คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2696/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 อยู่กินเป็นสามีภริยากับผู้ตายมานานกว่า 10 ปี โดยผู้ตายเปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลามเช่นเดียวกับจำเลยที่ 1 เมื่อผู้ตายถึงแก่ความตายจำเลยที่ 1 เป็นธุระจัดการทำศพโดยทำพิธีศพของผู้ตายตามแบบพิธีที่ผู้ตายนับถือซึ่งถูกต้องสมควรแก่จารีตประเพณีท้องถิ่น นับว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้มีส่วนได้เสียที่จะร้องขอต่อศาลให้ตั้งบุคคลอื่นเป็นผู้จัดการทำศพของผู้ตายได้ หากเห็นว่าโจทก์ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมที่มีสิทธิรับมรดกมากที่สุด อันมีอำนาจหน้าที่จัดการทำศพของผู้ตายไม่สมควรเป็นผู้จัดการทำศพได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1649 วรรคสอง ดังนั้น เมื่อศพผู้ตายได้มีการจัดการฝังแล้วตามหลักศาสนาอิสลามที่ผู้ตายนับถือ จึงหมดความจำเป็นที่จะนำศพผู้ตายขึ้นมาจัดการทำศพ โจทก์ไม่มีอำนาจเรียกให้ส่งมอบศพผู้ตายให้แก่โจทก์เพื่อจัดการทำศพอีก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันส่งมอบศพของนางถนอม ฤทธิ์เต็ม ให้แก่โจทก์และพนักงานสอบสวนเพื่อนำส่งโรงพยาบาลนิติเวชทำการตรวจชันสูตรพลิกศพหาสาเหตุแห่งการตายและเพื่อโจทก์จะได้นำไปประกอบพิธีกรรมทางศาสนาพุทธ หากจำเลยทั้งสองไม่สามารถส่งมอบได้ ขอให้ศาลสั่งให้โจทก์เป็นผู้ดำเนินการแทน โดยให้จำเลยทั้งสองเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย
จำเลยทั้งสองให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาจำเลยที่ 1 ถึงแก่กรรม ศาลมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 1 ออกจากสารบบความ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ส่งมอบศพนางถนอม ฤทธิ์เต็ม ผู้ตายให้แก่โจทก์ คำขออื่นให้ยกเสีย
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับว่า ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามที่คู่ความมิได้อุทธรณ์ฎีกาว่า โจทก์เป็นบุตรของผู้ตาย ภายหลังจากผู้ตายแยกทางกับบิดาโจทก์แล้ว ต่อมาผู้ตายได้มาอยู่กินฉันสามีภริยากับจำเลยที่ 1 เป็นเวลา 10 กว่าปีจนถึงแก่ความตาย เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2540 จำเลยที่ 1 นับถือศาสนาอิสลาม ได้ประกอบพิธีศพผู้ตายตามศาสนาอิสลามและนำไปฝังไว้ที่สุสานมัสยิดของจำเลยที่ 2 ซึ่งจะต้องจัดการศพและฝังภายในเวลาไม่เกิน 24 ชั่งโมงนับแต่เสียชีวิตตามบทบัญญัติของศาสนา และตามหลักศาสนาอิสลามผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามจะสมรสกับคนที่นับถือศาสนาอื่นไม่ได้ ผู้ที่นับถือศาสนาอื่นอยู่จะต้องเปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลามก่อนจึงจะสมรสกับคนที่นับถือศาสนาอิสลามได้ ปัญหาว่าโจทก์มีอำนาจเรียกให้จำเลยที่ 2 ส่งมอบศพผู้ตายให้แก่โจกท์หรือไม่ เห็นว่า ผู้ตายได้อยู่กินเป็นภริยาจำเลยที่ 1 เป็นเวลา 10 กว่าปี ผู้ตายมีชื่อในทะเบียนสัปบรุษประจำมัสยิดจำเลยที่ 2 ประกอบการแต่งกายของผู้ตายที่โพกผ้าคลุมศีรษะอย่างประเพณีหญิงที่นับถือศาสนาอิสลามที่ปรากฏตามภาพถ่ายในหนังสือเดินทางเมื่อปลายปี 2539 แสดงว่า ผู้ตายได้เปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลามนับแต่มาอยู่กินเป็นภริยาจำเลยที่ 1 จนถึงแก่ความตายเมื่อกลางปี 2540 ขณะมีอายุ 65 ปี ซึ่งจำเลยที่ 1 ได้ทำพิธีศพของผู้ตายแบบประเพณีที่ผู้ตายนับถืออยู่ขณะถึงแก่ความตาย นับว่าเป็นการกระทำที่ถูกต้องสมควรแก่จารีตประเพณีท้องถิ่นที่ดีงาม ที่บุคคลที่เกี่ยวข้องหรือมีส่วนได้เสียกับผู้ตายจำเป็นต้องเป็นธุระจัดการศพหลังการตายให้และเพื่อสุขอนามัยของชุมชน คดีนี้แม้จำเลยที่ 1 มิได้เป็นทายาทของผู้ตายและไม่มีอำนาจหน้าที่ในการจัดการทำศพผู้ตาย แต่จำเลยที่ 1 อยู่กินเป็นสามีภริยากับผู้ตายมานานกว่า 10 ปี นับได้ว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่จะร้องขอต่อศาลให้ตั้งบุคคลอื่นเป็นผู้จัดการทำศพผู้ตายได้ หากเห็นว่าโจทก์ซึ่งเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายและเป็นทายาทโดยธรรมที่มีสิทธิรับมรดกมากที่สุดอันมีอำนาจหน้าที่จัดการทำศพของผู้ตายไม่สมควรเป็นผู้จัดการทำศพได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1649 วรรคสอง การที่จำเลยที่ 1 ยื่นคำให้การต่อสู้คดีพอถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ยื่นคำร้องขอตามบทกฎหมายดังกล่าว ดังนั้น เมื่อศพผู้ตายได้มีการจัดการฝังแล้วตามหลักศาสนาอิสลามที่ผู้ตายนับถือ จึงหมดความจำเป็นที่จะนำศพผู้ตายขึ้นมาจัดการทำศพ โจทก์ไม่มีอำนาจเรียกให้ส่งมอบศพผู้ตายให้แก่โจทก์เพื่อจัดการทำศพอีก ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาข้ออื่นของโจทก์ไม่ทำให้คำพิพากษาเปลี่ยนแปลงไป ไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share