แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่พิพาทอ้างว่าให้เช่าได้เดือนละ 20,000 บาท ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าเสียหายให้เดือนละ 10,000 บาท โจทก์ไม่ฎีกา ถือว่าที่พิพาทอาจให้เช่าได้ในขณะยื่นคำฟ้องไม่เกินเดือนละ 10,000 บาท คดีต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคสอง
โจทก์ฟ้องว่าให้จำเลยอาศัยทำประโยชน์ในที่พิพาท จำเลยให้การยอมรับว่าเข้าทำประโยชน์ไม่ใช่ในฐานะผู้อาศัย แต่ในฐานะผู้เช่าตามสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าการเช่าธรรมดาที่ตกลงให้จำเลยเป็นผู้ปลูกสร้างที่พักอาศัยและอาคารเก็บสินค้าด้วยค่าใช้จ่ายของจำเลยแล้วให้จำเลยทำสัญญาเช่าครั้งละ 3 ปี จนครบกำหนด 15 ปี เป็นการที่จำเลยยกข้อเท็จจริงขึ้นต่อสู้ใหม่ ภาระการพิสูจน์ที่จะนำสืบให้เห็นว่าโจทก์ทำสัญญาเช่าที่พิพาทกับจำเลยจริง จึงตกแก่จำเลย เมื่อจำเลยนำสืบไม่ได้ จำเลยจึงไม่มีสิทธิอยู่ในที่ดินพิพาท
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 18563, 2637, 2660 และ 2684 ตำบลฝายแก้ว อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน รวม 4 แปลง และสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินดังกล่าว โจทก์ยินยอมให้จำเลยเข้าทำประโยชน์บนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว ต่อมาโจทก์ไม่ประสงค์จะให้จำเลยและบริวารอาศัยหรือทำประโยชน์บนที่ดินอีกต่อไป จึงมีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยและบริวารออกไป แต่จำเลยเพิกเฉย ที่ดินพิพาทและสิ่งปลูกสร้างหากนำออกให้เช่าจะได้ค่าเช่าไม่น้อยกว่าเดือนละ 20,000 บาท ขอให้บังคับให้จำเลยและบริวารขนย้ายทรัพย์สินและส่งมอบที่ดินโฉนดเลขที่ 18563, 2637, 2660 และ 2684 ตำบลฝายแก้ว อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน พร้อมสิ่งปลูกสร้างคืนโจทก์กับให้จำเลยชำระค่าเสียหายเดือนละ 20,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยเข้าทำประโยชน์ในที่ดินของโจทก์ไม่ใช่ในฐานะผู้อาศัยแต่ในฐานะผู้เช่าตามสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าการเช่าธรรมดา โดยมีข้อตกลงพิเศษว่าจำเลยจะเป็นผู้ปลูกสร้างที่พักอาศัยและอาคารเก็บสินค้า ด้วยค่าใช้จ่ายของจำเลย จำเลยเริ่มก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างในปี 2532 แล้วเสร็จในปี 2533 และทำสัญญาเช่าฉบับแรกปี 2533 ต่อมาได้มีการต่ออายุสัญญาเช่ากันเป็นครั้งที่ 4 มีกำหนดระยะเวลาเช่า 3 ปี นับแต่วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2542 จนถึงวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2545 ค่าเช่าปีละ 120,000 บาท จำเลยได้ชำระค่าเช่าตามสัญญาครบถ้วนแล้วในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2542 ทั้งยังมีข้อตกลงให้ต่อสัญญาเช่าได้อีกหนึ่งครั้ง ๆ ละ 3 ปี จนครบกำหนด 15 ปี เริ่มก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างในปี 2532 แล้วเสร็จปี 2533 เป็นต้นมา จำเลยได้ชำระค่าเช่าทุกปี โจทก์ไม่เคยบอกเลิกสัญญาเช่า จึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่และไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษากลับให้จำเลยและบริวารออกจากที่ดินโฉนดเลขที่ 18563, 2637, 2660 และ 2684 ตำบลฝายแก้ว อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน และส่งมอบที่ดินกับสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินดังกล่าวคืนแก่โจทก์ ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายเดือนละ 10,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยและบริวารจะออกจากที่ดินและส่งมอบที่ดินกับสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินดังกล่าวคืนแก่โจทก์
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินพิพาทของโจทก์ แม้ตามคำฟ้องของโจทก์จะอ้างว่าให้เช่าได้เดือนละ 20,000 บาท แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 กำหนดค่าเสียหายให้เพียงเดือนละ 10,000 บาท โจทก์ไม่ได้ฎีกา จึงถือได้ว่าที่ดินพิพาทอาจให้เช่าได้ในขณะยื่นคำฟ้องไม่เกินเดือนละ 10,000 บาท คดีต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคสอง ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยอยู่ในที่ดินพิพาทในฐานะผู้เช่าจากโจทก์โดยจำเลยเป็นผู้สร้างบ้านพักและอาคารเก็บสินค้าบนที่ดินพิพาทด้วยค่าใช้จ่ายของจำเลยตามข้อตกลงที่จำเลยทำกับโจทก์ แล้วโจทก์ตกลงให้จำเลยเช่าที่ดินพิพาทมีกำหนด 15 ปี โดยทำสัญญาเช่าฉบับละ 3 ปี หนังสือสัญญาเช่าที่ดินเป็นสัญญาเช่าฉบับที่ 4 ครบกำหนดอายุการเช่า ปี 2545 จำเลยชำระค่าเช่าโดยหักจากค่าสินค้าที่โจทก์ค้างชำระจำเลย สัญญาเช่ายังไม่ครบกำหนด โจทก์นำคดีมาฟ้องโดยไม่มีการบอกเลิกสัญญาเช่านั้น เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ คงมีปัญหาข้อกฎหมายตามฎีกาของจำเลยประการเดียวว่าหน้าที่นำสืบข้อเท็จจริงว่า จำเลยมีสิทธิอยู่ในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทต่อไปตามหนังสือสัญญาเช่าที่ดิน ตกอยู่แก่ฝ่ายจำเลยหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทให้จำเลยอยู่อาศัย จำเลยให้การยอมรับว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ เท่ากับจำเลยยอมรับว่าได้เข้าไปอยู่อาศัยในที่ดินพิพาทแต่จำเลยอ้างเหตุไม่ต้องออกจากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทเนื่องจากอยู่ในฐานะผู้เช่าตามสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าการเช่าธรรมดาที่ตกลงให้จำเลยเป็นผู้ปลูกสร้างที่พักอาศัยและอาคารเก็บสินค้าด้วยค่าใช้จ่ายของจำเลยแล้วให้จำเลยทำสัญญาเช่าครั้งละ 3 ปี จนครบกำหนด 15 ปี เป็นการที่จำเลยยกข้อเท็จจริงขึ้นต่อสู้ใหม่ ภาระการพิสูจน์ที่จะนำสืบให้เห็นว่าเป็นจริงตามเหตุที่จำเลยอ้างว่า โจทก์ทำหนังสือสัญญาเช่าที่ดินพิพาทกับจำเลยจริง จึงตกแก่จำเลย เมื่อจำเลยนำสืบไม่ได้ว่าโจทก์กับจำเลยได้ทำสัญญาเช่าที่ดินพิพาทตามสัญญาเช่า จำเลยจึงไม่มีสิทธิอยู่ในที่ดินพิพาทที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาให้จำเลยออกจากที่ดินพิพาทและให้ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน