แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1649 ได้บัญญัติไว้โดยชัดแจ้งแล้วว่า ผู้จัดการมรดกของผู้ตายที่จะมีอำนาจและหน้าที่จัดการทำศพผู้ตายได้ ต้องเป็นผู้จัดการมรดกที่ผู้ตายได้ตั้งไว้
ข้อเท็จจริงได้ความว่า ศาลตั้งโจทก์เป็นผู้จัดการมรดก ส. ผู้ตาย หาใช่ ส. ตั้งโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของส. ไม่ โจทก์จึงไม่มีอำนาจและหน้าที่จัดการทำศพ ส. ผู้ตาย แม้โจทก์จะได้จัดการทำศพและใช้จ่ายในการปลงศพ ส. ผู้ตายไปจริง โจทก์ก็ไม่มีสิทธิที่จะฟ้องบังคับให้จำเลยจ่ายค่าทำศพแก่โจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นภรรยานายสุวรรณมีบุตรด้วยกัน ๑ คน คือเด็กหญิงศรีวรรณและโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของนายสุวรรณผู้ตายด้วยจำเลยที่ ๑ ที่ ๔ และจำเลยที่ ๕ เป็นพี่น้องกันโดยเป็นบุตรจำเลยที่ ๒ กับที่ ๓ จำเลยทั้งห้าลงทุนลงแรงเข้าหุ้นทำการค้ารับซื้อขายของเก่ามีร้านค้าชื่อท่งเฮงหลี และมีโกดังเก็บสินค้าชื่อล้อท่งหลีหรือหล่อท้งหลี อยู่ที่กรุงเทพมหานครเมื่อวันที่ ๒๒ เมษายน ๒๕๒๐ เวลากลางวัน จำเลยที่ ๑ ในฐานะตัวแทนหรือลูกจ้างของร้านค้าของเก่าท่งเฮงหลีได้ขับรถยนต์กระบะบรรทุกเล็กหมายเลขทะเบียน ก.ท.ภ.-๘๑๙๙ ไปตามถนนเพชรเกษม จากจังหวัดพังงามุ่งไปยังอำเภอเมืองกระบี่ เพื่อซื้อสินค้าจำพวกเครื่องเหล็กและของอื่น ๆ ด้วยความเร็วสูง และน่าหวาดเสียวฝ่าฝืนกฎหมาย ทั้งขับแซงรถยนต์ประจำทางซึ่งแล่นอยู่ข้างหน้าในที่คับขันกินทางของทางรถยนต์ที่แล่นสวนมาด้วยความประมาทเลินเล่อ เป็นเหตุให้ชนกับรถยนต์ส่วนบุคคลหมายเลขทะเบียน ๖ ค-๒๓๔๑ กรุงเทพมหานคร ซึ่งแล่นสวนทางที่ตำบลนาเหนืออำเภออ่าวลึก จังหวัดกระบี่ ทำให้นายสุวรรณซึ่งขับรถยนต์ส่วนบุคคลดังกล่าวได้รับอันตรายสาหัสและถึงแก่ความตายในเวลาต่อมาที่โรงพยาบาลจังหวัดกระบี่ และศาลมณฑลทหารบกที่ ๕ (ศาลจังหวัดกระบี่) ได้พิพากษาลงโทษจำเลยที่ ๑ คดีถึงที่สุดแล้ว ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ๕๙/๒๕๒๐ เมื่อนายสุวรรณตายทำให้โจทก์และบุตรขาดไร้อุปการะและเสียหายคือ
๑. ค่าบำเพ็ญกุศลศพ ค่าเช่าสถานที่ตั้งศพ รวมเป็นเงิน ๑๕,๐๐๐ บาท
๒. ค่าโลงศพแบบจีน ค่าบรรจุศพและค่ารถยนต์บรรทุกศพและบรรทุกคนไปยังจังหวัดราชบุรี เป็นเงิน ๑๒,๐๒๐ บาท
๓. ค่าหีบศพและค่ารถยนต์บรรทุกศพจากจังหวัดกระบี่ไปยังกรุงเทพมหานคร เป็นเงิน ๕๓,๕๐๐ บาท
๔. ค่ารักษาพยาบาล ค่าผ่าตัด ค่าเลือด และค่ายาฉีดศพกันเน่าเป็นเงิน ๒,๕๐๐ บาท
๕. ค่าเช่าหรือค่าบำรุงที่ดินสำหรับฝังศพที่วัดประสาทสิทธิ์ ตำบลควนไผ่ อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี เป็นเงิน ๑๕,๐๐๐ บาท
๖. ค่าก่อสร้างฮวงซุ้ย (หลุมศพ) ตามธรรมเนียมจีนเป็นเงิน ๑๕,๐๐๐ บาท
๗. ค่าอาหารและเครื่องดื่มในวันทำพิธีทางศาสนาฝังศพที่จังหวัดราชบุรีเป็นเงิน ๑๖,๐๐๐ บาท
๘. ทรัพย์สินที่สูญหายไปในวันเกิดเหตุคิดเป็นเงิน ๒๐,๐๐๐ บาท
๙. เด็กหญิงศรีวรรณขาดไร้อุปการะเลี้ยงดูเป็นเวลา ๒๐ ปี คิดเดือนละ ๕๐๐ บาท เป็นเงิน ๑๒๐,๐๐๐ บาท
๑๐. โจทก์ต้องเลี้ยงดูเด็กหญิงศรีวรรณประกอบอาชีพไม่ได้เป็นเวลา๓ ปี คิดเดือนละ ๕๐๐ บาท เป็นเงิน ๑๘,๐๐๐ บาท
รวมค่าสินไหมทดแทนที่จำเลยทั้งห้าจะต้องร่วมกันรับผิดชดใช้แก่โจทก์เป็นเงิน ๒๓๗,๐๒๐ บาท โจทก์ทวงถามแล้ว จำเลยทั้งห้าเพิกเฉยขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์เป็นเงิน ๒๓๗,๐๒๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละสิบห้าต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ ๑ ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ และที่ ๕ ให้การว่า โจทก์จะเป็นภรรยาและเป็นผู้จัดการมรดกของนายสุวรรณจริงหรือไม่ และเด็กหญิงศรีวรรณจะเป็นบุตรของนายสุวรรณจริงหรือไม่จำเลยไม่ทราบและไม่รับรอง หากโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของนายสุวรรณผู้ตายจริง โจทก์ก็มีอำนาจหน้าที่ในทางจัดการมรดกเท่านั้น การฟ้องคดีไม่เกี่ยวกับมรดกของผู้ตายเป็นสิทธิของผู้มีส่วนได้เสียที่เป็นทายาท โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยที่ ๑ มีภรรยาและแยกไปทำมาหากินเป็นส่วนตัวแล้ว ไม่ได้อยู่ในความปกครองและอุปการะเลี้ยงดูของจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ จึงไม่ต้องรับผิดชอบในการกระทำของจำเลยที่ ๑ ทั้งจำเลยที่ ๑ ไม่ได้ร่วมเป็นหุ้นส่วนประกอบกิจการค้าหรือเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ ๒ ถึงจำเลยที่ ๕ รถยนต์ที่จำเลยที่ ๑ ขับไปเกิดเหตุเป็นรถยนต์ของจำเลยที่ ๑ ขับไปในธุรกิจส่วนตัวของจำเลยที่ ๑ หาใช่ขับไปในฐานะหุ้นส่วนตัวแทนหรือในทางการที่จ้างตามคำสั่งในธุรกิจของจำเลยที่ ๒ ถึงจำเลยที่ ๕ แต่ประการใดไม่ จำเลยที่ ๒ ถึงจำเลยที่ ๕ไม่ต้องร่วมกับจำเลยที่ ๑ รับผิดในผลแห่งละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๕ ต่อสู้อีกว่า นายสุวรรณขับรถยนต์ด้วยความเร็วสูงเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด และตัดหน้ารถยนต์ที่จำเลยที่ ๑ ขับในระยะกระชั้นชิดสุดวิสัยที่จำเลยที่ ๑ จะหลบหนีได้ทัน อันเป็นความประมาทเลินเล่อของนายสุวรรณ คำให้การรับสารภาพของจำเลยที่ ๑ ในคดีอาญาไม่ผูกพันจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๕ โจทก์เรียกร้องเอาค่าเสียหายสูงเกินไปทรัพย์ที่โจทก์อ้างว่าสูญหายในวันเกิดเหตุไม่มี หากมีก็ไม่มีมากเท่าที่ฟ้อง และควรจะไปเรียกร้องเอาจากคนร้ายที่ลักไป จำเลยที่ ๑ ไม่ต้องรับผิดชดใช้ให้โจทก์ค่าอุปการะเลี้ยงดูโจทก์และเด็กหญิงศรีวรรณเป็นเรื่องของอนาคตไม่แน่นอน และโจทก์เรียกร้องเอาเกินฐานะ ทั้งโจทก์ไม่มีสิทธิที่จะเรียกร้องได้ด้วย ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระเงิน ๗๐,๐๐๐ บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๕ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์เป็นเงิน ๑๗,๐๐๐ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เป็นภรรยานายสุวรรณผู้ตายโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย เมื่อวันที่ ๒๒ เมษายน ๒๕๒๐ จำเลยที่ ๑ ซึ่งประกอบการค้าร่วมกับจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๕ ขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน ก.ท.ภ. – ๘๑๙๙ ไปซื้อเศษเหล็กฯ นำมาเก็บไว้ที่ร้านค้าหุ้นส่วนเพื่อจำหน่าย แล้วชนรถยนต์หมายเลขทะเบียน ๖ ค – ๒๓๔๑ กรุงเทพมหานคร ที่นายสุวรรณขับโดยประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายสุวรรณได้รับบาดเจ็บสาหัสและถึงแก่ความตายในเวลาต่อมา ศาลมณฑลทหารบกที่ ๕ (ศาลจังหวัดกระบี่) พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยที่ ๑ ฐานขับรถยนต์โดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายและคดีถึงที่สุดไปแล้ว โจทก์ได้จัดการปลงศพนายสุวรรณไปแล้ว หลังจากนายสุวรรณตายราว ๔ เดือน โจทก์ก็คลอดเด็กหญิงศรีวรรณซึ่งเป็นบุตรของนายสุวรรณ ต่อมาโจทก์ได้ร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของนายสุวรรณผู้ตายตามคำสั่งศาลจังหวัดกระบี่ คดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ๔๗/๒๕๒๑
ในปัญหาที่ว่าศาลได้ตั้งโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของนายสุวรรณผู้ตายแล้ว โจทก์มีอำนาจฟ้องเรียกค่าปลงศพของนายสุวรรณได้หรือไม่นั้นศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖๔๙ บัญญัติว่า “ผู้จัดการมรดกซึ่งผู้ตายตั้งไว้ย่อมมีอำนาจและหน้าที่ในอันที่จะจัดการศพผู้ตาย เว้นแต่ผู้ตายจะได้ตั้งบุคคลอื่นไว้โดยเฉพาะให้จัดการดังว่านั้น
ถ้าผู้ตายมิได้ตั้งผู้จัดการมรดกหรือนิติบุคคลใดไว้ให้เป็นผู้จัดการทำศพหรือทายาทมิได้มอบหมายตั้งให้บุคคลใดเป็นผู้จัดการทำศพ บุคคลผู้ได้รับทรัพย์มรดกโดยพินัยกรรมหรือโดยสิทธิโดยธรรมเป็นจำนวนมากที่สุดเป็นผู้มีอำนาจและตกอยู่ในหน้าที่ต้องจัดการทำศพ เว้นแต่ศาลจะเห็นเป็นการสมควรตั้งบุคคลอื่นให้จัดการเช่นนั้น ในเมื่อบุคคลผู้มีส่วนได้เสียคนใดคนหนึ่งร้องขอขึ้น” เห็นว่าบทกฎหมายดังกล่าวได้บัญญัติโดยชัดแจ้งแล้วว่า ผู้จัดการมรดกของผู้ตายที่จะมีอำนาจและหน้าที่จัดการทำศพผู้ตายได้ จะต้องเป็นผู้จัดการมรดกที่ผู้ตายได้ตั้งไว้ สำหรับคดีนี้ปรากฏว่าศาลได้ตั้งโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกนายสุวรรณผู้ตาย หาใช่นายสุวรรณตั้งโจทก์ไม่ ดังนั้น โจทก์จึงไม่มีอำนาจและหน้าที่จัดการทำศพนายสุวรรณผู้ตายแม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่าโจทก์จัดการและใช้จ่ายในการปลงศพนายสุวรรณผู้ตายจริง โจทก์ก็ไม่มีสิทธิที่จะฟ้องบังคับให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันจ่ายค่าทำศพให้โจทก์
พิพากษายืน