แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
แม้ตามสำเนาทะเบียนการสมรสจะปรากฏลายมือชื่อฝ่ายชายคือ จำเลยที่ 1 เป็นผู้ร้องขอจดทะเบียนแต่เพียงผู้เดียวก็ตาม แต่ในบันทึกด้านหลังของทะเบียนสมรสดังกล่าวเจ้าหน้าที่ได้บันทึกถ้อยคำที่จำเลยที่ 1 และผู้ตายให้ไว้ว่าคู่สมรสทั้งสองฝ่ายมีความสมัครใจและเต็มใจที่จะจดทะเบียนสมรสกัน โดยทั้งจำเลยที่ 1 และผู้ตายได้ลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐาน บันทึกดังกล่าวได้ทำในวันและเวลาต่อเนื่องกับรายการจดทะเบียนสมรสด้านหน้า จึงย่อมถือได้ว่าจำเลยที่ 1 และผู้ตายได้ให้ถ้อยคำและปฏิบัติตามเงื่อนไขแห่งกฎหมายในเรื่องการจดทะเบียนสมรสด้วยความยินยอมของทั้งสองฝ่ายโดยถูกต้องตามกฎหมายแล้ว ความบกพร่องที่ผู้ตายไม่ได้ลงลายมือชื่อไว้ที่ด้านหน้าทะเบียนสมรสดังกล่าวยังไม่เป็นเหตุถึงทำให้การจดทะเบียนสมรสไม่มีผลสมบูรณ์เป็นโมฆะแต่อย่างไร
ในการรับบุตรบุญธรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 1583 (เดิม) ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น บัญญัติว่า ถ้าผู้ที่บุตรบุญธรรมยังไม่บรรลุนิติภาวะ การรับบุตรบุญธรรมจะทำได้ต่อเมื่อได้รับความยินยอมของบิดามารดา ถ้าไม่มีบิดามารดา ผู้แทนโดยชอบธรรมจะให้ความยินยอมก็ได้ และมาตรา 1585 (เดิม) บัญญัติว่า การรับบุตรบุญธรรมจะสมบูรณ์เมื่อได้จดทะเบียนตามกฎหมาย เมื่อพิจารณาประกอบ พ.ร.บ.จดทะเบียนครอบครัวฯ มาตรา 22 แล้วจะเห็นว่าบทบัญญัติดังกล่าวกำหนดแต่เพียงว่า การจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมต้องได้รับความยินยอมจากบิดามารดาเท่านั้น มิได้บังคับว่าคำยินยอมต้องทำเป็นหนังสือหรือต้องมีลายมือชื่อของบิดามารดาให้ความยินยอมแต่อย่างไร ดังนั้น เมื่อได้ความว่าจำเลยที่ 1 กับ ม. ซึ่งเป็นบิดามารดาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 จดทะเบียนหย่าและแยกกันอยู่โดยมีบันทึกหลังทะเบียนหย่าว่าให้จำเลยที่ 1 รับเลี้ยงจำเลยที่ 2 และที่ 3 ส่วน ม. รับเลี้ยงบุตรคนเล็ก และต่อมาจำเลยที่ 1 จดทะเบียนสมรสกับผู้ตายและผู้ตายได้จดทะเบียนรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นบุตรบุญธรรม ซึ่งจำเลยที่ 4 ในฐานะนายทะเบียนได้ดำเนินการจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมให้แก่ผู้ตายโดยที่ให้เฉพาะจำเลยที่ 1 บิดาเป็นผู้ลงลายมือชื่อให้ความยินยอมแต่เพียงผู้เดียว โดยเห็นว่าตามบันทึกข้อตกลงหลังทะเบียนหย่ามีผลทำให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้มีอำนาจปกครองจำเลยที่ 2 และที่ 3 เพียงผู้เดียว แม้ข้อความในบันทึกหลังทะเบียนหย่ามิอาจถือได้ว่า ม. ตกลงยินยอมให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้มีอำนาจปกครองจำเลยที่ 2 และที่ 3 เพียงผู้เดียวก็ตาม แต่ปรากฏว่านับแต่ผู้ตายจดทะเบียนรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นบุตรบุญธรรมจนกระทั่งผู้ตายถึงแก่ความตายเป็นเวลากว่า 29 ปี ม. ก็มิได้ว่ากล่าวคัดค้านการรับบุตรบุญธรรม และยังทำหนังสือยืนยันว่าทราบเรื่องและให้ความยินยอมมาโดยตลอดตั้งแต่ต้นจนถึงปัจจุบัน และเหตุที่ไม่ได้ลงลายมือชื่อไว้ก็เพราะขณะที่จดทะเบียนหย่ากับจำเลยที่ 1 ม. ตกลงให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 อยู่ในการเลี้ยงดูของจำเลยที่ 1 นั้น หมายถึงการให้เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรแต่ผู้เดียวด้วยและไม่ขอคัดค้าน รวมทั้งยังขอร้องสอดเข้ามาเป็นจำเลยร่วมโดยยืนยันการจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรม พฤติการณ์จึงฟังได้ว่า ม. ได้ให้ความยินยอมด้วยแล้วในการรับบุตรบุญธรรมของผู้ตาย การรับบุตรบุญธรรมดังกล่าวจึงชอบแล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่าการจดทะเบียนสมรสระหว่างจำเลยที่ 1 กับผู้ตายเป็นโมฆะ และการจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมระหว่างจำเลยที่ 2 และที่ 3 กับผู้ตายเป็นโมฆะ กับให้จำเลยที่ 5 เพิกถอนการจดทะเบียนสมรสและให้จำเลยที่ 4 เพิกถอนการจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรม
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ยื่นคำให้การ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 4 และที่ 5 ให้การว่า การจดทะเบียนสมรสระหว่างจำเลยที่ 1 กับผู้ตาย และการจดทะเบียนรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นบุตรบุญธรรมของผู้ตายได้กระทำโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่าโจทก์เป็นน้องชายร่วมบิดามารดาเดียวกับนางสำอาง หัชวิญญูหรือศรีจันทร์ ผู้ตาย ส่วนจำเลยที่ 1 เคยอยู่กินกับนางมยุรี สมประสงค์หรือสุขโชติเจริญ โดยจดทะเบียนสมรสกันถูกต้องตามกฎหมายและเกิดบุตรด้วยกัน 3 คน รวมทั้งจำเลยที่ 2 และที่ 3 ต่อมาจำเลยที่ 1 และนางมยุรีจดทะเบียนหย่ากัน โดยบันทึกด้านหลังทะเบียนหย่าว่าให้ฝ่ายชายคือจำเลยที่ 1 เป็นผู้เลี้ยงดูบุตรคนโตและคนที่สองซึ่งคือจำเลยที่ 2 และที่ 3 ครั้นปี 2509 จำเลยที่ 1 ได้อยู่กินฉันสามีภริยากับผู้ตาย แต่ไม่มีบุตรด้วยกัน มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า การสมรสระหว่างจำเลยที่ 1 กับผู้ตายเป็นโมฆะหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า ผู้ตายมิได้ลงลายมือชื่อในทะเบียนสมรส ซึ่งถือว่าเป็นสาระสำคัญในการจดทะเบียนสมรส แม้จะปรากฏลายมือชื่อของผู้ตายในบันทึกด้านหลังทะเบียนสมรส แต่บันทึกดังกล่าวก็หาใช่ทะเบียนการสมรสไม่ การจดทะเบียนสมรสระหว่างจำเลยที่ 1 กับผู้ตายย่อมไม่สมบูรณ์มีผลเป็นโมฆะ เห็นว่า แม้ตามสำเนาทะเบียนการสมรสเอกสารหมาย จ.5 ในช่องรายการลำดับที่ 11 ซึ่งระบุว่าลายมือชื่อผู้ร้องขอจดทะเบียนจะปรากฏแต่เฉพาะลายมือชื่อของจำเลยที่ 1 เพียงผู้เดียวก็ตาม แต่ในบันทึกด้านหลังของทะเบียนสมรสดังกล่าวเจ้าหน้าที่ได้บันทึกถ้อยคำที่จำเลยที่ 1 และผู้ตายให้ไว้ว่าคู่สมรสทั้งสองฝ่ายมีความสมัครใจและเต็มใจที่จะจดทะเบียนสมรส โดยทั้งจำเลยที่ 1 และผู้ตายได้ลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐาน บันทึกดังกล่าวลงวันที่ 25 ตุลาคม 2509 ซึ่งเป็นวันเดียวกับการจดทะเบียนสมรส แสดงว่าบันทึกด้านหลังทะเบียนสมรสนายทะเบียนได้ทำในวันและเวลาเดียวกันต่อเนื่องกับรายการจดทะเบียนสมรสด้านหน้า จึงย่อมถือได้ว่าจำเลยที่ 1 และผู้ตายได้ให้ถ้อยคำและปฏิบัติตามเงื่อนไขแห่งกฎหมายในเรื่องการจดทะเบียนสมรสด้วยความยินยอมของทั้งสองฝ่ายโดยถูกต้องตามกฎหมายแล้ว