คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1525/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

แม้โจทก์บรรยายฟ้องว่า ตามวันเวลาเกิดเหตุ จำเลยกับพวกบุกรุกเคหสถานของผู้เสียหายที่ 1 และจำเลยไปพบผู้เสียหายที่ 2 จำเลยกับพวกจึงกระทำอนาจารและข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 โดยบรรยายแยกการกระทำของจำเลยออกเป็นหลายกรรมต่างกัน และจำเลยให้การรับสารภาพก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงตามฟ้องไม่ปรากฏว่าการที่จำเลยกับพวกบุกรุกเคหสถานของผู้เสียหายที่ 1 เป็นไปโดยมีเจตนากระทำการอย่างอื่น นอกจากข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 การที่จำเลยกับพวกบุกรุกเคหสถานของผู้เสียหายที่ 1 ตามฟ้องจึงเป็นไปโดยมีเจตนาข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 เท่านั้น การกระทำของจำเลยกับพวกตามฟ้อง จึงเป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท
การที่จำเลยกับพวกร่วมกันจับแขนทั้งสองข้างของผู้เสียหายที่ 2 ชูไว้บนศีรษะ กดให้ผู้เสียหายที่ 2 นอนหงาย และใช้มือปิดปากผู้เสียหายที่ 2 มิให้ร้อง พร้อมกับถอดกางเกงผู้เสียหายที่ 2 ออก ก็เพื่อจำเลยกับพวกจะข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 เท่านั้น จำเลยกับพวกมิได้กระทำการอย่างใดต่อผู้เสียหายที่ 2 อีก ดังนี้ จะถือว่าจำเลยกับพวกกระทำอนาจารผู้เสียหายที่ 2 ด้วย หาได้ไม่ แม้จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลก็ไม่อาจพิพากษาว่าจำเลยกระทำความผิดฐานดังกล่าวได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกับพวกร่วมกันกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ ร่วมกันปีนเข้าทางหน้าต่างบุกรุกเข้าไปในบ้านพักอันเป็นเคหสถานที่อยู่อาศัยของ ก. ผู้เสียหายที่ 1 และครอบครัว และไปพบเด็กหญิง ข. ผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งมีอายุไม่เกิน 15 ปี นอนอยู่ในบ้านเกิดเหตุ จำเลยกับพวกร่วมกันกระทำอนาจารแก่ผู้เสียหายที่ 2 โดยจับแขนทั้งสองข้างของผู้เสียหายที่ 2 ชูไว้บนศีรษะ กดให้ผู้เสียหายนอนหงาย ใช้มือปิดปากผู้เสียหายที่ 2 มิให้ร้อง ถอดกางเกงผู้เสียหายที่ 2 ออก แล้วร่วมกันกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งมิใช่ภริยาของจำเลยกับพวก 1 ครั้ง โดยผู้เสียหายที่ 2 ไม่ยินยอม ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 364, 365 (2) (3), 277, 279
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคแรก, 365 (2) (3) ประกอบมาตรา 364, 83 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุไม่เกิน 15 ปีจำคุก 11 ปี ฐานบุกรุก จำคุก 1 ปี รวมจำคุก 12 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 6 ปี
จำเลยอุทธรณ์ขอให้ลงโทษสถานเบา
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 279 วรรคสอง อีกข้อหาหนึ่ง กับความผิดข้อหาบุกรุกและข้อหาข่มขืนกระทำชำเรา เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษข้อหาข่มขืนกระทำชำเรา ซึ่งเป็นบทหนักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 11 ปี ลดโทษกึ่งหนึ่งแล้วคงจำคุก 5 ปี 6 เดือน นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า การกระทำของจำเลยตามที่กล่าวอ้างในฟ้องเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันหรือไม่ เห็นว่า แม้โจทก์บรรยายฟ้องว่า ตามวันเวลาเกิดเหตุ จำเลยกับพวกบุกรุกเคหสถานของผู้เสียหายที่ 1 และจำเลยไปพบผู้เสียหายที่ 2 จำเลยกับพวกจึงกระทำอนาจาร และข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 โดยบรรยายแยกการกระทำของจำเลยออกเป็นหลายกรรมต่างกัน และจำเลยให้การรับสารภาพก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงตามฟ้องไม่ปรากฏว่าการที่จำเลยกับพวกบุกรุกเคหสถานของผู้เสียหายที่ 1 เป็นไปโดยมีเจตนากระทำการอย่างอื่น นอกจากข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 ด้วยเหตุนี้เอง การที่จำเลยกับพวกบุกรุกเคหสถานของผู้เสียหายที่ 1 ตามฟ้อง จึงเป็นไปโดยมีเจตนาข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 เท่านั้น การกระทำของจำเลยกับพวกตามที่กล่าวอ้างในฟ้อง จึงเป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 ลงโทษจำคุกข้อหาข่มขืนกระทำชำเรา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคแรก ซึ่งเป็นการใช้กฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดลงโทษแก่จำเลย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จึงเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายแล้ว และมีอำนาจพิจารณาพิพากษาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 ประกอบมาตรา 215 หาใช่เป็นการรับฟังข้อเท็จจริงนอกเหนือหรือแตกต่างไปจากที่ปรากฏในฟ้องดังที่โจทก์กล่าวอ้างในฎีกาไม่ ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง การที่จำเลยกับพวกร่วมกันจับแขนทั้งสองข้างของผู้เสียหายที่ 2 ชูไว้บนศีรษะ กดให้ผู้เสียหายที่ 2 นอนหงาย และใช้มือปิดปากผู้เสียหายที่ 2 มิให้ร้องพร้อมกับถอดกางเกงผู้เสียหายที่ 2 ออก ก็เพื่อจำเลยกับพวกจะข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 เท่านั้น จำเลยกับพวกมิได้กระทำการอย่างอื่นต่อผู้เสียหายที่ 2 อีก ดังนี้จะถือว่าจำเลยกระทำอนาจารผู้เสียหายที่ 2 ด้วยหาได้ไม่ แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพก็ไม่อาจพิพากษาว่าจำเลยกระทำความผิดฐานนี้ด้วยได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาปรับบทลงโทษจำเลยในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 279 วรรคสองอีกข้อหาหนึ่งจึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยมิได้ยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคหนึ่ง, 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และ 225”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 279 วรรคสอง โดยให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับความผิดฐานนี้ ส่วนโทษและนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6

Share