แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ตาม พ.ร.บ.ศุลกากรฯ มาตรา 112 จัตวา วรรคสาม กำหนดให้เงินเพิ่มถือเป็นเงินอากร และตาม ป.รัษฎากรฯ มาตรา 89/2 กำหนดให้เงินเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม เงินเพิ่มดังกล่าวจึงมิใช่ดอกเบี้ยหรือค่าฤชาธรรมเนียมตาม ป.พ.พ. มาตรา 329 วรรคหนึ่ง และมาตราดังกล่าวก็มิใช่บทกฎหมายใกล้เคียงที่จะนำมาปรับใช้แก่คดีนี้ โจทก์จึงไม่อาจนำเงินค้ำประกันมาหักชำระหนี้เงินเพิ่มก่อน กรณีเป็นเรื่องลูกหนี้ต้องผูกพันต่อเจ้าหนี้ในอันจะกระทำการเพื่อชำระหนี้เป็นการอย่างเดียวกันโดยมูลหนี้หลายราย หนี้ถึงกำหนดชำระพร้อมกันหนี้สินรายที่ตกหนักที่สุดแก่ลูกหนี้ย่อมได้รับการปลดเปลื้องไปก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 328 วรรคสอง โจทก์ต้องนำเงินค้ำประกันมาชำระค่าอากร และภาษีมูลค่าเพิ่มก่อน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระเงินอากรขาเข้า เงินเพิ่มอากร ภาษีมูลค่าเพิ่ม เงินเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม รวมเป็นเงิน 455,676.90 บาท แก่โจทก์ พร้อมเงินเพิ่มอากรในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือนหรือเศษของเดือน ของเงินค่าอากรค้างชำระจำนวน 104,590 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยชำระเงินเพิ่มค่าอากรและเงินเพิ่มค่าภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นเงินรวม 389,834 บาท แก่โจทก์ทั้งสอง คำขอของโจทก์นอกจากนี้ให้ยก
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เจ้าพนักงานของโจทก์ที่ 1 มีหนังสือแจ้งการประเมินให้จำเลยชำระอากรขาเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่มพร้อมเงินเพิ่ม แต่จำเลยมิได้นำเงินมาชำระ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้ค้ำประกันจึงนำเงินจำนวน 885,000 บาท มาชำระให้โจทก์ที่ 1 เมื่อหักชำระเงินภาษีอากรและเงินเพิ่มแล้ว จำเลยยังค้างชำระเงินอากรขาเข้าจำนวน 104,590 บาท และภาษีมูลค่าเพิ่มจำนวน 285,244 บาท จำเลยจึงต้องรับผิดชำระเงินอากรขาเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่มแต่ละจำนวนดังกล่าวให้แก่โจทก์ มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองว่า ที่ศาลภาษีอากรกลางให้นำเงินที่ผู้ค้ำประกันนำมาชำระไปหักหนี้ค่าภาษีก่อนเป็นการชอบหรือไม่ เห็นว่า เงินเพิ่มตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 112 จัตวา วรรคสาม ให้ถือเป็นเงินอากรและเงินเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 89/2 แห่งประมวลรัษฎากร ให้ถือเป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม เงินเพิ่มดังกล่าวจึงมิใช่ดอกเบี้ยหรือค่าฤชาธรรมเนียมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 329 วรรคหนึ่ง ทั้งบทมาตราดังกล่าวหาใช่บทกฎหมายใกล้เคียงที่จะนำมาปรับใช้แก่คดีนี้ดังที่โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ไม่ โจทก์ทั้งสองไม่อาจนำเงินที่ผู้ค้ำประกันชำระมาหักชำระหนี้เงินเพิ่มค่าภาษีก่อน กรณีเป็นเรื่องลูกหนี้ต้องผูกพันต่อเจ้าหนี้ในอันจะกระทำการเพื่อชำระหนี้เป็นการอย่างเดียวกันโดยมูลหนี้หลายราย หนี้ถึงกำหนดชำระพร้อมกัน หนี้สินรายที่ตกหนักที่สุดแก่ลูกหนี้ย่อมได้รับปลดเปลื้องไปก่อนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 328 วรรคสอง ที่ศาลภาษีอากรกลางให้นำเงินประกันมาชำระค่าอากรและภาษีมูลค่าเพิ่มก่อนชอบแล้ว”
พิพากษายืน