ความบกพร่องที่ผู้ตายมิได้ลงลายมือชื่อไว้ที่ด้านหน้าทะเบียนสมรสดังกล่าวยังไม่เป็นเหตุถึงกับทำให้การจดทะเบียนสมรสนั้นไม่มีผลสมบูรณ์เป็นโมฆะแต่อย่างไร ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์เป็นประการสุดท้ายว่า การจดทะเบียนรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นบุตรบุญธรรมของผู้ตายนั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า ขณะผู้ตายจดทะเบียนรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ผู้เยาว์เป็นบุตรบุญธรรม นางมยุรีซึ่งเป็นมารดาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ได้ลงลายมือชื่อยินยอมให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นบุตรบุญธรรมของผู้ตาย ส่วนบันทึกท้ายทะเบียนหย่าระหว่างจำเลยที่ 1 กับนางมยุรีเป็นแต่เพียงตกลงให้จำเลยที่ 1 เลี้ยงดูจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงถือไม่ได้ว่ามีการตกลงให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองจำเลยที่ 2 และที่ 3 แต่ลำพัง จำเลยที่ 1 จึงไม่มีอำนาจให้ยินยอมแต่เพียงผู้เดียวได้ เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1583 วรรคหนึ่ง (เดิม) ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นบัญญัติว่าถ้าผู้ที่เป็นบุตรบุญธรรมยังไม่บรรลุนิติภาวะ การรับผู้นั้นเป็นบุตรบุญธรรมจะทำได้ต่อเมื่อได้รับความยินยอมของบิดามารดา ถ้าไม่มีบิดามารดา ผู้แทนโดยชอบธรรมจะให้ความยินยอมก็ได้ และมาตรา 1585 (เดิม) บัญญัติว่า การรับบุตรบุญธรรมจะสมบูรณ์เมื่อได้จดทะเบียนตามกฎหมาย เมื่อพิจารณาประกอบพระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัว พ.ศ.2478 มาตรา 22 แล้วจะเห็นได้ว่าบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าวกำหนดแต่เพียงว่า การจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมต้องได้รับความยินยอมจากบิดามารดาเท่านั้น มิได้บังคับว่า คำยินยอมต้องทำเป็นหนังสือหรือต้องมีลายมือชื่อของบิดามารดาให้ความยินยอมแต่อย่างไร ข้อเท็จจริงได้ความว่า เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2509 จำเลยที่ 1 กับนางมยุรีซึ่งเป็นบิดาและมารดาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้จดทะเบียนหย่าและแยกกันอยู่ โดยมีบันทึกหลังทะเบียนหย่าว่าให้จำเลยที่ 1 รับเลี้ยงจำเลยที่ 2 และที่ 3 ส่วนนางมยุรีรับเลี้ยงบุตรคนเล็ก ต่อมาวันที่ 25 ตุลาคม 2509 จำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนสมรสกับผู้ตาย และในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2512 ผู้ตายได้จดทะเบียนรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นบุตรบุญธรรม โดยมีบันทึกหลังทะเบียนการรับบุตรบุญธรรมเอกสารหมาย จ.6 และ จ.7 ว่า ฝ่ายผู้ที่จะเป็นบุตรบุญธรรมเป็นบุตรของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นคู่สมรสของผู้รับบุตรบุญธรรมเกิดจากนางมยุรีซึ่งได้หย่าขาดจากจำเลยที่ 1 แล้ว และได้มีบันทึกหลังทะเบียนหย่ากัน ให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ผู้ที่จะเป็นบุตรบุญธรรมอยู่ในความปกครองและอุปการะเลี้ยงดูของจำเลยที่ 1 บิดาจำเลยที่ 1 จึงเป็นผู้ให้ความยินยอมและยื่นคำร้องแทนได้ ดังนั้นการที่จำเลยที่ 4 ในฐานะนายทะเบียนได้ดำเนินการจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมให้แก่ผู้ตายโดยที่ให้แต่เฉพาะจำเลยที่ 1 บิดาเป็นผู้ลงลายมือชื่อให้ความยินยอมเพียงผู้เดียวก็ด้วยเห็นว่าตามบันทึกข้อตกลงหลังทะเบียนหย่ามีผลทำให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้มีอำนาจปกครองจำเลยที่ 2 และที่ 3 เพียงผู้เดียว แม้ข้อความในบันทึกหลังทะเบียนหย่าดังกล่าวมิได้ถือได้ว่านางมยุรีตกลงยินยอมให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้มีอำนาจปกครองจำเลยที่ 2 และที่ 3 เพียงผู้เดียว แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อปรากฏว่านับแต่ที่ผู้ตายจดทะเบียนรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นบุตรบุญธรรมจนกระทั่งผู้ตายถึงแก่ความตายเป็นระยะเวลานานถึง 29 ปี นางมยุรีก็มิได้ว่ากล่าวคัดค้านการรับบุตรบุญธรรมแต่อย่างไร นอกจากนี้นางมยุรียังได้ทำหนังสือยืนยันการให้ความยินยอมว่า นางมยุรีได้ทราบเรื่องการรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นบุตรบุญธรรมของผู้ตายและได้ให้ความยินยอมมาโดยตลอดตั้งแต่ต้นจนถึงปัจจุบัน เหตุที่มิได้ลงลายมือชื่อไว้ก็เพราะว่าขณะที่จดทะเบียนหย่ากับจำเลยที่ 1 นางมยุรีได้ตกลงให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 อยู่ในการเลี้ยงดูของจำเลยที่ 1 นั้น หมายถึงการให้เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรแต่เพียงผู้เดียวด้วย การจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมของผู้ตายชอบแล้วไม่ขอคัดค้านตามเอกสารหมาย ล.17 อีกทั้งนางมยุรีได้ยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ 6 พฤศจิกายน 2543 เพื่อร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความในฐานะจำเลยร่วม โดยยืนยันว่า การจดทะเบียนรับรองบุตรบุญธรรมชอบแล้วแต่ศาลชั้นต้นยกคำร้อง ดังนั้น ตามพฤติการณ์แห่งคดีดังกล่าวฟังได้ว่านางมยุรีได้ยินยอมด้วยแล้วในการรับบุตรบุญธรรมของผู้ตาย การรับบุตรบุญธรรมดังกล่าวจึงชอบแล้ว เมื่อได้ความดังกล่าว จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงมีฐานะอย่างเดียวกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1856 (เดิม) หรือ 1598/28 (ใหม่) และถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 1627 ย่อมเป็นทายาทโดยธรรมอันดับ (1) ตามมาตรา 1629 โจทก์ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมอันดับ (3) จึงไม่มีสิทธิรับมรดกของผู้ตายตามมาตรา 1630 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงไม่เป็นทายาทและผู้มีส่วนได้เสียในมรดกของผู้ตาย ย่อมไม่มีอำนาจฟ้องเมื่อโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง กรณีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ในประเด็นที่ว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เพราะไม่ทำให้สิทธิของโจทก์ที่จะได้รับมรดกของผู้ตายเปลี่ยนแปลงไป ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน