แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
คดีนี้จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยต่อศาลแรงงานภาค 9 เพราะมูลคดีตามฟ้องมิได้เป็นกรณีที่จำเลยประพฤติผิดสัญญาจ้างดังฟ้อง คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแขวงสงขลา เท่ากับจำเลยให้การต่อสู้คดีว่าศาลแรงงานภาค 9 ไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ กรณีจึงเกิดปัญหาขึ้นในศาลแรงงานภาค 9 ว่า คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงานภาค 9 หรือไม่ ชอบที่ศาลแรงงานภาค 9 จะต้องส่งสำนวนให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางเป็นผู้วินิจฉัยก่อนว่า คดีนี้เป็นคดีเกี่ยวกับการทำงานตามสัญญาจ้างแรงงานซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงานภาค 9 หรือไม่ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 9 วรรคสอง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 251,826.75 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตรารัอยละเจ็ดครึ่งต่อปีตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ หากจำเลยไม่ชำระ ให้มีคำสั่งยึดที่ดินตามโฉนดเลขที่ 1441 ของจำเลยออกขายทอดตลาดชำระหนี้โจทก์ และหากได้เงินยังไม่พอชำระหนี้ให้มีคำสั่งยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยขายทอดตลาดชำระหนี้ให้โจทก์จนครบถ้วน
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องคดีต่อศาลแรงงานภาค 9 และศาลแรงงานภาค 9 ไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ เพราะมูลหนี้ระหว่างโจทก์จำเลยมิใช่ข้อพิพาทแรงงาน แต่เป็นเรื่องทั่วไป ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลแขวงสงขลา จำเลยไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญาจ้าง ความเสียหายที่โจทก์ไม่ได้รับเงินค่าขายสินค้าหรือสินค้าขาดบัญชีคิดตามราคาขายเป็นเงิน 251,826.75 บาท ตามที่โจทก์ฟ้องไม่ได้เกิดจากการกระทำของจำเลยแต่เกิดจากนางอรศรี ทองประดับ พนักงานของโจทก์ซึ่งรับเงินค่าสินค้าไว้แล้วไม่นำส่งให้โจทก์ แต่กลับเบียดบังเป็นของตนเองการตรวจสอบสินค้าขาดบัญชีไม่ถูกต้อง เพราะไม่ได้นำยอดเงินที่นางอรศรียักยอกไปหักออกก่อน จำเลยไม่เคยได้รับหนังสือบอกกล่าวให้ชำระหนี้และบังคับจำนอง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานภาค 9 พิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 251,826.75 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ตั้งแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 7 เมษายน 2547) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยไม่ชำระให้ยึดที่ดินตามโฉนดเลขที่ 1441 ออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์ และหากได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยอุทธรณ์ว่ามูลคดีตามคำฟ้องโจทก์มิใช่ข้อพิพาทเกี่ยวกับการทำงานตามสัญญาจ้างแรงงาน ศาลแรงงานภาค 9 จึงไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้นั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 9 วรรคสอง บัญญัติว่า “ในกรณีมีปัญหาว่าคดีใดจะอยู่ในอำนาจของศาลแรงงานหรือไม่ ไม่ว่าเกิดปัญหาขึ้นในศาลแรงงานหรือศาลอื่น ให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางเป็นผู้วินิจฉัย คำวินิจฉัยของอธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางให้เป็นที่สุด” คดีนี้จำเลยให้การต่อสู้คดีแต่เริ่มแรกว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยต่อศาลแรงงานภาค 9 เพราะมูลคดีตามฟ้องมิได้เป็นกรณีที่จำเลยประพฤติผิดสัญญาจ้างดังฟ้อง คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแขวงสงขลา เท่ากับจำเลยให้การต่อสู้คดีว่าศาลแรงงานภาค 9 ไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้นั่นเอง กรณีจึงเกิดปัญหาขึ้นในศาลแรงงานภาค 9 ว่า คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงานภาค 9 หรือไม่ ชอบที่ศาลแรงงานภาค 9 จะต้องส่งสำนวนให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางเป็นผู้วินิจฉัยก่อนว่า คดีนี้เป็นคดีเกี่ยวกับการทำงานตามสัญญาจ้างแรงงานซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงานภาค 9 หรือไม่ การที่ศาลแรงงานภาค 9 เป็นผู้วินิจฉัยปัญหานี้เสียเอง จึงเป็นการไม่ชอบ อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยฟังขึ้น”
พิพากษายกคำพิพากษาศาลแรงงานภาค 9 ให้ศาลแรงงานภาค 9 ส่งสำนวนให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางวินิจฉัยก่อนว่า คดีนี้อยู่ในอำนาจของศาลแรงงานหรือไม่ แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี