คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1865/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ในวันที่โจทก์ทำสัญญาจะซื้อจะขายและพัตนาที่ดินกับจำเลย จำเลยได้จัดการให้โจทก์ทำสัญญาว่าจ้างก่อสร้างรั้วกับบริษัท ค. โดยทำที่สำนักงานของจำเลย ซึ่งสัญญาทั้งหมดมี พ. ผู้จัดการฝ่ายบริการลูกค้าของจำเลยลงลายมือชื่อในฐานะผู้จะขายและผู้รับจ้างทั้งสองสัญญา นอกจากนี้จำเลยและบริษัท ค. มีกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนเป็นบุคคลชุดเดียวกัน และในการทำสัญญาจองที่ดินก็ไม่ปรากฏว่าโจทก์จะต้องทำสัญญาก่อสร้างรั้วกับบริษัท ค. โจทก์เพิ่งรู้จักชื่อบริษัท ค. ในวันเดียวกับวันทำสัญญาจะซื้อจะขายและพัฒนาที่ดินกับจำเลย ดังนั้น โจทก์และลูกค้ารายอื่นย่อมีเหตุผลเชื่อว่า จำเลยและบริษัท ค. ได้ร่วมประกอบธุรกิจหาผลประโยชน์ในกิจการเดียวกัน ฟังได้ว่า จำเลยได้เชิดบริษัท ค. เป็นตัวแทนของตนในการทำสัญญว่าจ้างก่อสร้างรั้ว โจทก์จึงหลงผิดเข้าทำสัญญาว่าจ้างก่อสร้างรั้วโดยเชื่อว่าบริษัท ค. ร่วมประกอบธุรกิจกับจำเลยจำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้สุจริตเสมือนว่าบริษัท ค. เป็นตัวแทนของตนตาม ป.พ.พ. มาตรา 821
สัญญาจะซื้อจะขายและพัฒนาที่ดินเป็นสัญญาต่างตอบแทน เมื่อโจทก์ชำระค่างวดให้แก่จำเลยแล้ว จำเลยย่อมมีหน้าที่พัฒนาที่ดินโดยการก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวกตามสัญญา ถึงแม้สัญญาจะไม่ได้กำหนดระยะเวลาการพัฒนาที่ดินให้แล้วเสร็จไว้โดยชัดเจนก็ตาม แต่ไม่ใช่ว่าจำเลยจะดำเนินการให้เสร็จเมื่อใดก็ได้แล้วแต่ความพอใจของจำเลย โจทก์ชำระค่างวดให้จำเลยไปแล้ว 499,900 บาท และนับแต่ทำสัญญาจนถึงวันที่โจทก์มีหนังสือขอคืนเงินมัดจำเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2541 เป็นเวลา 2 ปีเศษ จำเลยยังไม่สามารถพัฒนาที่ดินให้แล้วเสร็จ ทั้งๆ ที่จำเลยโฆษณาไว้ว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จในปี 2540 ถือว่า จำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา และโจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินแก่โจทก์ 697,372.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ในต้นเงิน 521,400 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ 521,400 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 4 สิงหาคม 2540 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติในเบื้องต้นว่า มีการจัดทำโฆษณาบ้านจัดสรร โครงการกฤษดา มาสเตอร์ เลค แอนด์ พาร์ค ของจำเลย โจทก์เข้าทำสัญญากับจำเลยตามหนังสือจองซื้อ และสัญญาจะซื้อจะขายและพัฒนาที่ดินในวันทำสัญญา โจทก์สัญญาว่าจ้างก่อสร้างรั้วกับบริษัทเค เอ็ม ซี อาร์คิเทค แอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด ด้วย โจทก์ชำระเงินค่างวดครบถ้วนตามสัญญาแล้ว งวดสุดท้ายชำระเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2540 รวมเป็นเงิน 499,900 บาท คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า จำเลยต้องร่วมรับผิดในสัญญาว่าจ้างก่อสร้างต่อโจทก์หรือไม่ โดยจำเลยฎีกาในทำนองว่า จำเลยไม่ได้เป็นคู่สัญญากับโจทก์ในสัญญาดังกล่าว และจำเลยไม่ได้เชิดบริษัทเค เอ็ม ซี อาร์คิเทค แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด เข้าเป็นตัวแทนในการทำสัญญาดังกล่าวแต่อย่างใด โจทก์ไม่ได้ชำระราคาให้จำเลย เห็นว่า นอกจากโจทก์จะทำสัญญาจะซื้อขายและพัฒนาที่ดินกับจำเลยแล้ว ในวันเดียวกันนั้นจำเลยได้จัดการให้โจทก์ทำสัญญาว่าจ้างก่อสร้างรั้วกับบริษัทเค เอ็ม ซี อาร์คิเทค แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด โดยทำที่สำนักงานของจำเลยนั่นเอง และสัญญาจะซื้อจะขายและพัฒนาที่ดินกับสัญญาว่าจ้างก่อสร้างรั้วดังกล่าวต่างมีนางสาวพัชรา สุขะอาคม ผู้จัดการฝ่ายบริการลูกค้าของจำเลย ลงลายมือชื่อในฐานะผู้จะขายและในฐานะผู้รับจ้างทั้งสองสัญญา นอกจากนี้หนังสือรับรองปรากฏว่าจำเลยและบริษัทเค เอ็ม ซี อาร์คิเทค คอนสตรัคชั่น จำกัด มีกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนเป็นบุคคลชุดเดียวกัน ทั้งเมื่อโจทก์เข้าจองที่ดินกับจำเลยครั้งแรกในวันที่ 28 มกราคม 2539 ตามหนังสือจองซื้อระบุว่าโดยหนังสือฉบับนี้โจทก์ขอจองซื้อ/ว่าจ้างที่ดินเปล่าและรั้วเนื้อที่ประมาณ 80 ตารางวา