คำวินิจฉัยที่ 23/2547

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๒๓/๒๕๔๗

วันที่ ๑๓ พฤษภาคม ๒๕๔๗

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองพ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง

ศาลแพ่ง
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลแพ่งส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีที่คู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งเขตอำนาจของศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและรับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
นายอำนวย เกียรติดอนเมือง เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายอานพ อัศววุฒิพงษ์ ที่ ๑พันตำรวจโท สุพจน์ ฟักแฟงหรือฟักแฟ ที่ ๒ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ ๓ จำเลย ต่อศาลแพ่งเป็นคดีหมายเลขดำที่ ๑๐๐๕/๒๕๔๖ ความว่า จำเลยทั้งสามได้ร่วมกันกระทำละเมิดต่อโจทก์ ทำให้ได้รับความเสียหาย กล่าวคือ จำเลยที่ ๒ ในฐานะส่วนตัวและฐานะของพนักงานสอบสวนคดีอาญาตามอำนาจหน้าที่และตามคำสั่งของจำเลยที่ ๓ ทำการจับกุมคุมขังโจทก์ ตามคำร้องทุกข์ของจำเลยที่ ๑ ที่กล่าวหาว่าโจทก์กระทำความผิดในคดีอาญาและส่งสำนวนการสอบสวนให้พนักงานอัยการดำเนินการฟ้องโจทก์เป็นจำเลยในข้อหาปล้นทรัพย์ต่อศาลอาญา
ต่อมา จำเลยที่ ๑ ร่วมกับจำเลยที่ ๒ โดยคำสั่งของจำเลยที่ ๓ ได้ร่วมกันยึดทรัพย์สินของโจทก์ อันประกอบด้วย เงินสดจำนวน ๒๐๐,๐๐๐ บาท และรถตู้พร้อมสมุดจดทะเบียนรถยนต์ตู้หมายเลขทะเบียน ๓ฝ-๙๖๗๓ กรุงเทพมหานคร นำไปขายแก่บุคคลภายนอกเป็นเงิน ๓๙๘,๐๐๐ บาท แล้วนำเงินทั้งสองจำนวนดังกล่าวมอบแก่จำเลยที่ ๑ โดยโจทก์มิได้ให้ความยินยอม ภายหลังศาลอาญาได้มีคำพิพากษาเป็นคดีหมายเลขแดงที่ ๓๔๗๓/๒๕๔๕ ลงวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๔๕ ว่า จำเลยที่ ๒ (โจทก์ในคดีนี้) ไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้อง จึงพิพากษาให้ยกฟ้อง ฉะนั้น การกระทำของจำเลยทั้งสามดังกล่าวจึงเป็นละเมิดทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนเงินและรถยนต์แก่โจทก์ หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทน พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ให้การต่อสู้คดีและยื่นคำร้องว่าคดีนี้ในส่วนของจำเลยที่ ๒และที่ ๓ อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลแพ่งพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การที่จำเลยที่ ๒ ในฐานะพนักงานสอบสวนยึดทรัพย์สินของโจทก์ซึ่งเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญาเป็นของกลางกับตรวจคืนแก่จำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นผู้เสียหาย เป็นการดำเนินการตามอำนาจของพนักงานสอบสวนตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งต้องอยู่ภายใต้การควบคุมและตรวจสอบของศาลยุติธรรม ไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ฟ้องของโจทก์ประสงค์จะเรียกค่าเสียหายจากการกระทำซึ่งถือได้ว่าเป็นขั้นตอนในการดำเนินการของพนักงานสอบสวนตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญากำหนดไว้ดังกล่าว คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางพิเคราะห์แล้วเห็นว่า คดีนี้ จำเลยที่ ๒ ได้คืนทรัพย์สินให้แก่จำเลยที่ ๑ ในฐานะเป็นทรัพย์สินซึ่งได้มาโดยการกระทำผิดในขณะที่คดียังไม่เสร็จและศาลก็มิได้มีคำสั่งให้คืน จึงเป็นการกระทำนอกเหนือหรือมิได้กระทำตามที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และเป็นการกระทำที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งเข้าข่ายเป็นกรณีพิพาทตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และเป็นกรณีไม่เข้าข้อยกเว้นเรื่องที่ไม่อยู่ในอำนาจศาลปกครองตามมาตรา ๙ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ดังนั้น การกระทำละเมิดของจำเลยที่ ๒ กับพวก อันเกิดจากการกระทำนอกเหนือหรือมิได้กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาดังกล่าว จึงเป็นการกระทำละเมิดอันเกิดจากการใช้อำนาจตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองพ.ศ.๒๕๔๒ ซึ่งอยู่ในอำนาจของศาลปกครองที่จะพิจารณาพิพากษาได้

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คือ คดีละเมิดเรียกค่าเสียหายอันเกิดจากการที่เจ้าพนักงานตำรวจกระทำการตามกระบวนการในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า การดำเนินกิจการหรือการกระทำต่าง ๆ ของรัฐ ย่อมจะต้องถูกตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายได้โดยศาล ซึ่งศาลปกครองมีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบการกระทำทางปกครอง ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๒๗๖ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ซึ่งบัญญัติให้ ศาลปกครองมีอำนาจในการพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในคดีที่มีการฟ้องว่าหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือในคดีที่มีการฟ้องว่าหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร หรือในคดีที่มีการฟ้องเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ อันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร อันเป็นการตรวจสอบการกระทำทางปกครองส่วนศาลยุติธรรมมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีทั้งปวงที่ไม่อยู่ในอำนาจของศาลอื่น ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๒๗๑ ซึ่งได้แก่ คดีแพ่ง คดีอาญา และคดีอื่น ๆ ที่มีกฎหมายกำหนดไว้เป็นการเฉพาะ
การดำเนินคดีอาญานั้น เป็นขั้นตอนเพื่อนำไปสู่การลงโทษผู้กระทำความผิดอาญา อย่างไรก็ตาม ในขั้นตอนการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ของรัฐ คือพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการนั้น อาจจะมีการกระทำทางปกครองปะปนอยู่ด้วย ขั้นตอนใดเป็นการกระทำที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญากำหนดให้อำนาจไว้เป็นการเฉพาะโดยตรง การกระทำดังกล่าวจะอยู่ในอำนาจการควบคุมตรวจสอบของศาลยุติธรรม แต่การกระทำใดที่พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการกระทำนอกเหนือหรือมิได้กระทำตามที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และเป็นการกระทำที่เข้าเกณฑ์ตามมาตรา ๙ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒การกระทำนั้น จะอยู่ในอำนาจการควบคุมตรวจสอบของศาลปกครอง
สำหรับคดีนี้ โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสามว่าร่วมกันกระทำละเมิดต่อโจทก์ ทำให้ได้รับความเสียหาย กล่าวคือ จำเลยที่ ๑ ร่วมกับจำเลยที่ ๒ โดยคำสั่งของจำเลยที่ ๓ ได้ร่วมกันยึดทรัพย์สินของโจทก์ ในคดีอาญาที่พนักงานอัยการดำเนินการฟ้องโจทก์เป็นจำเลยข้อหาปล้นทรัพย์ อันประกอบด้วย เงินสดจำนวน ๒๐๐,๐๐๐ บาท และรถตู้พร้อมสมุดจดทะเบียนรถยนต์ตู้หมายเลขทะเบียน ๓ฝ-๙๖๗๓ กรุงเทพมหานคร แล้วนำไปขายแก่บุคคลภายนอกเป็นเงิน๓๙๘,๐๐๐ บาท แล้วนำเงินทั้งสองจำนวนดังกล่าวมอบแก่จำเลยที่ ๑ โดยโจทก์มิได้ให้ความยินยอม ต่อมา ศาลได้มีคำพิพากษาในคดีอาญาเป็นคดีหมายเลขแดงที่ ๓๔๗๓/๒๕๔๕ ลงวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๔๕ ว่า จำเลยที่ ๒ (โจทก์ในคดีนี้) มิได้กระทำความผิดตามฟ้อง จึงพิพากษาให้ยกฟ้อง ฉะนั้น การกระทำของจำเลยทั้งสามดังกล่าวจึงเป็นละเมิดทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย พิจารณาเห็นว่าประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาได้กำหนดให้อำนาจแก่พนักงานสอบสวนคดีอาญาเพื่อดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้ต้องหาหรือจำเลยเอาไว้เป็นการเฉพาะ เมื่อจำเลยที่ ๑ ร่วมกับจำเลยที่ ๒ โดยคำสั่งของจำเลยที่ ๓ นำทรัพย์สินของโจทก์ออกขายก่อนศาลในคดีอาญาจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่อันสืบเนื่องจากการใช้อำนาจในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา อยู่ในอำนาจการควบคุมตรวจสอบของศาลยุติธรรม คดีจึงไม่อยู่ในอำนาจของศาลปกครองที่จะพิจารณาพิพากษา ตามนัยมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ซึ่งในคดีนี้ได้แก่ศาลแพ่ง
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า การฟ้องเรียกค่าเสียหายในคดีละเมิดอันเกิดอันเกิดจากการที่เจ้าพนักงานตำรวจกระทำการตามกระบวนการในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาระหว่าง นายอำนวย เกียรติดอนเมือง โจทก์ นายอานพ อัศววุฒิพงษ์ ที่ ๑ พันตำรวจโท สุพจน์ฟักแฟงหรือฟักแฟ ที่ ๒ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ ๓ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ซึ่งในคดีนี้ได้แก่ ศาลแพ่ง

(นายอรรถนิติ ดิษฐอำนาจ) (หม่อมหลวงเฉลิมชัย เกษมสันต์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายอัครวิทย์ สุมาวงศ์)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

พลโท (อัฏฐพร เจริญพานิช) พลโท (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share