คำวินิจฉัยที่ 25/2547

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๒๕/๒๕๔๗

วันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๔๗

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลปกครองเชียงใหม่
ระหว่าง
ศาลจังหวัดเชียงใหม่

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองเชียงใหม่ส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีที่คู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งเขตอำนาจของศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและรับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
วัดสันป่าสัก ผู้ฟ้องคดี ได้ยื่นคำร้องทุกข์ต่อคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ภูมิภาคประจำภาคเหนือ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งต่อมาศาลปกครองเชียงใหม่ได้รับโอนเรื่องดังกล่าวไว้พิจารณา ตามมาตรา ๑๐๓ วรรคสามและวรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ โดยฟ้อง สำนักงานธนารักษ์พื้นที่เชียงใหม่ ที่ ๑ กรมที่ดิน ที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดี เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๗๗/๒๕๔๔ ข้อเท็จจริงสรุปได้ความว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นวัดในพระพุทธศาสนา สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๒๗๐ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๔๙๓ เมื่อวันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๔๘๒ได้มีการจัดตั้งโรงเรียนสันป่าสักวิทยาคารขึ้นภายในบริเวณวัด ประมาณ พ.ศ. ๒๔๘๕โรงเรียนได้ย้ายออกมาตั้งในบริเวณที่ธรณีสงฆ์ของวัด ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๐ มีนาคม ๒๔๙๘ ผู้ฟ้องคดีได้แจ้งการครอบครองตามแบบ ส.ค. ๑ เลขที่ ๑๒๐ เนื้อที่ประมาณ ๙ ไร่ ๓ งาน ๙๖ตารางวา และโรงเรียนสันป่าสักวิทยาคารได้มีการแจ้งการครอบครองตามแบบ ส.ค. ๑ เลขที่๑๗๑ เมื่อวันที่ ๒๐พฤษภาคม ๒๔๙๘ เนื้อที่ ๑ ไร่ ๒ งาน ๒๗ ตารางวา เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๖ผู้ฟ้องคดีได้นำ ส.ค. ๑เลขที่ ๑๒๐ ไปยื่นขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓)ปรากฏว่า เนื้อที่เหลือเพียง ๔ไร่ ๒ งาน ๕๗ ตารางวา ขาดหายไป ๕ ไร่ ๑ งาน ๓๙ ตารางวา เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๒ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้นำที่ดินพิพาทไปขึ้นทะเบียนเป็นที่ราชพัสดุแปลงหมายเลขทะเบียนที่ ชม ๔๗๐ ตำบลหนองจ๊อม อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ เนื้อที่ ๒ ไร่๗๐ ตารางวา และได้ยื่นขอออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง ต่อสำนักงานที่ดินจังหวัดเชียงใหม่ สาขาสันทราย ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ได้ออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง เลขที่ ชม๑๓๘๘ ลงวันที่ ๗ ธันวาคม ๒๕๔๒ เนื้อที่ ๒ ไร่ ๗๐ตารางวา ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงเป็นไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากออกทับที่ธรณีสงฆ์ จึงขอให้เพิกถอนหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงดังกล่าว
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ยื่นคำให้การสรุปได้ว่า เดิมโรงเรียนสันป่าสักวิทยาคารได้อาศัยศาลาบาตร์วัดเป็นสถานที่เรียน ต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๖ ได้ย้ายมาสร้างโรงเรียนอยู่นอกวัดคือที่ดินพิพาทและได้แจ้งการครอบครองกับนำส่งขึ้นทะเบียนที่ราชพัสดุ จึงเป็นที่สาธารณประโยชน์ มิใช่เป็นที่ดินของผู้ฟ้องคดี
ระหว่างการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลปกครอง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้ยื่นคำร้อง ลงวันที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๔๖ โต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้เป็นการโต้แย้งสิทธิในทรัพย์สินจึงต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ขอให้ศาลยกคำฟ้องของผู้ฟ้องคดีนี้เสีย
ผู้ฟ้องคดีทำคำชี้แจงเกี่ยวกับเขตอำนาจศาลตามคำร้องของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ว่าคดีนี้ควรอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองเชียงใหม่ เนื่องจากเป็นคดีปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองพ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งเป็นกรณีที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยสำคัญผิดในข้อเท็จจริง หรือสำคัญผิดในข้อกฎหมาย หรือการปรับข้อเท็จจริงเข้ากับข้อกฎหมายผิดพลาด โดยการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงทับที่ธรณีสงฆ์ จึงเป็นเอกสารที่ไม่ชอบ กรณีไม่ใช่การโต้แย้งเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในที่ดินตามที่ผู้ถูกฟ้องคดีอ้าง
ศาลปกครองเชียงใหม่พิเคราะห์แล้วเห็นว่า คดีนี้เป็นกรณีที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ กระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และมีความประสงค์ที่จะมุ่งให้ศาลปกครองเพิกถอนการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีเป็นสำคัญ ดังนั้น คดีนี้จึงเข้าลักษณะเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และศาลปกครองมีอำนาจกำหนดคำบังคับได้ตามมาตรา๗๒ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองพ.ศ.๒๕๔๒ ซึ่งเป็นคดีที่อยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครอง นอกจากนี้เห็นว่า การพิจารณาว่าศาลใดจะมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีฟ้องขอให้เพิกถอนหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงที่ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น จะต้องพิจารณาในรายละเอียดของคำฟ้องว่า ผู้ฟ้องคดีมีความประสงค์ที่จะโต้แย้งในประเด็นใด เห็นว่าประเด็นหลักแห่งคดีนี้เป็นการโต้แย้งว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงโดยสำคัญผิดในข้อเท็จจริง จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่การที่ศาลจะวินิจฉัยว่าการกระทำดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่นั้น ศาลต้องวินิจฉัยก่อนว่าที่ดินเป็นที่ธรณีสงฆ์ของผู้ฟ้องคดี หรือเป็นที่ราชพัสดุ แม้ประเด็นการวินิจฉัยชี้ขาดสิทธิในที่ดินซึ่งเป็นประเด็นที่เกี่ยวพันกันกับประเด็นหลักแห่งคดี ต้องพิจารณาบทบัญญัติภายใต้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือกฎหมายอื่นที่บัญญัติไว้ในเรื่องนั้นไว้พิเศษ จะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม แต่ศาลปกครองเชียงใหม่ซึ่งเป็นศาลปกครองชั้นต้นที่รับคดีไว้ มีอำนาจวินิจฉัยประเด็นที่เกี่ยวพันกันนั้นได้ ทั้งนี้ ตามข้อ ๔๑ วรรคสอง แห่งระเบียบที่ประชุมใหญ่ของตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.๒๕๔๓ ศาลปกครองเชียงใหม่จึงรอการพิจารณาคดีชั่วคราว
ศาลจังหวัดเชียงใหม่พิเคราะห์แล้วมีความเห็นว่า คดีนี้มีประเด็นพิพาทที่จะต้องวินิจฉัย ๒ ประเด็น คือ ประเด็นที่หนึ่ง สิทธิในที่ดินพิพาทเป็นของวัดสันป่าสัก ผู้ฟ้องคดีหรือสำนักงานธนารักษ์พื้นที่เชียงใหม่ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ประเด็นที่สอง กรมที่ดิน ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงสำหรับที่ดินพิพาทให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ โดยสำคัญผิดในข้อเท็จจริงอันเป็นการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
ในการวินิจฉัยประเด็นแรกนั้น ผู้ฟ้องคดีและผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ต่างกล่าวอ้างว่าตนมีสิทธิในที่ดินพิพาทเพราะต่างฝ่ายต่างครอบครองที่ดินพิพาทและเมื่อมีการประกาศใช้บังคับประมวลกฎหมายที่ดิน เมื่อวันที่ ๑ ธันวาคม ๒๔๙๗ โดยพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. ๒๔๙๗ แล้ว ต่างฝ่ายต่างก็ไปแจ้งการครอบครองที่ดินพิพาทไว้ตามความในมาตรา๕ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน โดยต่างฝ่ายต่างมีแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.๑) เป็นหลักฐาน ในการวินิจฉัยประเด็นพิพาทดังกล่าวต้องพิจารณาถึงสิทธิครอบครองและการใช้ประโยชน์ในที่ดินของคู่ความดังกล่าวซึ่งจะต้องเป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายที่ดินและประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๔ ทรัพย์สิน พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ มิได้กำหนดให้ศาลปกครองมีอำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สิน ศาลที่มีอำนาจในการพิจารณาพิพากษาประเด็นพิพาทดังกล่าว จึงได้แก่ ศาลจังหวัดเชียงใหม่ และประเด็นพิพาทดังกล่าวเป็นประเด็นพิพาทหลักแห่งคดีนี้ เนื่องจากหากมีการวินิจฉัยว่าคู่ความฝ่ายใดมีสิทธิในที่ดินพิพาทแล้วก็เห็นได้อยู่ในตัวว่า ประเด็นพิพาทที่สองจะได้รับการวินิจฉัยอย่างใด กล่าวคือ หากมีการวินิจฉัยว่า ผู้ฟ้องคดีมีสิทธิในที่ดินพิพาท การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงสำหรับที่ดินพิพาทให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ย่อมเป็นการกระทำไปโดยสำคัญผิดในข้อเท็จจริงอันเป็นการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ถ้าวินิจฉัยไปในทางตรงกันข้ามการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงสำหรับที่ดินพิพาทให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ย่อมเป็นการกระทำการไปโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ประเด็นพิพาทที่สองจึงมิใช่ประเด็นหลักแห่งคดีนี้ กรณีจึงไม่ต้องด้วยข้อ ๔๑ วรรคสอง แห่งระเบียบที่ประชุมใหญ่ของตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๓ และแม้จะต้องด้วยข้อดังกล่าว ๆ ก็ไม่อาจมีผลบังคับได้ในเมื่อขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒มาตรา ๙ ที่มิได้กำหนดให้ศาลปกครองมีอำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สินได้ จึงเห็นว่าคดีอยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม(ศาลจังหวัดเชียงใหม่)

