลางไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำเลยที่ 2 มีความผิดฐานมียาเสพติดให้โทษของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่าย มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 2 ในความผิดฐานมียาเสพติดให้โทษของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายหรือไม่ สำหรับในส่วนของจำเลยที่ 1 และที่ 4 นั้น ทางนำสืบโจทก์ได้ความจากพันตำรวจโทวิวัฒน์ ลีลาเขตและสิบตำรวจโทอนิรุจ กาญจนพิมาย ผู้ร่วมวางแผนล่อซื้อและจับกุมว่า ในวันเกิดเหตุสิบตำรวจโทอนิรุจเป็นผู้ขับรถยนต์ยี่ห้ออีซูซุของตนไปรับจำเลยที่ 2 และที่ 4 จากอำเภอปากช่องไปบ้านจำเลยที่ 1 ที่จังหวัดสระบุรี ไปถึงแล้วจำเลยที่ 1 ได้นำเมทแอมเฟตามีนของกลางจากภายในรถยนต์กระบะยี่ห้อมิตซูบิชิของจำเลยที่ 1 ที่บรรจุอยู่ในถุงพลาสติกมาให้สิบตำรวจโทอนิรุจดูภายในรถยนต์ยี่ห้ออีซูซุของสิบตำรวจโทอนิรุจ แต่จากคำเบิกความของจำเลยที่ 2 ยืนยันว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้ติดต่อซื้อขายยาเสพติดให้โทษให้แก่เจ้าพนักงานตำรวจเพียงผู้เดียวและยาเสพติดให้โทษของกลางนั้นอยู่ในรถยนต์ยี่ห้ออีซูซุ แล้วในขณะเดินทางไปบ้านจำเลยที่ 1 ที่จังหวัดสระบุรี มิได้เป็นของจำเลยที่ 1 นำมาจากรถยนต์กระบะยี่ห้อมิตซูบิชิของจำเลยที่ 1 เห็นว่า ถ้าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ส่งมอบยาเสพติดให้โทษของกลางให้และยาเสพติดให้โทษของกลางอยู่ในรถยนต์ยี่ห้ออีซูซุแล้ว เหตุใดจึงต้องพากันไปที่บ้านจำเลยที่ 1 ที่จังหวัดสระบุรีอีก ซึ่งไม่มีเหตุผลให้รับฟังได้อย่างใด ข้อเท็จจริงเชื่อได้ตามทางนำสืบของโจทก์ว่า จำเลยที่ 2 และที่ 4 ได้ร่วมกันติดต่อขายยาเสพติดให้โทษให้แก่เจ้าพนักงานตำรวจ และได้ร่วมกันพาเจ้าพนักงานตำรวจที่ทำการล่อซื้อเดินทางไปรับมอบยาเสพติดให้โทษของกลางจากจำเลยที่ 1 และเมื่อไปถึงบ้านจำเลยที่ 1 นั้น จำเลยที่ 1 ได้นำยาเสพติดให้โทษของกลางจากภายในรถยนต์กระบะยี่ห้อมิตซูบิชิออกมาให้ดูและดูกันภายในรถยนต์ ยี่ห้ออีซูซุ ทั้งการที่จำเลยที่ 2 ต้องขอยืมรถยนต์กระบะยี่ห้อมิตซูบิชิของจำเลยที่ 1 ไปตลาดนิคมอีกครั้งก็เพื่อรับเงินสดที่ใช้ล่อซื้อของกลาง เพราะหลงเชื่อตามที่เจ้าพนักงานตำรวจบอกว่าไม่สามารถโอนเงินเข้าบัญชีให้ตามที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ต้องการได้ทันเวลาแล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยที่ 2 และที่ 4 ซึ่งเป็นสามีภริยากันนำสิบตำรวจโทอนิรุจเดินทางไปติดต่อซื้อเมทแอมเฟตามีนของกลางจากจำเลยที่ 1 ที่บ้านจำเลยที่ 1 ด้วยกัน และจำเลยที่ 1 ได้นำเมทแอมเฟตามีนของกลางที่ซุกซ่อนอยู่ในรถยนต์กระบะยี่ห้อมิตซูบิชิออกมาให้สิบตำรวจโทอนิรุจดูแล้วจำเลยที่ 2 และที่ 4 พร้อมสิบตำรวจโทอนิรุจใช้รถยนต์กระบะยี่ห้อมิตซูบิชิขับรถไปตลาดนิคมเพื่อรับเงินที่ซื้อเมทแอมเฟตามีนของกลางด้วยกัน การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 4 เป็นการกระทำความผิดร่วมกับจำเลยที่ 2 แล้ว แต่อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างประจำ ตำแหน่งนักการภารโรงสถานีตำรวจภูธรอำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี จำเลยที่ 1 จึงมิใช่พนักงานองค์การและหน่วยงานของรัฐตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100 จึงไม่อาจปรับบทมาตราดังกล่าวสำหรับจำเลยที่ 1 ได้ ปัญหาดังกล่าวนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยที่ 1 จะมิได้ฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้
ส่วนจำเลยที่ 3 ทางนำสืบโจทก์ พยานโจทก์ พันตำรวจโทวิวัฒน์และสิบตำรวจโทอนิรุจผู้ร่วมวางแผนล่อซื้อและจับกุมทั้งสองเบิกความยืนยันสอดคล้องกันว่า ได้มีการติดต่อซื้อเมทแอมเฟตามีนในครั้งแรกที่ร้านอาหารมวกเหล็กสเต็กเฮ้าส์หลังจากจำเลยที่ 2 และที่ 4 ขอดูเงินที่ล่อซื้อแล้ว จำเลยที่ 2 และที่ 4 ตกลงขายเมทแอมเฟตามีนให้โดยบอกว่าเมทแอมเฟตามีนอยู่กับจำเลยที่ 1 และที่ 3 ซึ่งอยู่ที่อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี พันตำรวจโทวิวัฒน์และจำเลยที่ 2 ได้นั่งรอที่ร้านอาหารส่วนสิบตำรวจโทอนิรุจและจำเลยที่ 4 ขับรถยนต์ไปที่บ้านจำเลยที่ 1 ไปถึงแล้วสิบตำรวจโทอนิรุจยืนยันว่าเห็นจำเลยที่ 1 และที่ 3 อยู่ภายในบ้าน แต่ขณะนั้นจำเลยที่ 1 ยังหาเมทแอมเฟตามีนให้ไม่ได้ และได้นัดแนะติดต่อซื้อขายกันอีกครั้ง จำเลยที่ 3 ไม่ได้นำสืบต่อสู้หักล้างประการใด คงเบิกความแต่เพียงว่าจำเลยที่ 3 จะไปบ้านจำเลยที่ 1 นานๆ ครั้งเท่านั้น โดยไม่ได้ยืนยันว่าจำเลยที่ 3 ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการติดต่อซื้อขายเมทแอมเฟตามีนในครั้งแรกอย่างใดดังที่โต้แย้งมาในฎีกา พยานหลักฐานโจทก์จึงมีน้ำหนักรับฟังได้ สำหรับการติดต่อซื้อขายเมทแอมเฟตามีนในครั้งที่สองในวันเกิดเหตุได้ความว่า จำเลยที่ 3 อยู่ในบ้านจำเลยที่ 1 ที่เกิดเหตุด้วย โดยสิบตำรวจโทอนิรุจเบิกความว่า หลังจากดูเมทแอมเฟตามีนแล้ว จะให้นำไปส่งพันตำรวจโทวิวัฒน์ที่อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา แต่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ไม่ตกลงอ้างว่าจะต้องมีการจ่ายเงินก่อน จึงได้มีการนำรถยนต์กระบะยี่ห้อมิตซูบิชิของจำเลยที่ 1 ขับออกไปที่ตลาดนิคมเพื่อรับเงินดังที่ได้ความมาข้างต้นแล้ว เมื่อพิจารณาประกอบพฤติการณ์ในการติดต่อล่อซื้อครั้งแรกที่จำเลยที่ 2 มิได้เป็นผู้นำสิบตำรวจโทอนิรุจไปบ้านจำเลยที่ 1 แต่กลับเป็นจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นหญิงที่ได้ความว่าเป็นพี่สาวของจำเลยที่ 3 เป็นผู้นำสิบตรวจโทอนิรุจซึ่งเป็นชายที่ไม่รู้จักกันมาก่อนไป และไปถึงแล้วได้พบกับจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นน้องสาว แสดงว่าได้มีการติดต่อนัดแนะกันไว้แล้ว ในวันเกิดเหตุที่มีการจับกุมก็พบจำเลยที่ 3 ในบ้านจำเลยที่ 1 อีก ที่จำเลยที่ 3 นำสืบว่าไปที่บ้านเกิดเหตุเพื่อให้จำเลยที่ 1 ไกล่เกลี่ยน้องชายจำเลยที่ 1 สามีจำเลยที่ 3 ให้คืนดีกับจำเลยที่ 3 นั้น จึงเลื่อนลอยข้อเท็จจริงรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยที่ 3 มีส่วนร่วมในการติดต่อซื้อขายเมทแอมเฟตามีนของกลางด้วย การกระทำของจำเลยที่ 3 เป็นการกระทำความผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 แล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาศาลล่างทั้งสอง ฎีกาจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ฟังไม่ขึ้น
โจทก์มีคำขอท้ายฟ้องขอให้ริบอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนของกลาง แต่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ไม่ได้วินิจฉัยเกี่ยวกับอาวุธปืนและกระสุนปืนของกลางดังกล่าวเป็นการไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 186 (9) เมื่อปรากฏว่าอาวุธปืนเป็นปืนมีทะเบียนของผู้อื่น อาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนดังกล่าวจึงไม่ใช่ทรัพย์สินที่มีไว้เป็นความผิดอันจะต้องริบเสียทั้งสิ้น จึงยังไม่สมควรริบ นอกจากนี้ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกจำเลยที่ 3 และที่ 4 ตลอดชีวิต และลดโทษให้คนละหนึ่งในสาม คงจำคุกคนละ 32 ปี 8 เดือน นั้นไม่ถูกต้อง แต่โจทก์มิได้ฎีกาในปัญหาดังกล่าว ศาลฎีกาจึงไม่อาจกำหนดโทษจำเลยที่ 3 และที่ 4 ให้สูงขึ้นได้
อนึ่ง แม้ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา ได้มีพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 มาตรา 8 และมาตรา 19 ยกเลิกความในมาตรา 15 และมาตรา 66 แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 และให้ใช้ความใหม่แทน แต่คดีนี้เมทแอมเฟตามีนของกลางมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์เกิน 20 กรัม ขึ้นไป กฎหมายที่แก้ไขใหม่ตามมาตรา 66 วรรคสาม ไม่เป็นคุณแก่จำเลยทั้งสี่ จึงต้องใช้กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดบังคับแก่จำเลยทั้งสี่ ไม่เป็นกรณีที่จะต้องแก้ไขคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในส่วนนี้”
พิพากษาแก้เป็นว่า เฉพาะความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15, 66 วรรคสอง จำคุกตลอดชีวิต ลดโทษให้หนึ่งในสามแล้ว คงจำคุก 33 ปี 4 เดือน เมื่อรวมโทษจำเลยที่ 1 ทุกกระทงแล้วคงจำคุก 33 ปี 12 เดือน คืนอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนของกลางแก่เจ้าของ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share