ราคาที่ดินตารางวาละ 29,900 บาท รวมราคาทั้งสิ้น 2,499,500 บาท และโจทก์ชำระเงินจองซื้อแล้ว 20,000 บาท โดยไม่ปรากฏว่าโจทก์จะต้องทำสัญญาว่าจ้างก่อสร้างรั้วกับบริษัทเค เอ็ม ซี อาร์คิเทค แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด แต่อย่างใด แสดงว่าโจทก์เพิ่งจะรู้จักชื่อบริษัทเค เอ็ม ซี อาร์คิเทค แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด ในวันเดียวกับวันที่โจทก์ทำสัญญาจะซื้อจะขายและพัฒนาที่ดินกับจำเลย โดยจำเลยเป็นผู้จัดให้โจทก์ทำสัญญา ดังนี้ โจทก์และลูกค้ารายอื่นย่อมมีเหตุผลเชื่อว่า จำเลยกับบริษัทเค เอ็ม ซี อาร์คิเทค แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด ได้ร่วมประกอบธุรกิจหาผลประโยชน์ในกิจการเดียวกัน ทั้งพฤติกรรมของจำเลยดังที่กล่าวมาทำให้รับฟังได้ว่าจำเลยได้เชิดบริษัทเค เอ็ม ซี อาร์คิเทค แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด เป็นตัวแทนของตนในการทำสัญญาว่าจ้างก่อสร้างรั้ว โจทก์จึงหลงผิดเข้าทำสัญญาว่าจ้างก่อสร้างรั้วโดยเชื่อว่าบริษัทเค เอ็ม ซี อาร์คิเทค แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด ร่วมประกอบธุรกิจกับจำเลย จำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้สุจริตเสมือนว่าบริษัทเค เอ็ม ซี อาร์คิเทค แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด เป็นตัวแทนของตนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 821 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีก่าของจำเลยประการต่อมาว่า จำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาในทำนองว่า สัญญาจะซื้อจะขายและพัตนาที่ดินไม่มีกำหนดระยะเวลาในการพัฒนาที่ดินและโอนกรรมสิทธิ์ เมื่อการพัฒนาที่ดินยังไม่แล้วเสร็จและจำเลยซึ่งมีหน้าที่นัดโอนกรรมสิทธิ์ยังไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ได้ จึงยังถือไม่ได้ว่าจำเลยผิดสัญญานั้น เห็นว่า เมื่อสัญญาจะซื้อจะขายและพัฒนาที่ดินดังกล่าวเป็นสัญญาต่างตอบแทน และโจทก์ได้ชำระเงินค่างวดให้แก่จำเลยแล้ว จำเลยย่อมมีหน้าที่พัฒนาที่ดินโดยการก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคและสิ่งอำนาจความสะดวกตามสัญญา ถึงแม้สัญญาดังกล่าวจะไม่ได้กำหนดระยะเวลาการพัฒนาที่ดินให้แล้วเสร็จไว้โดยชัดเจนก็ตาม แต่ไม่ใช่ว่าจำเลยจะดำเนินการให้เสร็จเมื่อใดได้ได้แล้วแต่ความพอใจของจำเลย โจทก์ชำระเงินตามงวดให้จำเลยไปแล้ว 499,900 บาท โดยงวดสุดท้ายชำระเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2540 ตามใบเสร็จรับเงินเอกสารหมาย จ.9 แต่นับจากวันทำสัญญาคือวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2539 จนถึงวันที่โจทก์มีหนังสือขอให้คืนเงินมัดจำเลยเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2541 นับเป็นเวลา 2 ปีเศษ จำเลยยังไม่สามารถพัฒนาที่ดินให้แล้วเสร็จในขณะที่จำเลยโฆษณาว่าจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างต้นปี 2539 และกำหนดแล้วเสร็จในปี 2540 เช่นนี้ ถือว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา และโจทก์ย่อมมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน อนึ่ง ข้อที่ว่าโจทก์บอกเลิกสัญญาชอบด้วยกฎหมายหรือไม่นั้น จำเลยไม่ได้ให้การต่อสู้ไว้ในคำให้การถือว่าเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการสุดท้ายว่า โจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยได้เพียงใด โดยจำเลยฎีกาว่า โจทก์อาจเรียกดอกเบี้ยได้เพียงร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่สัญญาเป็นอันเลิกกัน คือ กำหนด 7 วัน นับแต่จำเลยได้รับหนังสือจากโจทก์ เห็นว่า ศาลชั้นต้นกำหนดให้โจทก์เรียกดอกเบี้ยได้อัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี อยู่แล้ว ส่วนการเริ่มคิดดอกเบี้ยนั้น เมื่อจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาและโจทก์บอกเลิกสัญญา จำเลยจำต้องให้โจทก์กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมโดยดอกเบี้ยให้คิดตั้งแต่เวลาที่ได้รับไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคสอง ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้เริ่มคิดดอกเบี้ยนับแต่วันชำระค่างวดสุดท้ายตามที่โจทก์ขอ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share