แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ขณะที่ ล. พนักงานทำความสะอาดภายในเครื่องบินจัดกระเป๋าหลังเก้าอี้ที่นั่งผู้โดยสารพบเครื่องเล่นซีดีที่ผู้โดยสารลืมทิ้งไว้ แต่ไม่ได้แจ้งส่งคืนตามระเบียบ แม้ถูกทวงถามก็ไม่ยอมบอกกล่าวแก่ผู้ค้นหา กลับนำเครื่องเล่นซีดีไปซุกซ่อนไว้ในถุงเก็บขยะที่ตนเป็นผู้ครอบครองดูแลอยู่ พฤติการณ์เช่นนี้เป็นการไม่ซื่อตรงต่อหน้าที่โดยมีเจตนาจะนำเครื่องเล่นซีดีดังกล่าวเก็บซุกซ่อนแล้วนำไปเป็นประโยชน์ส่วนตนต่อไป การกระทำของ ล. จึงเป็นการกระทำทุจริตต่อหน้าที่อันเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง มีโทษถึงขั้นไล่ออก การที่โจทก์เลิกจ้าง ล. จึงมิใช่การกระทำอันไม่เป็นธรรมตามมาตรา 37 โจทก์มีอำนาจเลิกจ้าง ล. ได้ตามมาตรา 37 (1) แห่ง พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ฯ
คดีนี้ศาลแรงงานกลางได้มีคำพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ที่ 5/2546 ลงวันที่ 6 สิงหาคม 2546 และให้โจทก์เลิกจ้าง ล. ตามที่โจทก์ได้มีคำสั่งเลิกจ้างไว้แล้ว ผลแห่งคดีคือโจทก์ชนะคดีนี้ เพราะฉะนั้นข้ออุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่า ตามคำร้องของ ล. ที่ยื่นต่อจำเลยทั้งสิบห้านั้นไม่เข้าข่ายมาตรา 37 และ ล. ไม่ใช่สมาชิกของสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทยซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้อง ล. จึงไม่ใช่ผู้เสียหายอันจะยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์จำเลยได้ คณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ย่อมไม่มีอำนาจรับคำร้องของ ล. ไว้พิจารณา ถึงแม้จะวินิจฉัยไปก็ไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลง จึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 31
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ที่ 5/2546 ลงวันที่ 6 สิงหาคม 2546
จำเลยทั้งสิบห้าให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ที่ 5/2546 ลงวันที่ 6 สิงหาคม 2546 ให้โจทก์เลิกจ้างนายเลิศ ทวิชัย ตามที่โจทก์ได้มีคำสั่งเลิกจ้างไว้แล้วได้
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติในเบื้องต้นว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายประเภทบริษัทมหาชน จำกัด และมีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงคมนาคม จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ที่ 6 ที่ 8 ที่ 10 ถึงที่ 15 เป็นคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ในขณะมีคำสั่งคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ที่ 5/2546 ลงวันที่ 6 สิงหาคม 2546 มีจำเลยที่ 3 ที่ 5 ที่ 7 ที่ 9 ปฏิบัติหน้าที่แทนจำเลยที่ 2 ที่ 4 ที่ 6 และที่ 8 ตามลำดับ นายเลิศ ทวิชัย เป็นลูกจ้างโจทก์ ตั้งแต่วันที่ 20 มกราคม 2540 ทำงานตำแหน่งพนักงานทำความสะอาดภายในเครื่องบินมีหน้าที่จัดหลังกระเป๋าเก้าอี้ผู้โดยสาร ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 7,100 บาท และเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทยตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2540 เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2546 โจทก์และสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทยได้ทำบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างไว้ เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2545 ผู้โดยสารลืมเครื่องเล่นซีดีชนิดพกพาไว้ที่กระเป๋าหลังเก้าอี้ผู้โดยสารบนเครื่องบินเที่ยวบินทีจี 645 หน้าที่นั่งหมายเลข 65 บี นายเลิศเป็นผู้รับผิดชอบทำความสะอาด นายไพรัช ควรชม เป็นหัวหน้างาน ขณะทำความสะอาด มีนายธนวัฒน์ อภัยวงศ์ พนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน และนางสาวสมปรีดา วงศ์เที่ยง พนักงานต้อนรับภาคพื้นดินขึ้นไปหาเครื่องเล่นซีดีตามที่นั่งผู้โดยสารแต่ไม่พบเนื่องจากทำความสะอาดบริเวณนั้นเสร็จแล้ว จึงให้นายเลิศค้นหาในถุงเก็บขยะ พบเครื่องเล่นซีดีจึงนำส่งคืนผู้โดยสาร ต่อมามีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนความผิดทางวินัยของนายเลิศตามระเบียบของโจทก์ และมีคำสั่งพักงานนายเลิศเพื่อให้คณะกรรมการสอบสวนความผิดทางวินัยได้พิจารณาและมีความเห็นเสียก่อน คณะกรรมการสอบสวนมีความเห็นว่านายเลิศได้นำเครื่องเล่นซีดีของผู้โดยสารไปซุกซ่อนไว้เพื่อนำไปเป็นประโยชน์ส่วนตัว จึงเป็นความผิดในกรณีร้ายแรงตามระเบียบว่าด้วยการบริหารงานบุคคล พ.ศ.2537 ตอน 2 ข้อ 13.2.1 คือทุจริตต่อหน้าที่ นายเลิศถูกลงโทษให้ออกจากการเป็นพนักงานของโจทก์เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2546 ต่อมาวันที่ 22 พฤษภาคม 2546 นายเลิศได้ยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการอุทธรณ์ของโจทก์ว่าไม่มีเจตนากระทำผิด เพราะผู้โดยสารได้เอาเครื่องเล่นซีดีใส่ในถุงอาเจียนซึ่งไม่สามารถมองเห็นจากภายนอกได้ นายเลิศก็ไม่ได้เปิดดูและต้องทำงานให้รวดเร็วเสร็จทันเวลา เรื่องอยู่ในระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการอุทธรณ์โจทก์ และในวันเดียวกัน คณะกรรมการกิจการสัมพันธ์ของโจทก์ได้ประชุมเกี่ยวกับการลงโทษนายเลิศแล้วเห็นว่า การสอบสวนกระทำไปโดยความไม่เป็นธรรม ไม่เห็นด้วยกับการสอบสวนของโจทก์ มีมติให้โจทก์รับนายเลิศกลับเข้าทำงาน แต่โจทก์ไม่ปฏิบัติตาม ต่อมาวันที่ 11 มิถุนายน 2546 นายเลิศได้ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ วันที่ 6 สิงหาคม 2546 คณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์จึงออกคำสั่งที่ 5/2546 ว่า การกระทำของนายเลิศเป็นเพียงความประมาทเลินเล่อ ขาดความระมัดระวัง ประวัติไม่เคยกระทำผิดมาก่อน ไม่ควรได้รับโทษถึงให้ออก ให้รับนายเลิศกลับเข้าทำงานตามเดิม โจทก์จึงมาฟ้องเพิกถอนมติของจำเลยทั้งสิบห้าเป็นคดีนี้ ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่านายเลิศก็เป็นผู้เสียหายเนื่องจากการเลิกจ้างของโจทก์จึงมีสิทธิที่จะยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์เพื่อให้วินิจฉัยได้ และวินิจฉัยต่อไปว่าขณะที่นายเลิศจัดกระเป๋าหลังเก้าอี้ที่นั่งผู้โดยสารพบเครื่องเล่นซีดีที่ผู้โดยสารลืมทิ้งไว้ แต่ไม่ได้แจ้งส่งคืนตามระเบียบแม้ถูกทวงถามก็ไม่ยอมบอกกล่าวแก่ผู้ค้นหา กลับนำเครื่องเล่นซีดีไปซุกซ่อนไว้ในถุงเก็บขยะที่ตนเป็นผู้ครอบครองดูแลอยู่ พฤติการณ์เช่นนี้เป็นการไม่ซื่อตรงต่อหน้าที่โดยมีเจตนาจะนำเครื่องซีดีดังกล่าวเก็บซุกซ่อนแล้วนำไปเป็นประโยชน์ส่วนตนต่อไป การกระทำของนายเลิศจึงเป็นการกระทำทุจริตต่อหน้าที่อันเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง มีโทษถึงขั้นไล่ออก การที่โจทก์เลิกจ้างนายเลิศจึงมิใช่การกระทำอันไม่เป็นธรรมตามมาตรา 37 โจทก์มีอำนาจเลิกจ้างนายเลิศได้ตามมาตรา 37 (1) แห่งพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 มีเหตุเพิกถอนคำสั่งของจำเลยทั้งสิบห้าได้ ที่โจทก์อุทธรณ์ว่าตามคำร้องของนายเลิศที่ยื่นต่อจำเลยทั้งสิบห้านั้นไม่เข้าข่ายมาตรา 37 และนายเลิศไม่ใช่สมาชิกของสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย ซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้อง นายเลิศจึงมิใช่ผู้เสียหายอันจะยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์จำเลยได้ คณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ย่อมไม่มีอำนาจรับคำร้องของนายเลิศไว้พิจารณา เห็นว่า คดีนี้ศาลแรงงานกลางได้มีคำพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ที่ 5/2546 ลงวันที่ 6 สิงหาคม 2546 และให้โจทก์เลิกจ้างนายเลิศ ทวิชัย ตามที่โจทก์ได้มีคำสั่งเลิกจ้างไว้แล้ว ผลแห่งคดีคือโจทก์ชนะคดีนี้ เพราะฉะนั้นข้ออุทธรณ์ของโจทก์ดังกล่าวถึงแม้วินิจฉัยไปก็ไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลง จึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์