คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2575/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 118 วรรคสอง บัญญัติว่า “การเลิกจ้างตามมาตรานี้หมายความว่า การกระทำใดที่นายจ้างไม่ให้ลูกจ้างทำงานต่อไปและไม่จ่ายค่าจ้างให้ ไม่ว่าจะเป็นเพราะเหตุสิ้นสุดสัญญาจ้างหรือเพราะเหตุอื่นใด และหมายความรวมถึงกรณีที่ลูกจ้างไม่ได้ทำงานและไม่ได้รับค่าจ้างเพราะเหตุที่นายจ้างไม่ดำเนินกิจการต่อไป” ดังนั้น การจะวินิจฉัยว่ามีการเลิกจ้างแล้วหรือไม่จึงต้องพิจารณาถึงการกระทำของนายจ้างประกอบด้วย จะพิจารณาเพียงว่ามีการบอกกล่าวเลิกจ้างด้วยวาจาหรือเลิกจ้างเป็นหนังสือแล้วหรือไม่ ย่อมไม่ได้
ธ. ประธานกรรมการบริหารของจำเลยแจ้งในที่ประชุมว่าขอให้โจทก์ลาออกโดยจะให้ค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้าง 3 เดือน และให้เวลาโจทก์ปรึกษากับครอบครัวก่อน 3 วัน แต่ในวันเดียวกันนั้นเอง ธ. ขอรถยนต์ประจำตำแหน่งที่โจทก์ใช้อยู่คืน โดยในช่วงระยะเวลา 3 วันนี้โจทก์ไม่ต้องไปทำงาน ซึ่งหาก ธ. ยังให้โอกาสโจทก์ตัดสินใจเสียก่อนดังที่แจ้งต่อโจทก์ ก็ไม่มีเหตุผลใดที่ต้องเรียกเอารถประจำตำแหน่งคืนเสียตั้งแต่วันนั้น และไม่มีเหตุผลใดที่จะให้โจทก์หยุดทำงาน การกระทำของ ธ. มีลักษณะไม่ยอมให้โจทก์ทำงานให้จำเลยอีก ถือได้ว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ตั้งแต่วันที่เรียกเอารถประจำตำแหน่งคืนจากโจทก์แล้ว หาใช่วันที่จำเลยคัดชื่อโจทก์ออกจากการเป็นพนักงานของจำเลยอันเป็นระยะเวลาหลังจากนั้นไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2526 บริษัทแพนเอเซีย ฟุตแวร์ จำกัด ได้จ้างโจทก์ทำงานในตำแหน่งผู้จัดการโรงงาน ต่อมาบริษัทอินเตอร์เนชั่นแนล เลเธอร์แฟชั่น จำกัด ได้รับโอนโจทก์ไปเป็นลูกจ้างตำแหน่งกรรมการโดยนับอายุงานต่อเนื่องและได้โอนไปทำงานที่บริษัทอินเตอร์เนชั่นแนล คอสเมติกส์ จำกัด (มหาชน) ในตำแหน่งผู้จัดการส่วนพัฒนาธุรกิจรองเท้าอีกแห่งหนึ่ง โดยนับอายุงานต่อเนื่อง ในปี 2531 บริษัทแพนเอเซียฟุตแวร์ จำกัด ได้รับโอนโจทก์ไปเป็นลูกจ้างตำแหน่งกรรมการ และโอนย้ายจากบริษัทอินเตอร์เนชั่นแนล คอสเมติกส์ จำกัด (มหาชน) ไปยังบริษัทบางกอกรับเบอร์ จำกัด (มหาชน) ตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายการค้าระหว่างประเทศ โดยนับอายุงานต่อเนื่องทั้งสองบริษัท ต่อมาในปี 2537 เดือนตุลาคมได้โอนย้ายจากบริษัทแพนเอเชียฟุตแวร์ จำกัด ไปทำงานที่บริษัทสหรัตนนคร จำกัด ตำแหน่งกรรมการ โดยนับอายุงานต่อเนื่องทั้งสามบริษัท ในปี 2542 ในส่วนบริษัทสหรัตนนคร จำกัด ได้มีการโอนให้ไปทำงานที่บริษัทจำเลย ตำแหน่งรองประธานกรรมการ โดยนับอายุงานต่อเนื่อง ในเดือนพฤศจิกายน 2543 บริษัทบางกอกรับเบอร์ จำกัด (มหาชน) บังคับให้เขียนใบสมัครใหม่ และให้โอนย้ายไปบริษัทจำเลยโดยนับอายุงานต่อเนื่อง เดือนกุมภาพันธ์ 2545 บริษัทแพนเอเซียฟุตแวร์ จำกัด (มหาชน) ได้ทำหนังสือโอนย้ายไปที่บริษัทจำเลย แต่จำเลยไม่ยอมรับโอน และบริษัทแพนเอเซียฟุตแวร์ จำกัด (มหาชน) ระงับการจ่ายเงินเดือนให้โจทก์ โจทก์จึงถือว่าครั้งสุดท้ายโจทก์เป็นลูกจ้างจำเลย (เริ่ม 1 สิงหาคม 2526 ถึงวันที่ 21 กันยายน 2545) ตำแหน่งกรรมการรองผู้อำนวยการ ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 80,000 บาท กำหนดจ่ายทุกวันที่ 20 ของเดือน ต่อมาวันที่ 21 กันยายน 2545 จำเลยเลิกจ้างโจทก์ด้วยวาจา โดยโจทก์ไม่ได้กระทำความผิด ถือว่าเป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม ทำให้โจทก์เสียหายขาดรายได้ประจำ ขอคิดค่าเสียหายเป็นเงิน 8,000,000 บาท โจทก์ทำงานติดต่อกันมา 19 ปี มีสิทธิได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 300 วัน คิดเป็นเงิน 800,000 บาท และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 60 วัน คิดเป็นเงิน 160,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 160,000 บาท ค่าชดเชยจำนวน 800,000 บาท ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม จำนวน 8,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของเงินสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหายนับแต่วันฟ้อง และอัตราร้อยละ 15 ต่อปีของเงินค่าชดเชยนับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า เมื่อประมาณกลางปี 2542 โจทก์มาขอทดลองปฏิบัติงานกับจำเลย มิได้มีฐานะเป็นลูกจ้าง ในที่สุดโจทก์สมัครเข้าทำงานเป็นลูกจ้างของจำเลยเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2543 จำเลยตกลงจ่ายค่าจ้างเดือนละ 80,000 บท โจทก์เริ่มทำงานเป็นลูกจ้างของจำเลยตั้งแต่วันดังกล่าวเป็นต้นมา โดยจำเลยไม่ได้ตกลงรับโอนอายุการทำงานของโจทก์มาจากบริษัทต่างๆ ตามที่โจทก์ฟ้อง การจ่ายเงินเดือนจำเลยจะประกาศกำหนดวันจ่ายตามระเบียบข้อบังคับการทำงานของจำเลย แต่คิดคำนวณค่าจ้างถึงวันสิ้นเดือนของทุกๆ เดือน จึงถือว่ามีกำหนดจ่ายทุกวันสิ้นเดือน เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2545 จำเลยมิได้เลิกจ้างโจทก์ แต่มีคำสั่งให้โจทก์พ้นจากตำแหน่งรองผู้อำนวยการทำหน้าที่กำกับดูแลธุรกิจต่างๆ ของจำเลยและพ้นจากหน้าที่อื่นตามที่จำเลยมอบหมาย และมีคำสั่งให้โจทก์เข้ามาปฏิบัติงานที่สำนักงานกรุงเทพมหานครทำหน้าที่บริหารงานทั่วไปตั้งแต่วันดังกล่าว เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมา ผลการประกอบการในธุรกิจที่จำเลยมอบหมายให้โจทก์กำกับดูแลและบริหารลดต่ำลง โจทก์ไม่ทุ่มเทเวลาทำงาน ละทิ้งหน้าที่และปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่อจนอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่จำเลย โจทก์ขอเวลาในการพิจารณาคำสั่งดังกล่าว 3 วัน หลังจากครบ 3 วันแล้ว โจทก์มิได้มาปฏิบัติงานกับจำเลย โดยโจทก์ขาดงานไปตั้งแต่วันที่ 26 กันยายน 2545 เป็นการละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา 3 วันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร จำเลยจึงคัดชื่อโจทก์ออกจากการเป็นลูกจ้างและงดจ่ายค่าจ้างตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2545 เป็นต้นไปตามระเบียบข้อบังคับการทำงานของจำเลย ถือไม่ได้ว่าเป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลย จำเลยไม่ต้องรับผิดจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องมาสูงเกินส่วน โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยเพียง 1 ปี 10 เดือน หากมีสิทธิได้รับค่าชดเชยก็เพียง 240,000 บาท และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าก็ไม่เกินค่าจ้าง 1 เดือนเท่านั้น ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ประกอบธุรกิจหอพัก สิ่งแวดล้อม ขนส่งรถเช่า น้ำดื่มและพัฒนาที่ดิน มีกรรมการและกรรมการผู้มีอำนาจตามหนังสือรับรองเอกสารหมาย จ.1 คณะกรรมการโจทก์ (ที่ถูกน่าจะเป็นคณะกรรมการจำเลย) ได้มอบหมายให้นางธีรนาฎ โชควัฒนา เป็นประธานกรรมการบริหาร มีอำนาจในการบริหารงานต่างๆ ของจำเลยรวมตลอดถึงการจ้างและเลิกจ้างพนักงาน จำเลยเป็นบริษัทหนึ่งในบริษัทกลุ่มแพน บริษัทในกลุ่มแพนมีอยู่ประมาณ 60 บริษัท รวมทั้งบริษัทแพนเอเซียฟุตแวร์ จำกัด (มหาชน) บริษัทสหรัตนนคร จำกัด และบริษัทบางกอกรับเบอร์ จำกัด (มหาชน) ตามที่ปรากฏรายชื่อบริษัทในเอกสารหมาย จ.2 บริษัทในกลุ่มแพนจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลต่างหากจากกัน มีกรรมการและกรรมการผู้มีอำนาจกระทำแทนบริษัทต่างกัน แต่กรรมการในบริษัทหนึ่งอาจเป็นกรรมการในอีกบริษัทหนึ่งในกลุ่ม บริษัทในกลุ่มแพนนี้มีนายณรงค์ โชควัฒนา สามีของนางธีรนาฎเป็นประธานกรรมการบริหาร เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2526 โจทก์เข้าเป็นลูกจ้างของบริษัทแพนเอเซียฟุตแวร์ จำกัด (มหาชน) และได้ย้ายไปทำงานในบริษัทต่างๆ ในกลุ่มแพนอีกหลายบริษัทรวมทั้งบริษัทสหรัตนนคร จำกัด และบริษัทบางกอกรับเบอร์ จำกัด (มหาชน) สุดท้ายทำงานเป็นลูกจ้างของจำเลยในตำแหน่งกรรมการรองผู้อำนวยการ ได้รับค่าจ้างเดือนละ 80,000 บาท ต่อมาวันที่ 21 กันยายน 2545 โจทก์เข้าร่วมประชุมกับนางธีรนาฎและนายเผด็จ สรงประภา รองผู้อำนวยการอีกคนหนึ่ง นางธีรนาฎแจ้งโจทก์ว่า ทัศนคติในการทำงานไม่ตรงกัน ไม่สามารถทำงานร่วมกันได้ ให้โจทก์ลาออกจะให้ค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้าง 3 เดือน และให้เวลาโจทก์ปรึกษากับครอบครัวก่อน 3 วัน ในวันดังกล่าวนางธีรนาฎขอรถประจำตำแหน่งที่โจทก์ใช้อยู่คืน และในช่วงระยะเวลา 3 วันดังกล่าว โจทก์ไม่ต้องไปทำงาน หลังจากครบกำหนดระยะเวลา 3 วันแล้ว โจทก์ไม่ได้เข้าไปปฏิบัติงานให้จำเลยอีก จำเลยจึงคัดชื่อโจทก์ออกจากการเป็นพนักงานของจำเลยตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2545 เป็นต้นไป ปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์มีว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์ตั้งแต่วันที่ 21 กันยายน 2545 แล้วหรือไม่ พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 วรรคสอง บัญญัติว่า “การเลิกจ้างตามมาตรานี้หมายความว่า การกระทำใดที่นายจ้างไม่ให้ลูกจ้างทำงานต่อไปและไม่จ่ายค่าจ้างให้ ไม่ว่าจะเป็นเพราะเหตุสิ้นสุดสัญญาจ้างหรือเหตุอื่นใด และหมายความรวมถึงกรณีลูกจ้างไม่ได้ทำงานและไม่ได้รับค่าจ้างเพราะเหตุที่นายจ้างไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไป” ดังนั้น การที่จะวินิจฉัยว่ามีการเลิกจ้างแล้วหรือไม่ จึงต้องพิจารณาถึงการกระทำของนายจ้างประกอบด้วย จะพิจารณาเพียงว่ามีการบอกกล่าวเลิกจ้างด้วยวาจาหรือเลิกจ้างเป็นหนังสือแล้วหรือไม่ ย่อมไม่ได้ คดีนี้แม้ในการประชุมกับนางธีรนาฎจะขอให้โจทก์ลาออกโดยจะให้ค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้าง 3 เดือน และให้เวลาโจทก์ปรึกษากับครอบครัวก่อน 3 วัน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าในการประชุมนั้นนางธีรนาฎยังให้โอกาสโจทก์ตัดสินใจเสียก่อนว่าจะยอมลาออกตามความประสงค์ของนางธีรนาฎหรือไม่ก่อนที่นางธีรนาฎจะมีคำสั่งอย่างหนึ่งอย่างใดต่อไป แต่ข้อเท็จจริงหาได้มีเพียงเท่านี้ไม่กลับปรากฏว่าในวันดังกล่าวนั้งเองนางธีรนาฎขอรถยนต์ประจำตำแหน่งที่โจทก์ใช้อยู่คืนโดยในช่วงระยะเวลา 3 วันนี้โจทก์ไม่ต้องไปทำงาน ซึ่งหากนางธีรนาฎยังให้โอกาสโจทก์ตัดสินใจเสียก่อนดังที่แจ้งโจทก์ในที่ประชุมกันก็ไม่มีเหตุผลใดที่ต้องเรียกเอารถประจำตำแหน่งคืนเสียแต่วันนั้น และไม่มีเหตุผลใดที่จะให้โจทก์หยุดทำงาน การกระทำของนางธีรนาฎมีลักษณะไม่ยอมให้โจทก์ทำงานให้จำเลยอีกมิได้ให้โอกาสโจทก์ดังที่กล่าวในที่ประชุม พฤติการณ์ของนางธีรนาฎถือได้ว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ตั้งแต่วันที่ 21 กันยายน 2545 อันเป็นวันที่เรียกเอารถประจำตำแหน่งคืนจากโจทก์แล้ว หาใช่เพิ่งเลิกจ้างโจทก์นับแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2545 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยคัดชื่อโจทก์ออกจากการเป็นพนักงานของจำเลยไม่ ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าจำเลยมิได้เลิกจ้างโจทก์ตั้งแต่วันที่ 21 กันยายน 2545 ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ส่วนปัญหาว่าโจทก์มีสิทธิเรียกร้องสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมจากจำเลยหรือไม่เพียงใจนั้น จำต้องอาศัยข้อเท็จจริงซึ่งศาลแรงงานกลางยังมิได้วินิจฉัยมาให้ครบถ้วน จึงต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยเสียก่อน”
พิพากษายกคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง ให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยในประเด็นที่ยังมิได้วินิจฉัยแล้วพิพากษาไปตามรูปคดี

Share