แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 มีและพาอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนไปที่เคหสถาน อันเป็นที่พักอาศัยของโจทก์ร่วม แล้วใช้อาวุธปืนขู่บังคับโจทก์ร่วมกับรื้อค้นเอาเงินจำนวน 3,000 บาท และนาฬิกาข้อมือราคา 150,000 บาทไป จากนั้นจำเลยเอาเสื้อคลุมศีรษะโจทก์ร่วมบังคับให้ขึ้นรถยนต์ที่ติดเครื่องรออยู่หน้าที่พักอาศัยของโจทก์ร่วมแล้วขับรถนำโจทก์ร่วมไปกักขังไว้ และส่งจดหมายเรียกค่าไถ่ไปยังภริยาและบุตรของโจทก์ร่วมซึ่งอยู่ในต่างประเทศ จนภริยาของโจทก์ร่วมตกลงจ่ายค่าไถ่ให้จำเลยจำนวน 275,000 ดอลลาร์สหรัฐ ในระหว่างที่โจทก์ร่วมถูกกักขัง จำเลยได้มัดโจทก์ร่วมด้วยโซ่ที่มือ เท้าทั้งสองข้างและใส่กุญแจ และจำเลยควบคุมตัวโจทก์ร่วมอยู่ตลอดเวลา เมื่อโจทก์ร่วมจะถ่ายอุจจาระหรือปัสสาวะ จำเลยทั้งสองจะช่วยถอดกางเกงให้ โจทก์ร่วมถูกกักขังอยู่ในลักษณะดังกล่าวเป็นเวลา 133 วัน จึงหลบหนีออกไปได้ การกระทำของจำเลยทั้งสองทำให้โจทก์ร่วมหมดอิสระในการเคลื่อนไหวร่างกายไปที่อื่นและไม่สามารถประกอบกิจวัตรประจำวันด้วยตนเองได้ตลอดระยะเวลาดังกล่าว เป็นเหตุให้ไม่ได้รับประทานยาแก้โรคเบาหวาน ทำให้อาการกำเริบ มีเลือดปนออกมากับอุจจาระและปัสสาวะ การกระทำของจำเลยต่อโจทก์ร่วมจึงเป็นการกระทำโดยทรมานจนเป็นเหตุให้โจทก์ร่วมได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ จึงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 313 วรรคสอง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83, 91, 309, 310, 339, 340 ตรี, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ริบทรัพย์ตามบัญชีทรัพย์ของกลางท้ายฟ้อง และให้จำเลยทั้งสองคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ถูกประทุษร้ายเป็นเงิน 150,000 บาท ที่ยังไม่ได้คืนแก่ผู้เสียหาย
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ แต่เมื่อสืบพยานโจทก์ไปได้ 3 ปาก จำเลยทั้งสองขอถอนคำให้การเดิมและให้การรับสารภาพ
ระหว่างพิจารณา นายฉี โจ้ง อี้ ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาตเฉพาะความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83, 91, 309, 310, 313, 340 ตรี
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 72 วรรคสองและวรรคสาม, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309 วรรคสอง, 310 (ที่ถูก 310 วรรคแรก), 313 วรรคสอง, 339 วรรคสอง, 340 ตรี, 371 ประกอบมาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ขณะกระทำความผิดจำเลยที่ 2 อายุ 18 ปีเศษ ลดมาตราส่วนโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 ฐานร่วมกันมีอาวุธปืนมีทะเบียนของผู้อื่นไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 4 ปี จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 2 ปี 8 เดือน ฐานร่วมกันพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 1 ปี จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 8 เดือน ฐานร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นโดยมีอาวุธ หน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่นและเอาตัวบุคคลอายุกว่าสิบห้าปีไปเพื่อค่าไถ่ อันเป็นการกระทำโดยทรมานหรือโดยทารุณโหดร้ายซึ่งเป็นการกระทำกรรมเดียวกัน ให้ลงโทษฐานเอาตัวบุคคลอายุกว่าสิบห้าปีไปเพื่อเรียกค่าไถ่อันเป็นการกระทำโดยทรมานหรือโดยทารุณโหดร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 313 วรรคสอง ซึ่งเป็นบทหนัก จำคุกจำเลยที่ 1 ตลอดชีวิต จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 33 ปี 4 เดือน ฐานร่วมกันชิงทรัพย์โดยมีอาวุธปืน จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 20 ปี จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 13 ปี 4 เดือน จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพหลังจากสืบพยานโจทก์ไปบ้างแล้ว และคำให้การรับสารภาพของจำเลยทั้งสองในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้างนับเป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 (ที่ถูกต้องระบุประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 53) คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 50 ปี (ที่ถูก 65 ปี 20 เดือน แต่จำคุกจำเลยที่ 1 ได้เพียง 50 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (3)) จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 32 ปี 16 เดือน ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนนาฬิกาข้อมือยี่ห้อโรเล็กซ์หรือใช้ราคาแทนเป็นเงิน 150,000 บาท แก่โจทก์ร่วม ริบของกลาง
