คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1692/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์กล่างอ้างในคำฟ้องว่า ล. สละมรดกส่วนของตนให้แก่โจทก์ คดีจึงไม่มีประเด็นเรื่องการแบ่งปันมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1750 ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นหยิบยกบันทึกคำให้การของ ล. ขึ้นวินิจฉัยว่ามีผลผูกพัน ล. เนื่องจากเป็นการประนีประนอมยอมความระหว่างทายาทผู้มีสิทธิตามมาตรา 850, 852 และมาตรา 1750 ทำให้ที่ดินมรดกส่วนของ ล. ตกแก่โจทก์ เป็นการวินิจฉัยที่ไม่ชอบ
บันทึกคำให้การของ ล. ในชั้นศาลที่ตอบทนายโจทก์ซักถามว่า “ที่ดินส่วนที่เหลือที่เป็นสิทธิของข้าฯ ที่จะได้ 5 ไร่นั้น ข้าฯ ได้ยกให้เป็นของโจทก์แล้ว ข้าฯไม่ติดใจที่จะเรียกร้องอีก” ข้อความดังกล่าวไม่ใช่การสละมรดก เพราะการสละมรดกต้องเป็นการสละส่วนของตนโดยไม่เจาะจงว่าจะให้แก่ทายาทคนใด ทั้งบันทึกคำให้การฉบับดังกล่าวเป็นการแสดงเจตนาของ ล. ฝ่ายเดียว ถือไม่ได้ว่าเป็นการแสดงเจตนาชัดแจ้งเป็นหนังสือมอบไว้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่หรือทำเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตามมาตรา 1612 โจทก์จึงไม่มีสิทธิในที่ดินมรดกส่วนของ ล.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ นายล้อม สมปาน และจำเลยที่ 1 เป็นบุตรของนายลุนกับนางไข่ สมปาน นางไข่มีที่ดินมือเปล่าแปลงหนึ่งเนื้อที่ 21 ไร่เศษ ต่อมานางไข่และนายลุนถึงแก่ความตาย ที่ดินดังกล่าวจึงตกแก่โจทก์ นายล้อมและจำเลยที่ 1 ในฐานะทายาทโดยธรรมร่วมกัน ตกลงให้จำเลยที่ 1 ยื่นคำขอเอกสารสิทธิใส่ชื่อจำเลยที่ 1 แทนโจทก์และนายล้อมตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1888 ตำบลดูน อำเภอกันทรารมย์ จังหวัดศรีสะเกษ และปี 2533 จึงได้ให้จำเลยที่ 1 ยื่นคำขอออกเป็นโฉนดที่ดินเลขที่ 2474 ตำบลดูน อำเภอกันทรารมย์ จังหวัดศรีสะเกษ เนื้อที่ 21 ไร่ 32 ตารางวา ภายหลังแบ่งขายที่ดินเฉพาะส่วนทิศเหนือเนื้อที่ 6 ไร่ ให้แก่ผู้มีชื่อไปเพื่อนำเงินที่ได้มาแบ่งปันกัน ที่ดินดังกล่าวคงเหลือเนื้อที่รวม 15 ไร่ 32 ตารางวา ซึ่งโจทก์ นายล้อมและจำเลยที่ 1 ตกลงว่าจะแบ่งที่ดินดังกล่าวจำนวนเท่ากัน คนละ 5 ไร่เศษ ต่อมาวันที่ 21 สิงหาคม 2538 จำเลยที่ 1 กลับนำที่ดินดังกล่าวไปจดทะเบียนให้แก่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุตรของจำเลยที่ 1 การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการยักย้ายปิดบังทรัพย์มรดกของนางไข่มากกว่าส่วนที่ตนจะได้ จำเลยที่ 1 จึงถูกกำจัดมิให้ได้มรดกที่ดินดังกล่าวทั้งแปลง เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2539 จำเลยที่ 2 จดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินดังกล่าวจำนวน 5 ไร่ ออกเป็นโฉนดที่ดินเลขที่ 34447 โอนให้แก่จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นบุตรของจำเลยที่ 1 อีกคนหนึ่ง ก่อนฟ้องคดีนี้นายล้อมแสดงเจตนาสละมรดกที่ดินดังกล่าวเฉพาะส่วนของนายล้อมให้แก่โจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิในที่ดินโฉนดเลขที่ 2474 และเลขที่ 34447 ทั้งหมดผู้เดียว โจทก์แจ้งจำเลยทั้งสามให้จดทะเบียนโอนที่ดินทั้งสองแปลงแก่โจทก์แล้ว แต่จำเลยทั้งสามเพิกเฉยขอให้มีคำสั่งว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 2474 และเลขที่ 34447 เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ห้ามจำเลยทั้งสามเกี่ยวข้อง ให้จำเลยทั้งสามพร้อมบริวารออกจากที่ดินดังกล่าว ให้จำเลยทั้งสามไปจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อในโฉนดทั้งสองแปลงเป็นชื่อโจทก์ หากไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสาม มิฉะนั้นให้โจทก์มีสิทธินำที่ดินดังกล่าวขายทอดตลาดนำเงินไปชำระแก่โจทก์ และมีคำสั่งกำจัดจำเลยที่ 1 มิให้ได้มรดกรายนี้โดยให้ตกแก่โจทก์ผู้เดียว
จำเลยทั้งสามให้การว่า ขณะบิดามารดามีชีวิตได้ให้ที่ดินตามฟ้องแก่จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ครอบครองทำประโยชน์ที่ดินดังกล่าวอย่างเป็นเจ้าของไม่ได้ครอบครองในฐานะทรัพย์มรดกแทนโจทก์และนายล้อม จำเลยที่ 1 ไม่เคยตกลงแบ่งที่ดิน ดังกล่าวให้แก่โจทก์และนายล้อม ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า โจทก์มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 2474 และเลขที่ 34447 ตำบลดูน อำเภอกันทรารมย์ จังหวัดศรีสะเกษ สองในสามส่วนของแต่ละแปลง ให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันจดทะเบียนโอนที่ดินทั้งสองแปลงให้แก่โจทก์ตามส่วนที่โจทก์มีสิทธิข้างต้น หากไม่สามารถปฏิบัติตามได้ ให้นำที่ดินดังกล่าวออกขายทอดตลาดแล้วเอาเงินที่ขายได้แบ่งแก่โจทก์ตามส่วนดังกล่าว คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “โจทก์ นายล้อม สมปาน และจำเลยที่ 1 เป็นบุตรของนายลุน และนางไข่ สมปาน ที่ดินพิพาทเป็นของนางไข่ เมื่อปี 2476 นางไข่ถึงแก่ความตาย และปี 2495 นายลุนถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 1 เป็นผู้ทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท เมื่อปี 2522 ทางราชการได้ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1888 ตำบลดูน อำเภอกันทรารมย์ จังหวัดศรีสระเกษ ในที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 ต่อมาปี 2533 สำนักงานที่ดินจังหวัดศรีสะเกษ สาขากันทรารมย์ได้เปลี่ยนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) ดังกล่าวเป็นโฉนดที่ดินเลขที่ 2474 ให้แก่จำเลยที่ 1 เมื่อปี 2538 จำเลยที่ 1 ขายที่ดินพิพาททางด้านทิศเหนือ เนื้อที่ 6 ไร่ แล้วแบ่งเงินให้แก่โจทก์กับนายล้อม จากนั้นจำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 2474 ส่วนที่เหลือเนื้อที่ 15 ไร่ 32 ตารางวา ให้แก่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุตรของจำเลยที่ 1 แล้วจำเลยที่ 2 จดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินพิพาท เนื้อที่ 5 ไร่ เป็นโฉนดเลขที่ 34447 โอนให้แก่จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นบุตรของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ครอบครองที่ดินโฉนดเลขที่ 2474 และ 34447 ตำบลดูน อำเภอกันทรารมย์ จังหวัดศรีสะเกษ แทนโจทก์กับนายล้อม…
ที่โจทก์ขอให้พิพากษาตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่พิพากษาว่า โจทก์มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทสองในสามส่วนของแต่ละแปลง โดยศาลชั้นต้นเห็นว่าบันทึกคำให้การของนายล้อม ลงวันที่ 4 พฤศจิกายน 2541 มีผลผูกพันนายล้อมเนื่องจากมีลักษณะเป็นการประนีประนอมยอมความระหว่างทายาทผู้มีสิทธิ จึงมีผลบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 350, 352 และมาตรา 1750 ทำให้ที่ดินพิพาทส่วนของนายล้อมตกแก่โจทก์นั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์กล่าวอ้างในคำฟ้องว่านายล้อมสละมรดกส่วนของตนให้แก่โจทก์เท่านั้น คดีจึงไม่มีประเด็นเรื่องการแบ่งปันมรดกตามมาตรา 1750 การที่ศาลชั้นต้นหยิบยกมาตรา 1750 ขึ้นวินิจฉัยจึงเป็นการไม่ชอบ นอกจากนี้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1612 บัญญัติว่า “การสละมรดกนั้น ต้องแสดงเจตนาชัดแจ้งเป็นหนังสือมอบไว้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่หรือทำสัญญาประนีประนอมยอมความ” บันทึกคำให้การที่ศาลชั้นต้นอ้างดังกล่าว นายล้อมตอบทนายโจทก์ซักถามว่า “ที่ดินส่วนที่เหลือที่เป็นสิทธิของข้าฯที่จะได้ 5 ไร่ นั้น ข้าฯ ได้ยกให้เป็นของโจทก์แล้ว ข้าฯ ไม่ติดใจที่จะเรียกร้องอีก” ข้อความดังกล่าวไม่ใช่การสละมรดก เพราะการสละมรดกตามความหมายในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1612 ต้องเป็นการสละส่วนของตนโดยไม่เจาะจงว่าจะให้แก่ทายาทคนใด ทั้งบันทึกคำให้การฉบับดังกล่าวเป็นการแสดงเจตนาของนายล้อมฝ่ายเดียว ถือไม่ได้ว่าเป็นการแสดงเจตนาชัดแจ้งเป็นหนังสือมอบไว้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ หรือทำเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1612 โจทก์จึงไม่มีสิทธิในที่ดินมรดกส่วนของนายล้อม สำหรับการแบ่งทรัพย์มรดกนั้นให้เป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1745 ประกอบมาตรา 1364 ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษากลับเป็นว่า โจทก์มีสิทธิในที่ดินโฉนดเลขที่ 2474 และเลขที่ 34447 ตำบลดูน อำเภอกันทรารมย์ จังหวัดศรีสะเกษ หนึ่งในสามส่วนของแต่ละแปลงให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันจดทะเบียนโอนที่ดินทั้งสองแปลงให้แก่โจทก์ตามส่วนที่โจทก์มีสิทธิ สำหรับการแบ่งที่ดินนั้นให้เป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1364

Share