คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 239/2525

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. 2519 มาตรา 7 บัญญัติขึ้นเพื่อเป็นการแก้ไขข้อขัดข้องในระยะเริ่มแรกที่ประกาศใช้บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ โดยให้คู่สมรสฝ่ายที่มีอำนาจจัดการสินบริคณห์อยู่แล้ว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 เดิมคงมีอำนาจจัดการต่อไป ไม่ขัดต่อหลักการชายหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกันตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่มาตรา 1477 บัญญัติว่า อำนาจจัดการสินสมรสรวมถึงอำนาจจำหน่ายด้วย ดังนั้น ที่ มาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ ใช้คำว่าอำนาจจัดการก็ย่อมหมายความรวมถึงอำนาจ จำหน่ายด้วยเช่นกันแต่ทั้งนี้ต้องอยู่ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติมาตรา 1473แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 เดิม
ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างรายพิพาทเป็นสินสมรสที่จำเลยที่1 (สามี) ได้รับมรดกจากบิดา ไม่ปรากฏว่ามีสัญญาก่อนสมรสกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น จำเลยที่ 1 จึงมีอำนาจจำหน่ายได้ โดยไม่ต้องรับความยินยอมจากโจทก์ (ภรรยา)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์กับจำเลยที่ ๑ เป็นสามีภรรยากัน จดทะเบียนสมรสเมื่อวันที่ ๒๐ เมษายน ๒๕๐๓ ระหว่างอยู่กินด้วยกัน จำเลยที่ ๑ ได้รับมรดกจากบิดาคือที่ดินโฉนดเลขที่ ๙๙๕๑ ตำบลถนนเพชรบุรี (ประแจจีน) อำเภอพญาไท (ดุสิต) กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ ๔๓ ตารางวา และก่อนบิดาจำเลยที่ ๑ ถึงแก่กรรม โจทก์ได้สร้างบ้านเลขที่ ๔๑๙/๓ ลงบนที่ดินแปลงนี้ดังนั้น ที่ดินและบ้านจึงเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ ต่อมาโจทก์กับจำเลยที่ ๑ เกิดทะเลาะกัน โจทก์หนีไปอาศัยบุคคลอื่นชั่วคราว จำเลยที่ ๑ เลยถือโอกาสขายที่ดินและบ้านให้จำเลยที่ ๒ เมื่อวันที่ ๓ พฤษภาคม ๒๕๒๒โดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ ทั้งนี้จำเลยทั้งสองกระทำการโดยไม่สุจริตเมื่อโจทก์ทราบโจทก์มิได้ให้สัตยาบันแต่อย่างใด ขอให้พิพากษาหรือสั่งเพิกถอนนิติกรรมขายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินโฉนดเลขที่ ๙๙๕๑ ตำบลถนนเพชรบุรี (ประแจจีน) อำเภอพญาไท (ดุสิต) กรุงเทพมหานคร ระหว่างจำเลยทั้งสองฉบับลงวันที่ ๓ พฤษภาคม ๒๕๒๒ นั้นเสีย ให้จำเลยทั้งสองนำคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลไปจดทะเบียนเพิกถอนนิติกรรมดังกล่าวให้เสร็จภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันที่ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่ง หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติก็ให้ถือเอาคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นการแสดงเจตนา
จำเลยที่ ๑ ให้การว่า ไม่ได้ขายที่ดินและบ้านตามฟ้อง ให้จำเลยที่ ๒ ความจริงจำเลยที่ ๑ ยืมเงินจากจำเลยที่ ๒ จดทะเบียนขายฝากที่ดินและบ้านเป็นประกันเงินกู้ ซึ่งจำเลยที่ ๒ ทราบดีว่าโจทก์มิได้ให้ความยินยอม จำเลยที่ ๒ สมคบกับผู้มีชื่อแจ้งเท็จต่อเจ้าพนักงานที่ดินว่า จำเลยที่ ๑ เป็นหม้ายโดยภรรยาทิ้งร้างยังไม่ได้สมรสใหม่ หนังสือสัญญาขายที่ดินฉบับลงวันที่ ๓ พฤษภาคม ๒๕๒๒ จึงเป็นโมฆะ
จำเลยที่ ๒ ให้การว่า โจทก์จะเป็นภรรยาของจำเลยที่ ๑ จริงหรือไม่ จำเลยที่ ๒ ไม่รับรอง โจทก์จะได้ปลูกบ้านลงบนที่ดินโฉนดเลขที่ ๙๙๕๑ จริงหรือไม่ จำเลยที่ ๒ ไม่รับรอง ที่ดินและบ้านพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ ๒ โดยจำเลยที่ ๒ รับโอนมาโดยสุจริต และเสียค่าตอบแทน ทั้งจดทะเบียนโดยชอบด้วยกฎหมายที่ดินและบ้านพิพาทเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ ได้มาก่อนพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ ๕ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. ๒๕๑๙ ใช้บังคับ เมื่อไม่มีสัญญาก่อนสมรสหรือสัญญาระหว่างสมรสกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น จำเลยที่ ๑ ย่อมเป็นผู้จัดการสินบริคณห์ตามมาตรา ๑๔๖๘ มีอำนาจขายได้ตามมาตรา ๑๔๗๓ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ ๕ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. ๒๕๑๙ มาตรา ๗ ก็ให้ถือว่าไม่กระทบกระเทือนอำนาจจัดการสินบริคณห์ โจทก์จึงขอให้เพิกถอนนิติกรรมดังกล่าวไม่ได้ คำฟ้องของโจทก์เคลือบคลุม
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ ๕ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. ๒๕๑๙ มาตรา ๗ ความว่า “บทบัญญัติบรรพ ๕ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ได้ตรวจชำระใหม่ท้ายพระราชบัญญัตินี้ ไม่กระทบกระเทือนถึงอำนาจการจัดการสินบริคณห์ที่คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มีอยู่แล้วในวันใช้บังคับบทบัญญัติบรรพ ๕ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ ท้ายพระราชบัญญัตินี้ แต่ให้ถือว่าสินเดิมตามบทบัญญัติบรรพ ๕ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เดิมของฝ่ายใดเป็นสินส่วนตัวตามบทบัญญัติบรรพ ๕ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ ท้ายพระราชบัญญัตินี้ของฝ่ายนั้น
เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ ถ้าคู่สมรสฝ่ายใดเป็นผู้จัดการสินบริคณห์แห่งฝ่ายเดียวให้ถือว่าคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งได้ยินยอมให้คู่สมรสฝ่ายนั้นจัดการสินสมรสและสินส่วนตัวตามวรรคหนึ่งของตนด้วย
ในกรณีที่คู่สมรสฝ่ายใดประสงค์จะใช้อำนาจจัดการสินส่วนตัวตามวรรคหนึ่งที่เป็นส่วนของตน ถ้าคู่สมรสนั้นมิได้เป็นผู้จัดการสินบริคณห์ให้แจ้งให้คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งทราบและให้คู่สมรสทั้งสองฝ่ายร่วมกันจัดการแบ่งสินส่วนตัวดังกล่าว ที่อยู่ในสภาพที่แบ่งได้ให้แก่ฝ่ายที่ประสงค์จะจัดการ แต่ถ้าสินส่วนตัวนั้นไม่อยู่ในสภาพที่แบ่งได้ให้ทั้งสองฝ่ายจัดการร่วมกัน”
ศาลฎีกาเห็นว่าบทบัญญัติดังกล่าวเป็นการแก้ไขข้อขัดข้องในระยะเริ่มแรกที่ประกาศใช้บทบัญญัติบรรพ ๕ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ โดยให้คู่สมรสฝ่ายที่มีอำนาจจัดการสินบริคณห์อยู่แล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๕ เดิม คงมีอำนาจจัดการต่อไป ไม่ขัดต่อหลักการชายหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกันตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญปัญหาที่ว่าอำนาจจัดการสินบริคณห์ตามที่บทบัญญัติไว้ในมาตรา ๗ หมายความรวมถึงการจำหน่ายด้วยหรือไม่ พิเคราะห์แล้ว เห็นว่ามาตรา ๑๔๗๗ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ บัญญัติว่า อำนาจจัดการสินสมรสรวมถึงอำนาจจำหน่ายด้วย ดังนั้น ที่มาตรา ๗แห่งพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ ๕ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ได้ตรวจชำระใหม่ใช้คำว่า อำนาจจัดการ ก็ย่อมหมายความรวมถึงอำนาจจำหน่ายด้วยเช่นกัน แต่ทั้งนี้ต้องอยู่ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติมาตรา ๑๔๗๓ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๕ เดิม สำหรับคดีนี้ข้อเท็จจริงคู่ความรับกันว่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้างรายพิพาทเป็นสินสมรสที่จำเลยที่ ๑ ได้รับมรดกจากบิดา ไม่ปรากฏว่ามีสัญญาก่อนสมรสกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น จำเลยที่ ๑ จึงมีอำนาจจำหน่ายได้โดยไม่ต้องรับความยินยอมจากโจทก์
พิพากษายืน

Share