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา จำเลยที่ 1 ขอถอนฎีกา ศาลฎีกามีคำสั่งอนุญาตให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 1
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 เพียงว่า ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 313 การกระทำของจำเลยที่ 2 ในการกักขังโจทก์ร่วมเพื่อเรียกค่าไถ่เป็นการกระทำโดยทรมานหรือโดยทารุณโหดร้ายอันเป็นความผิดตามวรรคสองของมาตรา 313 หรือไม่ และมีเหตุที่จะลงโทษจำเลยที่ 2 สถานเบาและลดโทษให้กึ่งหนึ่งหรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์รับฟังมาโดยจำเลยที่ 2 มิได้โต้แย้งฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 มีและพาอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนตามฟ้อง ไปที่เคหสถานอันเป็นที่พักอาศัยของโจทก์ร่วม แล้วใช้อาวุธปืนนั้นขู่บังคับโจทก์ร่วมกับรื้อค้นเอาเงินจำนวน 3,000 บาท และนาฬิกาข้อมือยี่ห้อโรเล็กซ์ราคา 150,000 บาท ไป จากนั้นจำเลยทั้งสองเอาเสื้อคลุมศีรษะโจทก์ร่วมบังคับให้ขึ้นรถยนต์ที่ติดเครื่องรออยู่หน้าที่พักอาศัยของโจทก์ร่วมแล้วขับรถนำโจทก์ร่วมไปกักขังไว้บนชั้นที่ 3 ของตึกแถวที่จำเลยที่ 1 เช่าจากผู้อื่น แล้วส่งจดหมายเรียกค่าไถ่ไปยังภริยาและบุตรของโจทก์ร่วมซึ่งอยู่ที่ประเทศไต้หวัน จนภริยาของโจทก์ร่วมตกลงจ่ายค่าไถ่ให้จำเลยทั้งสองจำนวน 275,000 ดอลลาร์สหรัฐ ในระหว่างที่โจทก์ร่วมถูกกักขัง จำเลยทั้งสองได้มัดโจทก์ร่วมด้วยโซ่ที่มือและเท้าทั้งสองข้างและใส่กุญแจ และจำเลยทั้งสองควบคุมตัวโจทก์ร่วมอยู่ตลอดเวลา เมื่อโจทก์ร่วมจะถ่ายอุจจาระหรือปัสสาวะ จำเลยทั้งสองจะช่วยถอดกางเกงให้ อุจจาระและปัสสาวะของโจทก์ร่วมมีเลือดปนออกมาด้วย เนื่องจากโจทก์ร่วมไม่ได้รับประทานยารักษาโรคเบาหวาน โจทก์ร่วมถูกกักขังอยู่ในลักษณะดังกล่าวเป็นเวลา 133 วัน โจทก์ร่วมจึงหลบหนีออกไปได้ การกระทำของจำเลยทั้งสองต่อโจทก์ร่วมดังกล่าวเห็นได้ว่าโจทก์ร่วมย่อมหมดอิสระในการเคลื่อนไหวร่างกายไปที่อื่น และไม่สามารถประกอบกิจวัตรประจำวันด้วยตนเองได้เป็นเวลาถึง 133 วัน เป็นเหตุให้โจทก์ร่วมไม่ได้รับประทานยาแก้โรคเบาหวาน ทำให้อาการกำเริบ มีเลือดปนออกมากับอุจจาระและปัสสาวะ อันเป็นการกระทำที่เลวร้ายยิ่งกว่าการปฏิบัติต่อนักโทษที่ถูกจำคุกอยู่ในเรือนจำเสียอีก การกระทำของจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ร่วมจึงเป็นการกระทำโดยทรมานจนเป็นเหตุให้โจทก์ร่วมได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจแล้ว การกระทำความผิดของจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 313 วรรคสอง หาใช่มาตรา 313 วรรคแรก ตามที่จำเลยที่ 2 ฎีกาไม่ และความผิดตามมาตรา 313 วรรคสอง ต้องระวางโทษประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิต ซึ่งศาลอุทธรณ์วางโทษจำคุกตลอดชีวิตอันเป็นโทษขั้นต่ำของกฎหมาย จึงเป็นการลงโทษสถานเบาที่สุดแล้ว ศาลฎีกาไม่อาจลงโทษต่ำกว่ากฎหมายได้ แต่จำเลยที่ 2 อายุ 18 ปีเศษ ศาลชั้นต้นจึงปรานีโดยลดมาตราส่วนโทษให้อีกหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 จำเลยที่ 2 จึงได้รับโทษเพียงจำคุก 33 ปี 4 เดือน อันเป็นคุณแก่จำลยที่ 2 มากอยู่แล้ว ส่วนที่จำเลยที่ 2 ขอให้ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ให้จำเลยที่ 2 กึ่งหนึ่ง เพราะจำเลยที่ 2 เข้ามอบตัวต่อเจ้าพนักงานตำรวจและในชั้นพิจารณาก็ให้การรับสารภาพจึงเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาเป็นอย่างมากนั้น เห็นว่า แม้จำเลยที่ 2 จะมอบตัวต่อเจ้าพนักงานตำรวจในชั้นจับกุมกับชั้นสอบสวนจะให้การรับสารภาพด้วยก็ตาม แต่ในชั้นพิจารณาจำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธ ต่อเมื่อโจทก์สืบพยานไปถึง 3 ปากแล้ว จำเลยที่ 2 จึงให้การรับสารภาพ อันแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 พิจารณาโดยถ่องแท้จนเห็นแล้วว่า พยานหลักฐานของโจทก์มั่นคงฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 กระทำความผิดตามฟ้อง จึงได้ยอมรับสารภาพเพื่อจะได้รับการลงโทษตามกฎหมาย ซึ่งเป็นการรับสารภาพเพราะจำเลยจำนวนต่อพยานหลักฐาน ที่ศาลอุทธรณ์ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสามจากโทษที่ลงดังกล่าวมาข้างต้นเหมาะแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ฎีกาจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน