แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
จำเลยเป็นหนี้ตามสัญญากู้เงิน สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี สัญญารับรองวงเงินโดยออกตั๋วสัญญาใช้เงิน กับหนี้อาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินพร้อมดอกเบี้ย ซึ่งเป็นหนี้ที่กำหนดจำนวนได้แน่นอนที่เจ้าหนี้จะฟ้องเป็นคดีล้มละลายได้โดยเจ้าหนี้ไม่จำเป็นต้องฟ้องเป็นคดีแพ่ง หรือให้ศาลในคดีแพ่งมีคำพิพากษาก่อน เพราะ พ.ร.บ. ล้มละลายฯ มาตรา 9 (3) บัญญัติแต่เพียงว่า หนี้นั้นอาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอน มิได้บัญญัติว่า หนี้นั้นศาลจะต้องมีคำพิพากษากำหนดจำนวนให้แน่นอนเสียก่อน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสิบเด็ดขาดและพิพากษาให้จำเลยทั้งสิบเป็นบุคคลล้มละลาย
จำเลยที่ 1 ไม่ยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 6 ถึงที่ 9 ไม่ยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 5 และที่ 10 ให้การต่อสู้คดีขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ 3 ถึงที่ 10 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตและจำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ 3 ถึงที่ 10 ออกจากสารบบความ
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เด็ดขาดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 14
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีล้มลายพิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังยุติได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ตามสัญญากู้เงิน สัญญาเบิกเงินเกินบัญชี สัญญาหนังสือรับรองวงเงินร่วมและหนี้อาวัลตั๋วสัญญาใช้เงิน โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมอีกทั้งจำเลยที่ 2 ได้จดทะเบียนจำนองที่ดินหลายแปลง พร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นประกันหนี้จำเลยที่ 1 โดยมีข้อตกลงว่าหากบังคับจำนองแล้วได้เงินไม่พอชำระหนี้จำเลยที่ 2 ยอมให้ยึดทรัพย์สินอื่นออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ได้จนครบถ้วน จำเลยที่ 1 และที่ 2 ผิดนัดไม่ชำระหนี้แก่โจทก์ โจทก์ได้มีหนังสือทวงถามและบอกกล่าวบังคับจำนองให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ชำระหนี้ดังกล่าว จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้รับหนังสือดังกล่าวแล้ว แต่ไม่ชำระหนี้แก่โจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่มีทรัพย์สินอื่นใดจะพึงยึดมาชำระหนี้ได้อีก ถึงวันฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีหนี้ค้างชำระต่อโจทก์เป็นต้นเงิน 212,376,160.59 บาท ดอกเบี้ย 191,8.5,320.34 บาท รวมเป็นเงิน 404,181,480.93 บาท โจทก์ตีราคาหลักประกันของจำเลยที่ 2 เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 46,161,400 บาท เมื่อหักกับหนี้ดังกล่าวแล้วจำเลยที่ 2 ยังคงเป็นหนี้โจทก์เป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 1,000,000 บาท หนี้ที่โจทก์นำมาเป็นมูลฟ้องขอให้ล้มละลาย ธนาคาร ดีบีเอส ไทยทนุ จำกัด (มหาชน) ได้ฟ้องจำเลยทั้งสิบต่อศาลแพ่ง คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลแพ่งยังไม่มีคำพิพากษา โจทก์นำมูลหนี้ดังกล่าวมาฟ้องเป็นคดีนี้ มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าหนี้ที่โจทก์นำมาเป็นมูลฟ้องขอให้ล้มละลายเป็นหนี้ที่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนหรือไม่ เห็นว่า หนี้ที่โจทก์นำมาเป็นมูลฟ้องคดีล้มละลายเป็นหนี้ตามสัญญากู้เงิน สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี สัญญารับรองวงเงินโดยออกตั๋วสัญญาใช้เงิน กับหนี้อาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินพร้อมดอกเบี้ยเป็นหนี้ที่กำหนดจำนวนได้แน่นอนที่ฟ้องเป็นคดีล้มละลายได้โดยไม่จำต้องฟ้องเป็นคดีแพ่งหรือให้ศาลในคดีแพ่งมีคำพิพากษาก่อนอย่างใด เพราะพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 9 (3) บัญญัติเพียงว่า หนี้นั้นอาจกำหนดได้โดยแน่นอน มิได้บัญญัติว่า หนี้นั้นศาลจะต้องมีคำพิพากษากำหนดจำนวนให้แน่นอนเสียก่อนแต่อย่างใด ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ตราบใดที่ศาลแพ่งยังมิได้มีคำพิพากษาให้จำเลยทั้งสิบร่วมกันรับผิดชำระหนี้ตามฟ้องให้แก่โจทก์ จำนวนหนี้จึงยังไม่แน่นอน เพราะศาลแพ่งอาจพิพากษายกฟ้องหรือพิพากษาให้จำเลยทั้งสิบร่วมกันรับผิดในหนี้ที่พิพาทไม่เต็มตามฟ้องโจทก์ก็เป็นได้นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ดังนั้น หนี้ที่โจทก์นำมาเป็นมูลฟ้องขอให้ล้มละลายจึงเป็นหนี้ที่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนแล้ว คดีตามคำฟ้องโจทก์ข้อเท็จจริงได้ความจริงตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 9 หรือมาตรา 10 แล้ว และไม่มีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้ล้มละลาย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้พิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เด็ดขาดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 14