แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
เครื่องหมายการค้า ที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักรของโจทก์ร่วมกับเครื่องหมายการค้ารูปวัวแดง 2 ตัวชนกัน คือ เครื่องหมายการค้า ที่ถุงพลาสติกบรรจุยาฉุนที่จำเลยขายให้แก่ ร. และ จ. มีสาระลำคัญและลักษณะเด่นของเครื่องหมายการค้าอยู่ที่คำว่า “ยี่ห้อกีเส็ง” และคำว่า “ตราวัวชนกัน” กันรูปวัว 2 ตัว ชนกันเหมือนกัน เมื่อเครื่องหมายการค้าทั้งสองได้ใช้กับสินค้ายาฉุนซึ่งเป็นสินค้าชนิดเดียวกันแล้วย่อมเห็นได้ว่าเครื่องหมายการค้าทั้งสองนั้นคล้ายกันจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าและแหล่งกำเนิดของสินค้าได้ เมื่อฟ้องโจทก์กล่าวหาว่าจำเลยเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วมที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักร โจทก์และโจทก์ร่วมจึงต้องมีหน้าที่นำสืบให้เห็นว่าจำเลยได้กระทำความผิด แต่โจทก์และโจทก์ร่วมไม่มีพยานหลักฐานใดมาพิสูจน์ว่าจำเลยเป็นผู้กระทำการเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วมที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักร จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานนี้
การที่จำเลยจำหน่ายยาเส้นภายใต้เครื่องหมายการค้ารูปวัว 2 ตัวชนกัน คือเครื่องหมายการค้า เป็นการจำหน่ายสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้า ซึ่งปู่จำเลยเป็นผู้คิดขึ้นและใช้กับตัวสินค้ายาเส้นมาตั้งแต่ปี 2490 ก่อนที่โจทก์ร่วมจะได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2536 ถึงประมาณ 46 ปี และเป็นการที่จำเลยใช้เครื่องหมายการค้า ที่บิดาจำเลยซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมคนหนึ่งของปู่จำเลยได้รับมรดกสิทธิในเครื่องหมายการค้านั้น และไม่ปรากฏว่าบิดาจำเลยและ ส. ป้าจำเลยทายาทอีกคนหนึ่งได้ห้ามจำเลยมิให้ใช้เครื่องหมายการค้านั้นแต่อย่างใด การที่จำเลยจำหน่ายยาเส้นภายใต้เครื่องหมายการค้า จึงมิใช่การจำหน่ายสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าที่เลียนเครื่องหมายการค้า ของโจกท์ร่วมที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักร การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้าฯ มาตรา 110 (1) ประกอบมาตรา 109
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 91, 271, 272, 274 และ 275 ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 4, 109 และ 110 ริบของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณานางมันทนา ศันสนีย์ชีวิน ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งอนุญาต
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องของกลางคืนเจ้าของ
โจทก์ร่วมอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “ข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 271 ซึ่งมีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ กับมาตรา 272 (1) มาตรา 274 และมาตรา 275 ประกอบมาตรา 272 (1) และ 274 ซึ่งมีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 2,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เป็นข้อหาความผิดอาญาที่มีอัตราโทษอย่างสูงตามที่กฎหมายกำหนดไว้ให้จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โจทก์ร่วมอุทธรณ์ว่า พยานหลักฐานฟังได้ว่าจำเลยกระทำความผิดตามบทกฎหมายมาตราดังกล่าวซึ่งเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงจึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 39 ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่รับวินิจฉัย คงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมเพียงว่า จำเลยกระทำความผิดฐานเลียนเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักรของโจทก์ร่วม และจำหน่ายสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าที่เลียนเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนของโจทก์ร่วมตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 109 และมาตรา 110 (1) ประกอบมาตรา 109 หรือไม่
ปัญหาว่า จำเลยกระทำความผิดฐานเลียนเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักรของโจทก์ร่วมหรือไม่นั้น ข้อเท็จจริงที่โจทก์ร่วมและจำเลยไม่โต้แย้งกันรับฟังได้ว่า โจทก์ร่วมได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า กับสินค้าจำพวกที่ 34 ได้แก่ สินค้ายาฉุน ต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญาเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2536 ตามหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าทะเบียนเลขที่ ค23103 เอกสารหมาย ป.จ.1 เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2541 จำเลยขายยาฉุนที่บรรจุในถุงพลาสติกซึ่งมีเครื่องหมายชื่อ ยี่ห้อกีเส็ง ตราวัวแดง 2 ตัวชนกัน คือ เครื่องหมาย ตามถุงพลาสติกวัตถุพยานหมาย ป.จ.10 ได้แก่ นางรพีพร บุราสิทธิ์ จำนวน 20 ลัง เป็นเงิน 11,600 บาท และขายให้แก่นายจำรูญ บาริศรี จำนวน 100 ลัง เป็นเงิน 55,000 บาท เห็นว่า เครื่องหมายการค้า ที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักรของโจทก์ร่วมกับเครื่องหมายการค้ารูปวัวแดง 2 ตัวชนกัน คือเครื่องหมายการค้า ที่ถุงพลาสติกบรรจุยาฉุนที่จำเลยขายให้แก่นางรพีพรและนายจำรูญดังกล่าวมีสาระสำคัญและลักษณะเด่นของเครื่องหมายการค้าอยู่ที่คำว่า “ยี่ห้อกีเส็ง” และคำว่า “ตราวัวชนกัน” กับรูปวัว 2 ตัวชนกันเหมือนกัน เมื่อเครื่องหมายการค้าทั้งสองได้ใช้กับสินค้ายาฉุนซึ่งเป็นสินค้าชนิดเดียวกันแล้ว ย่อมเป็นที่เห็นได้ว่าเครื่องหมายการค้าทั้งสองนั้นคล้ายกันอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าและแหล่งกำเนิดของสินค้าได้ เมื่อตามฟ้องโจทก์กล่าวหาว่าจำเลยเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วมที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักร โจทก์และโจทก์ร่วมจึงมีหน้าที่ต้องนำสืบให้เห็นว่าจำเลยได้กระทำความผิดดังกล่าว แต่โจทก์และโจทก์ร่วมไม่มีพยานหลักฐานใดมาพิสูจน์ข้อเท็จจริงว่าจำเลยป็นผู้กระทำการเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วมได้จดทะเบียนดังกล่าวแต่อย่างใด ข้อเท็จจริงจึงรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยเป็นผู้กระทำการเลียนเครืองหมายการค้าของโจทก์ร่วมที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักรอันเป็นความผิดฐานนี้
ส่วนปัญหาว่า จำเลยมีความผิดฐานจำหน่ายสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าที่เลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วมที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักรหรือไม่ ปัญหานี้โจทก์และโจทก์ร่วมมีตัวโจทก์ร่วมมาเบิกความว่า โจทก์ร่วมประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายยาฉุนหรือยาเส้น โดยใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า “ยี่ห้อกีเส็ง” และคำว่า “ตราวัวชนกัน” กับรูปวัว 2 ตัวชนกัน คือ เครืองหมายการค้า ซึ่งโจทก์ร่วมได้รับการจดทะเบียนเป็นเจ้าของไว้กับสินค้าจำพวกที่ 34 ได้แก่ สินค้ายาฉุน เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2536 ตามหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ ค23103 เอกสารหมาย ป.จ.1 ต่อมาเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2541 นายจำรูญ บาริศรี ลูกค้าโจทก์ร่วมโทรศัพท์มาบอกโจกท์ร่วมว่าเหตุใดสินค้าจากโรงงานของโจทก์ร่วมจึงมีคุณภาพต่ำ ขายไม่ออก ผู้เสพจะบ่นว่ายาสูบไม่มีรสชาติ โจทก์ร่วมจึงเดินทางไปที่บ้านของนายจำรูญที่จังหวัดบุรีรัมย์ นายจำรูญนำยาเส้นมาให้โจทก์ร่วมตรวจดู โจทก์ร่วมตรวจดูแล้วพบว่าเป็นสินค้าปลอม นายจรูญแจ้งว่าซื้อยาสูบดังกล่าวมาจากจำเลยเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2541 จำนวน 100 ลัง ลังละ 550 เป็นเงินทั้งสิ้น 45,000 บาท โดยจำเลยอ้างว่าได้ยาเส้นนั้นมาจากโรงงานของโจทก์ร่วมที่จังหวัดกาญจนบุรี ยาเส้นดังกล่าวสกปรก ไม่มีการปรุงแต่งตามหลักวิชาการ รสชาติฝาดขม ไม่สามารถใช้สูบได้ ถุงพลาสติกที่ใช้บรรจุแตกต่างจากของจริง แต่เครื่องหมายการค้าที่ถุงพลาสติกนั้นเหมือนกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วม เพียงแต่ลายเล้นและสีของรูปวัวชนกันไม่ชัดเจน และตราสัญลักษณ์ของผู้ผลิตไม่ปรากฏอยู่ด้วย ปรากฏตามภาพถ่ายเครื่องหมายการค้า หมาย ป.จ.3 คำเบิกความของโจทก์ร่วมดังกล่าวมีนายจำรูญมาเบิกความสนับสนุนสอดคล้องต้องกัน นอกจากนี้โจทก์และโจทก์ร่วมมีนางรพีพร บุรสิทธิมาเบิกความสนับสนุนว่า เมื่อวันที่เท่าใดจำไม่ได้เดือนมิถุนายน 2541 เวลาช่วงสายขณะที่พยานอยู่ที่ร้านค้าของเบ็ดเตล็ดรวมทั้งยาเส้น จำเลยขับรถยนต์กระบะมาถามพยานว่าจะซื้อยาเส้นหรือไม่ พยานต้องการ จึงตกลงซื้อยาเส้นจากจำเลย จำเลยขายยาเส้นบรรจุถุงพลาสติกที่มีเครื่องหมายการค้ายี่ห้อวัวแดง 2 ตัว หันหน้าชนกันเช่นเดียวกันกับที่จำเลยขายให้นายจำรูญรวม 20 ลัง เป็นเงิน 11,600 บาท ส่วนจำเลยนำสืบโดยมีตัวจำเลยและนางสาวสุจินต์ ศันสนีย์ชีวิน ป้าจำเลยซึ่งเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกับบิดาจำเลยมาเบิกความว่า โจทก์ร่วมเป็นน้องมารดาจำเลยและต่อมาเมื่อมารดาจำเลยถึงแก่ความตาย โจทก์ร่วมก็ได้อยู่กินฉันสามีภริยากับบิดาจำเลย เดิมครอบครัวของจำเลยซึ่งมีปู่ ย่า บิดาจำเลยและนางสาวสุจินต์มีภูมิลำเนาอยู่ที่ท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี และเมื่อประมาณปี 2490 จึงย้ายไปอยู่ที่อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี ประกอบอาชีพค้าขายยาเส้น ปู่ย่าจำเลยและนางสาวสุจินต์เป็นผู้ริเริ่มค้าขายยาเส้นโดยใช้เครื่องหมายการค้า 7 เครื่องหมาย คือ เครื่องหมายตราวัวแดง ตราวัวแดง 2 ตัวชนกัน ตราปูคู่ ตราหมาจู ตราหมี ตรากิเลน และตราปลา ต่อมาบิดาจำเลยก็ได้ช่วยค้าขายยาเส้นดังกล่าวด้วย ภายหลังเกิดเหตุเพลิงไหม้ตลาดบินทร์บุรีและบ้านของปู่และย่าจำเลยถูกเพลิงไหม้ไปด้วยจึงย้ายครอบครัวไปที่อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี ส่วนโกดังที่อำเภอกบินทร์บุรี ย่าจำเลยและนางสาวสุจินต์ดูแลและจำหน่ายยาเส้นที่อำเภอกบินทร์บุรีกับละแวกใกล้เคียงโดยมีการผลิตยาเส้นที่อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี ส่งมาขายที่อำเภอกบินทร์บุรี เมื่อปู่และย่าจำเลยถึงแก่ความตายแล้ว บิดาจำเลยและโจทก์ร่วมเข้าดูแลกิจการยาเส้นที่อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรีแทน ต่อมามีการขยายตลาดยาเส้นในภาคอีสานแถบจังหวัดนครราชสีมา สุรินทร์ ศรีสระเกษ อุบลราชธานี และบุรีรัมย์โดยจำเลยเป็นผู้ดำเนินการจำหน่าย และจำเลยได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้ายาเส้นของจำเลยเองเป็นตราเสือคู่ แต่จำเลยก็ยังจำหน่ายยาเส้นของบิดาจำเลยภายใต้เครื่องหมายการค้ารูปวัวแดง 2 ตัวชนกันด้วย นอกจากนี้นางสุจินต์เบิกความตอบทนายโจทก์ร่วมถามค้านว่า เครื่องหมายการค้าตราวัวชนกัน ซึ่งมีคำว่า “กีเส็ง” กำกับอยู่ด้วยนั้น นายชูปู่จำเลยเป็นผู้คิดขึ้น คำว่า กีเส็ง และเครื่องหมายการค้าต่างๆ ไม่ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้ เห็นว่า โจทก์และโจทก์ร่วมมิได้นำสืบพยานหลักฐานอื่นใดหักล้างพยานหลักฐานของจำเลยดังกล่าว โจทก์และโจทก์ร่วมคงนำสืบแต่เพียงว่า โจทก์ร่วมประกอบกิจการผลิตและจำหน่ายยาฉุนโดยใช้เครื่องหมายการค้า ซึ่งได้รับการจดทะเบียนไว้กับสินค้ายาฉุนเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2536 ไม่ปรากฏว่าโจทก์ร่วมได้คิดเครื่องหมายการค้ายี่ห้อกีเส็งตราวัวชนกันดังกล่าวขึ้นมาเองหรือได้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวมาอย่างไร ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ตามพยานหลักฐานของจำเลยว่า โจทก์ร่วมเป็นบุคคลในครอบครัวเดียวกันกับจำเลยโดยโจทก์ร่วมเป็นน้องมารดาจำเลย เมื่อมารดาจำเลยถึงแก่ความตาย โจทก์ร่วมก็ได้อยู่กินฉันสามีภริยากับบิดาจำเลย ปู่ย่าและบิดาจำเลยกับนางสุจินต์ป้าจำเลยประกอบอาชีพค้าขายยาเส้นมาตั้งแต่ปี 2490 โดยปู่จำเลยเป็นผู้คิดเครื่องหมายการค้าตราวัวแดง 2 ตัวชนกัน และมีคำว่า “กีเส็ง” กำกับอยู่และนำมาใช้กับสินค้ายาเส้นโดยยังไม่ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้น เมื่อปู่และย่าจำเลยถึงแก่ความตายแล้ว บิดาจำเลยและโจทก์ร่วมเข้าดูแลกิจการยาเส้นที่อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรีแทน ต่อมามีการขยายตลาดยาเส้นในภาคอีสาน โดยจำเลยเป็นผู้ดำเนินการจำหน่าย และจำเลยได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้ายาเส้นของจำเลยเป็นตราเสือคู่ แต่จำเลยก็ยังจำหน่ายยาเส้นของบิดาจำเลยภายใต้เครื่องหมายการค้ารูปวัวแดง 2 ตัวชนกันด้วย ดังนี้ การที่จำเลยจำหน่ายยาเส้นภายใต้เครื่องหมายการค้ารูปวัวแดง 2 ตัวชนกัน คือเครื่องหมายการค้า จึงเป็นการจำหน่ายสินค้าที่มีเครื่องหมายการ ซึ่งปู่จำเลยเป็นผู้คิดขึ้นและใช้กับสินค้ายาเส้นมาตั้งแต่ปี 2490 ก่อนที่โจทก์ร่วมจะได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2536 ถึงประมาณ 46 ปี และเป็นการที่จำเลยใช้เครื่องหมายการค้า ที่บิดาจำเลยซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมคนหนึ่งของปู่จำเลยได้รับมรดกสิทธิในเครื่องหมายการค้านั้น และไม่ปรากฏว่าบิดาจำเลยและนางสุจินต์ป้าจำเลยทายาทอีกคนหนึ่ง ได้ห้ามจำเลยมิให้ใช้เครื่องหมายการค้านั้นแต่อย่างใด การที่จำเลยจำหน่ายยาเส้นภายใต้เครื่องหมายการค้า จึงมิใช่การจำหน่ายสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าที่เลียนเครื่องหมายการค้า ของโจทก์ร่วมที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักร การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 110 (1) ประกอบมาตรา 109 ตามที่โจทก์ฟ้อง ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ของโจทก์ร่วมทุกข้อฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน