คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6550/2549

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

แม้จำเลยที่ 1 ได้ให้ข้อมูลเบาะแสถึงเฮโรอีนของกลางซึ่งพยานโจทก์ไม่มีผู้ใดรู้เห็นและทราบมาก่อน ได้ความว่าเจ้าพนักงานตำรวจใช้เวลาตรวจค้นจนกระทั่งพบเฮโรอีนของกลางเพียงประมาณครึ่งชั่วโมง ลักษณะการซุกซ่อนเฮโรอีนของกลางภายในห้องพักของจำเลยที่ 1 ย่อมอยู่ในวิสัยที่เจ้าพนักงานตำรวจจะสามารถค้นพบได้จากการปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ จึงมิใช่ผลโดยตรงจากการแจ้งเบาะแสของจำเลยที่ 1 ไม่อาจนับว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้กระทำความผิดผู้ได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อพนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจ หรือพนักงานสอบสวน อันจะเป็นเหตุให้สมควรใช้ดุลพินิจกำหนดโทษจำเลยที่ 1 น้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 100/2
ตามบทกำหนดโทษตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 66 วรรคสาม มีระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่หนึ่งล้านบาทถึงห้าล้านบาท หรือประหารชีวิต ศาลล่างทั้งสองวางโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนให้ประหารชีวิต ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตาม ป.อ. มาตรา 78 ประกอบด้วยมาตรา 52 คงลงโทษจำเลยที่ 1 ให้จำคุกตลอดชีวิต และปรับ 1,000,000 บาท ด้วยนั้น ไม่ต้องด้วยบทบัญญัติของกฎหมายซึ่งศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขให้ถูกต้องโดยไม่ลงโทษปรับได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83,91 พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 7 ริบยาเสพติดให้โทษของกลาง
จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ
จำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง วรรคสาม (3), 66 วรรคสาม, 102 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนยาเสพติดให้โทษประเภท 1 (ที่ถูก แต่ละกระทงมีโทษเท่ากัน ให้ลงโทษฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน) วางโทษประหารชีวิต ฐานมีเฮโรอีนยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย วางโทษจำคุกตลอดชีวิต และปรับ 1,000,000 บาท จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กระทงละกึ่งหนึ่ง ประกอบด้วยมาตรา 52 และ 53 ตามลำดับ ฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ลงโทษจำคุกตลอดชีวิตและปรับ 1,000,000 บาท ฐานมีเฮโรอีนยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุก 25 ปี และปรับ 500,000 บาท แต่เมื่อศาลลงโทษจำคุกตลอดชีวิตแล้ว จึงไม่อาจลงโทษจำคุก 25 ปี ได้อีก จึงให้ลงโทษจำเลยที่ 1 เพียงจำคุกตลอดชีวิต และปรับ 1,500,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 แต่ให้กักขังแทนค่าปรับไม่เกิน 2 ปี ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ริบยาเสพติดให้โทษของกลาง
โจทก์ และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่าโจทก์มิได้นำตัวสายลับมาเบิกความจึงไม่อาจรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดตามฟ้องนั้นปรากฏว่า ในชั้นอุทธรณ์จำเลยที่ 1 มิได้โต้แย้งคัดค้านว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้กระทำความผิด เป็นแต่เพียงขอให้ลดโทษเท่านั้น เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ปัญหานี้จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 245 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ส่วนที่จำเลยที่ 1 ฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบากว่าคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองนั้น เห็นว่า การที่จำเลยที่ 1 มีเมทแอมเฟตามีนจำนวน 200,000 เม็ด มีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 3,349.20 กรัม ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และจำหน่ายให้แก่สายลับผู้ล่อซื้อในราคา 6,000,000 บาท อันเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทในมาตราเดียวกันซึ่งมีโทษเท่ากัน นับว่าเป็นการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษจำนวนมาก ตามสภาพและลักษณะแห่งความผิด นับเป็นภัยต่อมนุษยชาติ บั่นทอนความสงบสุขของสังคมและเศรษฐกิจของชาติ ที่ศาลล่างทั้งสองวางโทษจำเลยที่ 1 โดยให้วางโทษประหารชีวิตในความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน ก่อนลดโทษให้นั้น เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว และที่จำเลยที่ 1 มีเฮโรอีนมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 371.641 กรัม ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ซึ่งศาลล่างทั้งสองวางโทษจำเลยที่ 1 จำคุกตลอดชีวิตและปรับ 1,000,000 บาท อันเป็นระวางโทษขั้นต่ำของกฎหมาย เมื่อจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพเป็นการให้ความรู้แก่ศาลอันเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ก็มีการใช้ดุลพินิจในเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษขั้นสูงสุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 ให้แก่จำเลยที่ 1 กึ่งหนึ่ง โดยลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุก 25 ปี และปรับ 500,000 บาท ซึ่งเป็นคุณแก่จำเลยที่ 1 อย่างมากแล้ว แม้จำเลยที่ 1 จะอ้างว่าหลังจากเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยที่ 1 พร้อมด้วยเมทแอมเฟตามีนของกลางที่ได้จากการล่อซื้อแล้ว จำเลยที่ 1 ได้ให้ข้อมูลเบาะแสถึงเฮโรอีนของกลางซึ่งพยานโจทก์ไม่มีผู้ใดรู้เห็นและทราบมาก่อน แต่เฮโรอีนของกลางดังกล่าวซุกซ่อนอยู่ภายในห้องพักของจำเลยที่ 1 และปรากฏหลักฐานตามบันทึกการจับกุมเอกสารหมาย จ.3 ซึ่งจำเลยที่ 1 มิได้โต้แย้งคัดค้านหรือนำสืบหักล้างให้เห็นเป็นอย่างอื่น ได้ความว่าเจ้าพนักงานตำรวจใช้เวลาตรวจค้นจนกระทั่งพบเฮโรอีนของกลางเพียงประมาณครึ่งชั่วโมง ลักษณะการซุกซ่อนเฮโรอีนของกลางภายในห้องพักของจำเลยที่ 1 ย่อมอยู่ในวิสัยที่เจ้าพนักงานตำรวจจะสามารถค้นพบได้จากการปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ การที่เจ้าพนักงานตำรวจตรวจยึดเฮโรอีนมาเป็นของกลางในคดีจึงมิใช่ผลโดยตรงจากการแจ้งเบาะแสของจำเลยที่ 1 ไม่อาจนับว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้กระทำความผิดผู้ได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อพนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจ หรือพนักงานสอบสวน อันจะเป็นเหตุให้สมควรใช้ดุลพินิจกำหนดโทษจำเลยที่ 1 น้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2 ฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ขอให้เปลี่ยนแปลงแก้ไขดุลพินิจในการกำหนดโทษของศาลล่างทั้งสองฟังไม่ขึ้น อย่างไรก็ตามบทกำหนดโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 66 วรรคสาม มีระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่หนึ่งล้านบาทถึงห้าล้านบาท หรือประหารชีวิต ศาลล่างทั้งสองวางโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนให้ประหารชีวิต และลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบด้วยมาตรา 52 คงลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนให้จำคุกตลอดชีวิต และปรับ 1,000,000 บาท ด้วยนั้น ไม่ต้องด้วยบทบัญญัติของกฎหมาย ซึ่งศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225”
พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่วางโทษปรับจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share