คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2751/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

จำเลยเป็นหนี้โจทก์ 15,467,184 บาท ต่อมาโจทก์จำเลยตกลงกันโดยโจทก์ตกลงลดหนี้แก่จำเลย 467,184 บาท ส่วนที่เหลือ 15,000,000 บาท ให้จำเลยผ่อนชำระเป็นรายเดือนเดือนละ 1,000,000 บาท โดยทำหลักฐานเป็นสัญญากู้ยืมเงินไว้ ถือเป็นการเปลี่ยนสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้เป็นการแปลงหนี้ใหม่ เมื่อเช็คพิพาทลงวันที่สั่งจ่ายตรงกับวันถึงกำหนดชำระเงินกู้ตามสัญญากู้ยืมเงิน จึงถือได้ว่าจำเลยออกเช็คพิพาทเพื่อชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงิน ซึ่งเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย โดยในขณะที่ออกเช็คไม่มีเงินอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้ โดยเจตนาไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คหรือห้ามธนาคารมิให้ใช้เงินตามเช็คนั้นโดยเจตนาทุจริต จำเลยจึงมีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ มาตรา 4
ศาลล่างพิพากษาว่าการออกเช็คของจำเลยทั้ง 15 ฉบับ เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ มาตรา 4 และลงโทษจำคุกกระทงละ 6 เดือน โดยเรียงกระทงลงโทษซึ่งศาลถือว่ามีผลเสมือนเป็นการนับโทษต่อ ดังนั้น แม้ศาลล่างจะปรับบทตาม ป.อ. มาตรา 91 มาด้วยนั้น ย่อมหมายความว่า ศาลล่างพิพากษาให้จำคุกจำเลยทั้ง 15 สำนวน สำนวนละ 6 เดือน แล้วนับโทษแต่ละสำนวนต่อกันตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ เพียงแต่อ้างบทมาตราผิดพลาดไป ศาลฎีกาแก้ไขให้ถูกต้องได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสิบห้าสำนวนตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 และนับโทษจำเลยทั้งสิบห้าสำนวนต่อเนื่องกัน
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้องทั้งสิบห้าสำนวน
จำเลยให้การปฏิเสธทั้งสิบห้าสำนวน แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 โดยจำคุกกระทงละ 6 เดือน รวม 15 กระทง เป็นจำคุก 90 เดือน และเมื่อศาลเรียงกระทงลงโทษจำเลยอันมีผลเสมือนเป็นการนับโทษต่อตามคำขอในฟ้องโจทก์แล้ว จึงไม่จำต้องสั่งให้นับโทษต่ออีก
จำเลยทั้งสิบห้าสำนวนอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสิบห้าสำนวนฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 หรือไม่ … เห็นว่า จำเลยรู้จักกับนายมิ่นเมื่อปี 2536 โดยเพื่อนแนะนำ ต่อมาจำเลยว่าจ้างนายมิ่นก่อสร้างอาคาร ส่วนนายกิตติเป็นหลานจำเลยรู้จักนายมิ่นเพราะจำเลยแนะนำ ความสัมพันธ์ระหว่างนายมิ่นกับจำเลยและนายกิตติเพียงเท่านั้น ไม่เชื่อว่าทั้งสองคนจะตกลงให้นายมิ่นยืมเช็คเป็นเงินจำนวนมากเช่นนั้น ทั้งเช็คที่ให้นายมิ่นยืมนั้นจำเลยไม่ได้กรอกข้อความยิ่งเป็นข้อพิรุธขาดเหตุผลไม่น่ารับฟังเป็นอย่างยิ่ง ส่วนนางอุบลจำเลยไม่นำมาเป็นพยาน พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักรับฟังได้ว่า จำเลยเป็นผู้นำเช็คเอกสารหมาย จ. 1 ถึง จ. 12 ไปแลกเงินกับโจทก์ ฉะนั้น ที่จำเลยอ้างว่าเช็คพิพาทจำนวน 15 ฉบับ จำเลยออกให้แก่โจทก์แทนนายมิ่นไปก่อน เพื่อไม่ให้โจทก์แจ้งเจ้าพนักงานตำรวจมาจับนายมิ่นจึงไม่น่ารับฟังเช่นกัน จำเลยเป็นหนี้โจทก์จำนวนตามเช็คเอกสารหมาย จ. 1 ถึง จ. 12 รวมทั้งสิ้นจำนวน 15,467,184 บาท ต่อมาโจทก์จำเลยตกลงกันโดยโจทก์ตกลงลดหนี้แก่จำเลยจำนวน 467,184 บาท ส่วนที่เหลือจำนวน 15,000,000 บาท ให้จำเลยผ่อนชำระเป็นรายเดือนเดือนละ 1,000,000 บาท โดยทำหลักฐานเป็นสัญญากู้ยืมเงินตามสำเนาสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ. 13 ถึง จ. 26 และ จ. 56 ไว้ ถือเป็นการเปลี่ยนสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้ เป็นการแปลงหนี้ใหม่ เช็คพิพาทตามสำเนาเช็คเอกสารหมาย จ. 27 จ. 29 จ. 31 จ. 33 จ. 35 จ. 37 จ. 39 จ. 41 จ. 43 จ. 45 จ. 47 จ. 49 จ. 51 จ. 53 และ จ. 57 ลงวันที่สั่งจ่ายตรงกับวันถึงกำหนดชำระเงินกู้ตามสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ. 13 ถึง จ. 26 และ จ. 56 ฟังได้ว่าจำเลยออกเช็คพิพาทดังกล่าวเพื่อชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินซึ่งเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย โดยในขณะที่ออกเช็คไม่มีเงินอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้ โดยเจตนาไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คหรือห้ามธนาคารมิให้ใช้เงินตามเช็คนั้นโดยเจตนาทุจริต จำเลยจึงมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า ศาลอุทธรณ์พิพากษาเรียงกระทงลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ชอบหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 ในเช็คจำนวน 15 ฉบับ โดยแยกฟ้องเป็น 15 สำนวน และมีคำขอให้นับโทษของจำเลยแต่ละสำนวนต่อกัน ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งให้รวมพิจารณาคดีทั้งสิบห้าสำนวนเข้าด้วยกัน การกระทำของจำเลยในแต่ละสำนวนเป็นความผิดต่างกรรมกัน การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าการออกเช็คของจำเลยทั้ง 15 ฉบับ เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 และลงโทษจำคุกกระทงละ 6 เดือน โดยเรียงกระทงลงโทษซึ่งศาลถือว่ามีผลเสมือนเป็นการนับโทษต่อ แม้ศาลล่างทั้งสองจะปรับบทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 มาด้วยนั้น ย่อมหมายความว่า ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำคุกจำเลยทั้ง 15 สำนวน สำนวนละ 6 เดือน แล้วนับโทษแต่ละสำนวนต่อกันตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์นั่นเอง เพียงแต่อ้างบทมาตราผิดพลาดไป ซึ่งศาลฎีกาย่อมแก้ไขให้ถูกต้องได้”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำคุกจำเลยสำนวนละ 6 เดือน นับโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 972/2542, 546/2542, 315/2542, 4038/2541, 3935/2541, 3692/2541, 3691/2541, 3837/2541, 3231/2541, 2496/2541, 2489/2541, 1518/2541, 1113/2541, 122/2541 ของศาลชั้นต้น ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3956/2540 ของศาลชั้นต้นตามลำดับ คำขอให้เพิ่มโทษให้ยก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share