คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6353/2549

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

เลขหมายประจำปืนไม่ใช่ทะเบียนอาวุธปืนซึ่งเป็นเอกสารที่เจ้าพนักงานจัดทำและมิได้เป็นเอกสารที่เป็นหลักฐานแห่งการก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวนหรือระงับซึ่งสิทธิ จึงไม่ใช่เอกสารราชการและเอกสารสิทธิ การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิหรือเอกสารราชการตาม ป.อ. มาตรา 265 จำเลยที่ 1 คงมีความผิดฐานปลอมเอกสารตาม ป.อ. มาตรา 264 วรรคแรก และใช้เอกสารปลอมตาม ป.อ. มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 264 วรรคแรก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 264, 265, 268, 371 พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15, 66, 102 พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 10 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ริบเมทแอมเฟตามีน อาวุธปืน และเครื่องกระสุนปืนของกลาง
จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพฐานปลอมเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธิปลอม มีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืน และพาอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย แต่ปฏิเสธความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ
จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพ
จำเลยที่ 3 ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 66 วรรคสอง, 102 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุกจำเลยทั้งสามตลอดชีวิต จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพในชั้นจับกุม ชั้นสอบสวน เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 33 ปี 4 เดือน จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพชั้นจับกุม ชั้นสอบสวน และชั้นพิจารณาของศาลเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 คงจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 25 ปี จำเลยที่ 3 ให้การรับสารภาพชั้นจับกุมเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 คงจำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 33 ปี 4 เดือน ฐานจำหน่ายยาเสพติดให้โทษประเภท 1 โดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกจำเลยทั้งสามตลอดชีวิต จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมชั้นสอบสวน เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 33 ปี 4 เดือน จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพในชั้นจับกุม ชั้นสอบสวน และชั้นพิจารณาของศาล เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 คงจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 25 ปี จำเลยที่ 3 ให้การรับสารภาพในชั้นจับกุม เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 คงจำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 33 ปี 4 เดือน นอกจากนี้ จำเลยที่ 1 ยังมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 72 วรรคหนึ่ง, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 เรียงกระทงลงโทษฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 2 ปี และปรับ 1,000 บาท จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพในชั้นจับกุม ชั้นสอบสวน และชั้นพิจารณาของศาล เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา เป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี และปรับ 500 บาท ฐานมีเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต วางโทษปรับ 1,000 บาท จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพชั้นจับกุม ชั้นสอบสวน ชั้นพิจารณา เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับ 500 บาท ฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปโดยฝ่าฝืนกฎหมายให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นบทหนักจำคุก 1 ปี จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพชั้นจับกุม ชั้นสอบสวน และชั้นพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 6 เดือน ฐานใช้เอกสารสิทธิปลอมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 ประกอบมาตรา 265 จำคุก 1 ปี จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพในชั้นพิจารณา เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 6 เดือน รวมจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 67 ปี 20 เดือน และปรับ 1,000 บาท แต่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (3) เมื่อวางโทษจำคุกทุกกระทงแล้วโทษจำคุกทั้งสิ้นต้องไม่เกิน 50 ปี คงลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 50 ปี และปรับ 1,000 บาท สำหรับจำเลยที่ 2 เป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นต้องระวางโทษเป็นสามเท่าของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 10 เมื่อรวมโทษจำคุกทุกกระทงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (3) แล้วคงจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 50 ปี จำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 66 ปี 8 เดือน แต่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (3) เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้ว โทษจำคุกทั้งสิ้นต้องไม่เกิน 50 ปี คงจำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 50 ปี ริบเมทแอมเฟตามีนและอาวุธปืนกับเครื่องกระสุนปืนของกลาง
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง (ที่ถูกวรรคสองด้วย), 66 วรรคสอง ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนจำนวนดังกล่าว เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท แต่ละบทมีโทษเท่ากัน จึงให้ลงโทษฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน ให้จำคุกคนละตลอดชีวิต เมื่อลงโทษตลอดชีวิตแล้วไม่สามารถเพิ่มโทษจำเลยที่ 2 ตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 10 ได้ ลดโทษให้จำเลยทั้งสามแล้ว คงจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 3 คนละ 33 ปี 4 เดือน จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 25 ปี เมื่อบวกโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานอื่นแล้ว รวมจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 35 ปี 4 เดือน และปรับ 500 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้กักขังแทน (ที่ถูกต้องระบุด้วยว่าไม่ลงโทษฐานมีเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตอีกกระทงหนึ่งด้วย) นอกจากที่ให้แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังยุติว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามโจทก์ฟ้อง จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่าย เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยทั้งสามพร้อมเมทแอมเฟตามีนจำนวน 6,000 เม็ด คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 144.963 กรัม ของกลาง มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 3 ว่า จำเลยที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายหรือไม่ โจทก์มีพันตำรวจโทสุรกิตต์ คล้ายอุดม จ่าสิบตำรวจอำนวย สุวรรณนุรักษ์ เบิกความเป็นพยานว่า จ่าสิบตำรวจอำนวยได้รับมอบหมายให้ติดต่อซื้อเมทแอมเฟตามีนจากจำเลยที่ 1 ในที่สุดจำเลยที่ 1 ตกลงจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนแก่จ่าสิบตำรวจอำนวย กำหนดส่งมอบวันที่ 30 มกราคม 2544 เวลาประมาณ 12 นาฬิกา ที่วัดศรีสุวรรณ ตำบลสมอทอง อำเภอท่าชนะ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ครั้งถึงเวลานัด จำเลยที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์พาจ่าสิบตำรวจอำนวยไปรับเมทแอมเฟตามีน เมื่อไปถึงพบจำเลยที่ 2 ยืนอยู่กับจำเลยที่ 3 ข้าง ๆ มีรถจักรยานยนต์จอดอยู่ 1 คัน จำเลยที่ 2 นำเมทแอมเฟตามีนของกลางมามอบแก่จ่าสิบตำรวจอำนวย ส่วนจำเลยที่ 3 ยังคงยืนอยู่ที่เดิม เห็นว่า การมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายมีโทษสถานหนัก ผู้กระทำต้องกระทำโดยปกปิดไม่ให้ผู้ไม่มีส่วนร่วมได้รับรู้ วันเกิดเหตุเป็นวันกำหนดนัดส่งมอบเมทแอมเฟตามีน จำเลยที่ 1 พาจ่าสิบตำรวจอำนวยไปรับมอบเมทแอมเฟตามีน เมื่อไปถึงพบจำเลยที่ 2 รออยู่แล้ว แสดงว่าจำเลยที่ 1 กับที่ 2 ได้นัดหมายกันไว้ก่อน จำเลยที่ 2 เป็นผู้นำเมทแอมเฟตามีนของกลางมาเพื่อจำหน่าย มีรถจักรยานยนต์ 1 คัน จอดอยู่ใกล้ ๆ จำเลยที่ 2 และที่ 3 แสดงว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 มาด้วยกัน พันตำรวจโทสุรกิตต์ และจ่าสิบตำรวจอำนวยปฏิบัติการตามหน้าที่ ไม่รู้จักจำเลยทั้งสามมาก่อน ไม่มีเหตุเบิกความปรักปรำจำเลยที่ 3 พยานหลักฐานของโจทก์ดังกล่าวฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่าย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 3 ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง สำหรับความผิดเกี่ยวกับเอกสาร โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ปลอมเอกสารโดยขูดลบเลขหมายประจำปืนออกแล้วตอกเลขหมายทับใหม่เป็น D 808807 ซึ่งเป็นเลขหมายอันเป็นเอกสารสิทธิที่แท้จริงของอาวุธปืนของนางลัดดา บัวบางงอน และจำเลยที่ 1 ได้ใช้ทะเบียนอาวุธปืนที่ปลอมขึ้นดังกล่าว ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264, 265, 268 จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานใช้เอกสารสิทธิปลอมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 ประกอบมาตรา 265 ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ทะเบียนอาวุธปืนเป็นเอกสารราชการมิใช่เอกสารสิทธิ และลงโทษจำเลยที่ 1 ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น เห็นว่า เลขหมายประจำปืนไม่ใช่ทะเบียนอาวุธปืนซึ่งเป็นเอกสารที่เจ้าพนักงานจัดทำและมิได้เป็นเอกสารที่เป็นหลักฐานแห่งการก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน หรือระงับซึ่งสิทธิ จึงมิใช่เอกสารราชการและเอกสารสิทธิ การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิหรือเอกสารราชการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265 จำเลยที่ 1 คงมีความผิดฐานปลอมเอกสารตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 วรรคแรก และใช้เอกสารปลอมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 264 วรรคแรก ศาลล่างทั้งสองปรับบทกฎหมายไม่ถูกต้องจึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยที่ 1 ไม่ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจแก้ไขปรับบทลงโทษให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 วรรคแรก กระทงหนึ่ง มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบ 264 วรรคแรก กระทงหนึ่ง ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 264 วรรคแรก เพียงกระทงเดียวตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคสอง ส่วนโทษและนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share