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คือ คดีฟ้องขอให้เพิกถอนหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ ผู้ฟ้องคดีเป็นวัดในพระพุทธศาสนาได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๔๙๓ จึงมีฐานะเป็นนิติบุคคลตามมาตรา ๓๑ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เป็นส่วนราชการในสังกัดกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ เป็นส่วนราชการระดับกรม ในสังกัดกระทรวงมหาดไทย และมีฐานะเป็นนิติบุคคล ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๗ วรรคสาม ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองจึงเป็นหน่วยงานทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒คดีนี้ ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างว่าผู้ฟ้องคดีเป็นเจ้าของที่ดินและให้โรงเรียนสันป่าสักวิทยาคาร ใช้ที่ดินของผู้ฟ้องคดีบางส่วน ต่อมา ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ไปออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงเรียนดังกล่าวต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงฉบับพิพาท ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ให้การว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ของโรงเรียนมิใช่ที่ดินของวัดผู้ฟ้องคดี คดีนี้จึงมีปัญหาที่ศาลจะต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าที่ดินพิพาทเป็นของผู้ฟ้องคดีหรือเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน ซึ่งการพิจารณาสิทธิในที่ดินระหว่างคู่กรณี เป็นกรณีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สิน อันอยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีฟ้องขอให้เพิกถอนหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง ระหว่างวัดสันป่าสัก ผู้ฟ้องคดีสำนักงานธนารักษ์พื้นที่เชียงใหม่ ที่ ๑ กรมที่ดิน ที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ซึ่งในคดีนี้ได้แก่ ศาลจังหวัดเชียงใหม่
(ลงชื่อ) อรรถนิติ ดิษฐอำนาจ (ลงชื่อ) เฉลิมชัย เกษมสันต์
(นายอรรถนิติ ดิษฐอำนาจ) (หม่อมหลวงเฉลิมชัย เกษมสันต์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) อัครวิทย์ สุมาวงศ์
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายอัครวิทย์ สุมาวงศ์)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท อัฏฐพร เจริญพานิช (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(อัฏฐพร เจริญพานิช) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share