คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 809/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ทนายจำเลยขอส่งตัวจำเลยไปตรวจจิตที่โรงพยาบาล โจทก์แถลงว่ากรณีไม่เข้าเหตุตาม ป.วิ.อ. มาตรา 14 ศาลชั้นต้นเห็นว่าในระหว่างการสอบสวนและพิจารณาจำเลยสามารถต่อสู้คดีได้ เหตุที่ทนายจำเลยขอส่งตัวจำเลยไปตรวจจิตที่โรงพยาบาลนั้นไม่เข้าเหตุตาม ป.วิ.อ. มาตรา 14 ดังนั้น เมื่อศาลชั้นต้นชี้ขาดว่า จำเลยสามารถต่อสู้คดีได้และจำเลยมิได้โต้แย้งคัดค้าน การดำเนินกระบวนพิจารณาต่อมาจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว
จำเลยกับผู้ตายซึ่งเป็นบิดาของจำเลยไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกันมาก่อน ทั้งไม่มีมูลเหตุใดอันเป็นเรื่องรุนแรงพอที่จะทำให้จำเลยต้องฆ่าผู้ตายซึ่งเป็นผู้ให้กำเนิดและเลี้ยงดูจำเลยมาโดยตลอด จึงน่าเชื่อว่าจำเลยมีความผิดปกติในความคิดและการรับรู้ แม้ยังไม่เป็นการชัดแจ้งว่าจำเลยกระทำผิดในขณะไม่สามารถรู้ผิดชอบหรือไม่สามารถบังคับตนเองได้เพราะมีจิตบกพร่อง แต่การที่จำเลยเกิดความหวาดกลัวว่าจะมีคนมาทำร้ายและหลังเกิดเหตุจำเลยวิ่งหลบหนีไปนั้น แสดงว่าจำเลยมีอาการผิดปกติทางจิตใจหรือจิตบกพร่อง แต่ก็เชื่อได้ว่าจำเลยยังสามารถรู้ผิดชอบอยู่บ้าง ซึ่งศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้ตาม ป.อ. มาตรา 65 วรรคสอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 289, 33 ริบของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (1) ลงโทษประหารชีวิต ริบของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลดโทษแก่จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 52 (1) หนึ่งในสาม คงจำคุกตลอดชีวิตนอกจากที่แก้ให้เป็นตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองว่า เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2542 เวลากลางวัน จำเลยได้ใช้ท่อนไม้เป็นอาวุธตีทำร้ายนายแอ้ ยศตุ้ย บิดาของจำเลยโดยเจตนาฆ่า เป็นเหตุให้นายแอ้ถึงแก่ความตาย ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยในประการแรกว่า จำเลยได้ยกเหตุว่าจำเลยเป็นบุคคลวิกลจริตและไม่สามารถต่อสู้คดีขึ้นกล่าวอ้างในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า ตามบัญชีพยานของจำเลยฉบับลงวันที่ 31 ตุลาคม 2543 อันดับที่ 4 และที่ 5 และบัญชีพยานเพิ่มเติมครั้งที่ 1 ลงวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2544 จำเลยอ้างผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวชกับแพทย์ทางจิตเวช และหลังจากจำเลยสืบพยานไปแล้วทนายจำเลยแถลงขอให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางจิตเวชมาวิเคราะห์จำเลยว่ามีอาการทางจิตหรือไม่ เพื่อประโยชน์ในการต่อสู้คดีของจำเลย ตามรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 8 พฤศจิกายน 2543 และทนายจำเลยแถลงในรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 10 พฤษภาคม 2544 ว่า “ตามที่ได้รับหมายเรียกจากศาลไปให้แพทย์หญิงรุ่งแสง กนกวุฒิ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวชประจำโรงพยาบาลพุทธชินราชนั้น แพทย์หญิงรุ่งแสงประสงค์ที่จะขอให้นำตัวจำเลยไปตรวจจิตที่โรงพยาบาลพุทธชินราช” แสดงให้เห็นว่าจำเลยได้ยกเหตุว่าจำเลยเป็นบุคคลวิกลจริตและไม่สามารถต่อสู้คดีขึ้นกล่าวอ้างในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้นแล้ว การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 เห็นว่าเป็นข้อเท็จจริงที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นไม่รับวินิจฉัยให้จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ฎีกาของจำเลยในประเด็นนี้ฟังขึ้น อนึ่งเพื่อความรวมเร็วในการพิจารณาคดีศาลฎีกาเห็นสมควรที่จะวินิจฉัยไปโดยไม่ต้องย้อนสำนวนให้ศาลอุทธรณ์ภาค 6 ได้วินิจฉัยก่อน ศาลฎีกาเห็นว่า ตามรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 10 พฤษภาคม 2544 ทนายจำเลยขอส่งตัวจำเลยไปตรวจจิตที่โรงพยาบาลพุทธชินราชนั้น และโจทก์แถลงว่ากรณีไม่เข้าเหตุตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 14 ศาลชั้นต้นพิเคราะห์แล้ว เห็นว่า ในระหว่างการสอบสวนและพิจารณาจำเลยสามารถต่อสู้คดีได้ เหตุที่ทนายจำเลยขอส่งตัวจำเลยไปตรวจจิตที่โรงพยาบาลพุทธชินราชนั้น ไม่เข้าเหตุตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 14 ดังนั้น เมื่อศาลชั้นต้นชี้ขาดว่าจำเลยสามารถต่อสู้คดีได้และจำเลยมิได้โต้แย้งคัดค้าน การดำเนินกระบวนพิจารณาต่อมาจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยในประการต่อไปว่า จำเลยกระทำผิดในขณะไม่สามารถรู้ผิดชอบ หรือไม่สามารถบังคับตนเองได้เพราะมีจิตบกพร่องหรือไม่ เห็นว่า นายวิสุทธิ์ ยศตุ้ย น้องชายจำเลย นางดวงรัตน์ ชื่นทิม ที่สาวจำเลย และนางคำใส ยศตุ้ย มารดาจำเลยพยานโจทก์เบิกความตอบคำถามค้านทนายจำเลยในทำนองเดียวกันว่า จำเลยมีอากาทางประสาท และเห็นจำเลยโวยวายว่าจะมีผู้อื่นมาฆ่าจำเลย บิดาและมารดาจำเลยเคยนำจำเลยไปรักษาอาการทางประสาทที่โรงพยาบาลจังหวัดเชียงใหม่ แต่เมื่อไปถึงโรงพยาบาลจำเลยวิ่งหนีไม่ยอมเข้าไปรักษา และก่อนเกิดเหตุ 2 เดือน จำเลยมีอาการคลุ้มคลั่งกลัวคนอื่นจะมาฆ่า ในวันเกิดเหตุนายวิสุทธิ์ได้ยินเสียงเอะอะโวยวายของจำเลยว่ากลัวคนจะมาฆ่า หลังเกิดเหตุจำเลยวิ่งหลบหนีไป ประกอบกับนายวิสุทธิ์และนางดวงรัตน์ให้การไว้ในชั้นสอบสวนตามบันทึกคำให้การเอกสารหมาย จ.2 และ จ.3 ว่าเห็นจำเลยยืนถือไม้หน้าสามยืนอยู่ข้างเปลที่ผู้ตายนอนและมีเลือดไหลออกจากจมูกของผู้ตายพร้อมกับตะโกนว่าจำเลยฆ่าผู้ตาย และก่อนเกิดเหตุ 2 เดือน จำเลยมีอาการเกิดความกลัวหวาดระแวงว่าจะมีคนมาทำร้าย ซึ่งคำให้การชั้นสอบสวนของนายวิสุทธิ์และนางด้วงรัตน์ให้การต่อพนักงานสอบสวน หลังเกิดเหตุเพียง 5 วัน ตามพฤติการณ์เชื่อได้ว่านายวิสุทธิ์และนางดวงรัตน์ให้การต่อพนักงานสอบสวนด้วยความสัตย์จริง ไม่มีเวลาคิดไตร่ตรองเพื่อช่วยเหลือจำเลย เชื่อว่าได้ให้การไปตามความจริงที่ได้รู้ได้เห็น พนักงานสอบสวนจึงได้บันทึกและให้พยานลงชื่อไว้ การที่พยานโจทก์ดังกล่าวตอบคำถามค้านของทนายจำเลยจึงไม่เป็นการเบิกความเพื่อช่วยเหลือจำเลยแต่อย่างใด ดังนั้นข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบมาฟังได้ว่าจำเลยเป็นผู้ฆ่าผู้ตายและจำเลยมีอาการทางประสาทเกิดความกลัว หวาดระแวงว่าจะมีคนมาทำร้าย และตามพฤติการณ์แห่งคดีจำเลยกับผู้ตายซึ่งเป็นบิดาของจำเลยไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกันมาก่อน ทั้งไม่มีมูลเหตุใดอันเป็นเรื่องรุนแรงพอที่จะทำให้จำเลยต้องฆ่าผู้ตาย ซึ่งเป็นผู้ให้กำเนิดและเลี้ยงดูจำเลยมาโดยตลอด จึงน่าเชื่อว่าจำเลยมีความผิดปกติในความคิดและการรับรู้ แม้ข้อเท็จจริงเพียงเท่านี้ยังไม่เป็นการชัดแจ้งว่าจำเลยกระทำผิดในขณะไม่สามารถรู้ผิดชอบ หรือไม่สามารถบังคับตนเองได้เพราะมีจิตบกพร่องแต่การที่จำเลยเกิดความหวาดกลัวว่าจะมีคนมาทำร้ายและหลังเกิดเหตุจำเลยวิ่งหลบหนีไปนั้น แสดงว่าจำเลยมีอาการผิดปกติทางจิตใจหรือจิตบกพร่อง แต่ก็เชื่อได้ว่าจำเลยยังสามารถรู้ผิดชอบอยู่บ้าง ซึ่งศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 65 วรรคสอง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยฟังขึ้นบางส่วน ฎีกาในประเด็นอื่นไม่จำต้องวินิจฉัย เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (1) ประกอบมาตรา 65 วรรคสอง ลงโทษจำคุก 6 ปี จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกมีกำหนด 4 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6

Share