แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ศาลลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 13) พ.ศ. 2499 มาตรา 4 (คือมาตรา 27) ฐานพาเอาของที่รู้อยู่แล้วว่าเป็นของนำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่เสียภาษี ด้วยการพาจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งนั้น เป็นความผิดขึ้นใหม่อีกชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นคนละอย่างกับความผิดฐานนำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่เสียภาษีตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2467 มาตรา 27 ซึ่งมีบัญญัติให้ลงโทษไว้แต่เดิม และมีมาตรา 32 เป็นบทบัญญัติให้ริบของกลางในความผิดฐานนั้น ฉะนั้น มาตรา 32 ซึ่งเป็นบทบัญญัติให้ริบของกลางที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่เสียภาษีจึงมิใช่เป็นบทริบทรัพย์ในความผิดตามมาตรา 27 ทวิ เพราะเป็นความผิดคนละอย่าง การริบทรัพย์ตามมาตรา 27 ทวิมิได้มีบัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติศุลกากร จึงอยู่ในบังคับแห่งหลักว่าด้วยการริบทรัพย์ทั่วไปตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 เมื่อการริบทรัพย์ในกรณีแห่งความผิดของจำเลยเป็นไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 แล้ว การขอคืนทรัพย์ของกลางในคดีนี้ผู้ร้องย่อมร้องขอคืนได้ภายใน 1 ปีนับแต่วันคดีถึงที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 36 ด้วย
คดีเดิมศาลพิพากษาให้ริบของกลางตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 32 และคดีถึงที่สุดไปแล้ว คำพิพากษาในคดีซึ่งมีอยู่แล้วแต่เดิมนั้นไม่ผูกพันผู้ร้อง ซึ่งผู้ร้องขอคืนของกลางเพราะเป็นคนภายนอก ศาลย่อมมีอำนาจที่จะวินิจฉัยเป็นอย่างอื่นได้(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 15-16 และ 17/2512)
ย่อยาว
เดิมศาลจังหวัดหนองคายพิพากษาให้ลงโทษจำเลยและริบของกลาง รวมทั้งรถยนต์ที่ใช้เป็นพาหนะด้วย ตามพระราชบัญญัติศุลกากร ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน คดีถึงที่สุด
หลังจากศาลชั้นต้นพิพากษาแต่ก่อนส่งสำนวนไปศาลอุทธรณ์ ผู้ร้องร้องว่ารถยนต์ของกลางที่ศาลสั่งริบเป็นของผู้ร้องให้จำเลยเช่าซื้อไป ผู้ร้องมิได้รู้เห็นยินยอมให้จำเลยเอาไปใช้ในการกระทำผิด การกระทำของจำเลยเป็นการผิดเงื่อนไขสัญญาเช่าซื้อ ผู้ร้องมีสิทธิยึดรถยนต์คืนได้ ขอให้ศาลสั่งคืนให้ผู้ร้อง
โจทก์คัดค้านว่า ผู้ร้องขอคืนเมื่อพ้น ๖๐ วันนับแต่เจ้าพนักงานยึดรถยนต์ของกลางไว้ รถยนต์ของกลางจึงตกเป็นของแผ่นดินตามพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ ๙) พ.ศ. ๒๔๘๒ และพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ ๑๒) พ.ศ. ๒๔๙๗ มาตรา ๓
ศาลชั้นต้นฟังว่าผู้ร้องมิได้รู้เห็นด้วยในการที่จำเลยนำรถยนต์ของกลางไปใช้ในการกระทำผิดแต่มิได้ขอคืนภายในกำหนด ๖๐ วัน นับแต่วันที่รถยนต์ถูกยึด รถยนต์ของกลางจึงตกเป็นของแผ่นดินตามพระราชบัญญัติศุลกากร ให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า จำเลยกระทำผิดฐานเป็นผู้ช่วยพาเอาของที่รู้อยู่แล้วว่าเป็นของที่เข้ามาในราชอาณาจักรไทยโดยไม่เสียภาษี ซึ่งเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ ๑๓) พ.ศ. ๒๔๙๔ มาตรา ๔ คือ มาตรา ๒๗ ทวิ ของกลางในกรณีที่เป็นความผิดตามมาตรา๒๗ ทวิ นี้จะนำบทบัญญัติในพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. ๒๔๙๖ มาใช้บังคับสำหรับการริบหรือไม่ริบไม่ได้ (อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ ๗๐/๒๕๑๐ ระหว่างพนักงานอัยการจังหวัดภูเก็ต โจทก์ นายหยุน แซ่อ๋อ จำเลย) และจะนำมาตรา ๒๔ มาใช้บังคับไม่ได้อีกด้วย การริบทรัพย์คือรถยนต์ของกลางในคดีนี้ย่อมเป็นไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓ ซึ่งในคดีนี้ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ผู้ร้องมิได้รู้เห็นด้วยในการกระทำผิดของจำเลย รถยนต์ของกลางของผู้ร้องจึงไม่ใช่ทรัพย์อันจะพึงริบ พิพากษากลับคำสั่งพิพากษาศาลชั้นต้น ให้คืนรถยนต์ของกลางให้ผู้ร้องไป
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่าคดีนี้ศาลลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ ๑๓) พ.ศ. ๒๔๙๙ มาตรา ๔ (คือมาตรา ๒๗ ทวิ) ฐานพาเอาของที่รู้อยู่แล้วว่าเป็นของนำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่เสียภาษีด้วยการพาจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งนั้นซึ่งเป็นคนละอย่างกันกับความผิดฐานนำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่เสียภาษีตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. ๒๔๖๙ มาตรา ๒๗ ซึ่งมีบัญญัติให้ลงโทษไว้แต่เดิม และมีมาตรา ๓๒ เป็นบทบัญญัติให้ริบของกลางในความ ฐานนั้น ฉะนั้นมาตรา ๓๒ ซึ่งเป็นบทบัญญัติให้ริบของกลางที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่เสียภาษี จึงมิใช่เป็นบทริบทรัพย์ในความผิดตามมาตรา ๒๗ ทวิ เพราะเป็นความผิดคนละอย่าง การริบทรัพย์ตามมาตรา ๒๗ ทวิมิได้มีบัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติศุลกากร จึงอยู่ในบังคับแห่งหลักว่าด้วยการริบทรัพย์ทั่วไปตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓ เมื่อการิบทรัพย์ในกรณีแห่งความผิดของจำเลยเป็นไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓ แล้ว การขอคืนทรัพย์ของกลางในคดีนี้ผู้ร้องก็ย่อมร้องขอคืนได้ภายใน ๑ ปี นับแต่วันคดีถึงที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๖ ด้วย และพิจารณาโดยที่ประชุมใหญ่แล้วเห็นว่า
ในคดีเดิมศาลพิพากษาให้ริบของกลางตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. ๒๔๖๙ มาตรา ๓๒ และคดีถึงที่สุดไปแล้ว คำพิพากษาในคดีซึ่งมีอยู่แล้วแต่เดิมนั้นไม่ผูกพันผู้ร้องซึ่งร้องขอคืนของกลางเพราะเป็นคนนอก ศาลย่อมมีอำนาจที่จะวินิจฉัยเป็นอย่างอื่นได้ ในคดีนี้ต้องบังคับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓ ผู้ร้องมีสิทธิร้องขอคืนภายใน ๑ ปี นับแต่คดีถึงที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๖ และให้คืนรถยนต์ของกลางแก่ผู้ร้อง
พิพากษายืน ยกฎีกาโจทก์