คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6324/2549

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

กระสุนปืนลูกซองของกลางจำนวน 4 นัด ได้ใช้ทดลองยิงหมดแล้ว การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้ริบกระสุนปืนลูกซองจำนวน 4 นัด ของกลางด้วยนั้นจึงไม่ถูกต้อง เพราะการริบทรัพย์สินเป็นการเอาทรัพย์สินที่ริบเป็นของแผ่นดิน ดังนั้นทรัพย์สินที่จะริบต้องมีตัวอยู่ ถ้าทรัพย์สินที่จะริบไม่มีอยู่ย่อมสั่งริบไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83, 84, 91, 288, 289, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ และริบของกลาง
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตาย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 1 จากสารบบความ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (4), 371 ประกอบมาตรา 83 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันเรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ให้ประหารชีวิต ฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 2 ปี ฐานพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน และทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 1 ปี คำให้การรับสารภาพของจำเลยที่ 3 ในชั้นมอบตัวและชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดีอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 52 (1) ฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนคงจำคุกตลอดชีวิต ฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 1 ปี 4 เดือน ฐานพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน และทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 8 เดือน เมื่อรวมโทษทุกกระทงความผิดแล้วคงให้จำคุกตลอดชีวิต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (3) ริบปลอกกระสุนปืน หัวกระสุนปืน อาวุธปืนและกระสุนปืนของกลาง ส่วนโทรศัพท์เคลื่อนที่และรถยนต์กระบะของกลางให้คืนแก่เจ้าของ ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2
จำเลยที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติได้ว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง นางนรินพร หรือนก ชวศิลป ผู้ตาย ถูกคนร้ายสองคนร่วมกันใช้อาวุธปืนยิงถึงแก่ความตาย คดีในส่วนจำเลยที่ 2 ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์ไม่ได้อุทธรณ์จึงถึงที่สุดไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 3 ว่า จำเลยที่ 3 กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ สำหรับความผิดฐานมีและพาอาวุธปืนฯ นั้น ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นและยังคงลงโทษจำคุกจำเลยที่ 3 กระทงละไม่เกิน 5 ปี จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงในความผิดดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง จำเลยที่ 3 ฎีกาว่า พยานหลักฐานโจทก์ไม่มั่นคงพอที่จะพิสูจน์ให้ฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยที่ 3 ได้กระทำความผิดตามฟ้อง เป็นการฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวข้างต้น ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย คดีคงมีปัญหาต้องวินิจฉัยแต่เพียงว่า จำเลยที่ 3 ได้กระทำความผิดฐานฆ่าผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อนหรือไม่ โจทก์มีนางอำพันธ์ อุ่นคำเรือน เป็นพยานเบิกความว่า หลังจากผู้ตายขับรถจักรยานยนต์ล้มลงที่หน้าบ้านของพยาน ผู้ตายลุกขึ้นวิ่งหนีและร้องตะโกนขอความช่วยเหลือ ขณะนั้นพยานเห็นรถยนต์กระบะยี่ห้ออีซูซุสีบรอนซ์ขับตามมาจอดอยู่ห่างจากรถจักรยานยนต์ของผู้ตายประมาณ 3 เมตร เห็นชายสองคนมีหน้าตาและรูปร่างคล้ายกับจำเลยที่ 1 และที่ 3 ถืออาวุธปืนสั้นคนละกระบอก ลงจากรถวิ่งตามผู้ตายพร้อมกับใช้อาวุธปืนยิงไล่หลังไปหลายนัด พยานกลัวคนร้ายจะจำหน้าได้และจะถูกทำร้ายจึงวิ่งไปทางบ้านมารดาพยาน จากนั้นพยานได้ยินเสียงปืนดังมาจากหน้าบ้านของพยานอีกหลายนัด เมื่อเสียงปืนเงียบลงพยานหันไปดูเห็นชายทั้งสองวิ่งกลับไปที่รถยนต์กระบะที่จอดอยู่แล้วขับหนีไป เห็นว่า เหตุเกิดกลางวัน นางอำพันธ์ได้เห็นคนร้ายครั้งแรกในระยะห่างประมาณ 10 กว่าเมตร และยังมีโอกาสเห็นคนร้ายอีกครั้งหนึ่ง เมื่อคนร้ายทั้งสองวิ่งกลับมาขึ้นรถ โดยไม่ปรากฏว่าคนร้ายทั้งสองสวมหมวกหรือมีสิ่งใดปิดบังใบหน้า ที่นางอำพันธ์เบิกความยืนยันว่าคนร้ายคนหนึ่งรูปร่างและหน้าตาคล้ายกับจำเลยที่ 3 จึงมีน้ำหนักให้รับฟัง และโจทก์ยังมีนายวิเชียร ขอภพสุข และเด็กชายวิรัตน์ ขอภพสุข เป็นพยานเบิกความสนับสนุนว่า รถยนต์ที่คนร้ายขับมายิงผู้ตายเป็นรถกระบะยี่ห้ออีซูซุสีบรอนซ์ มีลักษณะเหมือนกับรถยนต์กระบะในภาพถ่ายหมาย จ.2 ซึ่งเป็นรถยนต์กระบะของจำเลยที่ 3 ที่เจ้าพนักงานตำรวจไปยึดมาจากบ้านของมารดาจำเลยที่ 3 ที่ตำบลนายายอาม กิ่งอำเภอนายายอาม จังหวัดจันทบุรี นอกจากนี้ยังได้ความจากคำเบิกความของพันตำรวจโทสุขสัน เปาอินทร์ และพันตำรวจตรีธีรเดช ธรรมสุรีย์ ผู้ร่วมจับกุมจำเลยที่ 1 กับพันตำรวจโทอุทัย เหล่าสีล พนักงานสอบสวนคดีนี้พยานโจทก์ว่า เมื่อจับจำเลยที่ 1 ได้ จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพทั้งในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนว่า ร่วมกับจำเลยที่ 3 ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตาย โดยจำเลยที่ 3 เป็นผู้จัดหาอาวุธปืนลูกซองสั้นให้แก่จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 เป็นผู้ขับรถยนต์พาหลบหนี หลังเกิดเหตุได้ร่วมกันนำอาวุธปืนไปฝากไว้ที่บ้านนายบุญทวี นิวัฒนากุล เมื่อเจ้าพนักงานตำรวจติดตามไปที่บ้านของนายบุญทวี ก็สามารถยึดอาวุธปืนดังกล่าวได้จริงตามที่จำเลยที่ 1 ให้การไว้ ตามบันทึกการจับกุม บันทึกคำรับสารภาพและบันทึกคำให้การของผู้ต้องหาเอกสารหมาย จ.16 จ.17 และ จ.32 ตามลำดับ โดยจำเลยที่ 1 ได้ระบุถึงพฤติการณ์ในการกระทำความผิดไว้โดยละเอียดเป็นไปตามลำดับขั้นตอนและยังนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพไว้ด้วย ต่อมาเมื่อจำเลยที่ 3 เข้ามอบตัวเจ้าพนักงานตำรวจพันตำรวจโทอุทัย ได้แจ้งข้อหาแก่จำเลยที่ 3 ว่า ร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนมีอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต และพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน ทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำเลยที่ 3 ให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา และนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพ ทั้งยังนำชี้บริเวณที่จำเลยที่ 3 นำอาวุธปืนที่ใช้ยิงผู้ตายไปทิ้งด้วย ตามบันทึกการมอบตัวผู้ต้องหาบันทึกการแจ้งสิทธิของผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหา บันทึกคำให้การของผู้ต้องหา บันทึกการนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพและภาพถ่าย การนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพเอกสารหมาย จ.40 จ.41 จ.42 จ.43 จ.45 และ จ.46 ที่จำเลยที่ 3 นำสืบต่อสู้ว่าจำเลยที่ 3 ให้การรับสารภาพในชั้นมอบตัวและชั้นสอบสวน เนื่องจากเจ้าพนักงานตำรวจบอกให้จำเลยที่ 3 รับสารภาพไปก่อนค่อยไปต่อสู้คดีในชั้นศาลนั้น ได้ความจากพยานจำเลยที่ 3 ว่า ในวันที่จำเลยที่ 3 ไปมอบตัวมีนายวิรัตน์ ไพรอนันต์ ประธานสภาเทศบาลเมืองชลบุรี และเป็นเจ้าของค่ายมวย ช.ไพรอนันต์ ที่จำเลยที่ 3 เป็นผู้ฝึกสอนอยู่ กับนาวาอากาศตรียอดวันเผด็จ สุวรรณวิจิตร สังกัดโรงเรียนนายเรืออากาศร่วมไปด้วย จึงไม่น่าเชื่อว่าจำเลยที่ 3 จะเกรงกลัวหรือหลงเชื่อเจ้าพนักงานตำรวจและยอมให้การรับสารภาพโดยปราศจากความจริงเช่นนั้น ตามบันทึกให้การในชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 3 ตามเอกสารหมาย จ.42 ปรากฏว่าจำเลยที่ 3 ได้ให้การถึงพฤติการณ์ในการกระทำความผิดไว้โดยละเอียดและเกี่ยวข้องกับบุคคลหลายคน อีกทั้งเมื่อมีการสอบสวนจำเลยที่ 3 เพิ่มเติมอีกหลายครั้ง จำเลยที่ 3 ก็ยังยืนยันให้การรับสารภาพตามข้อกล่าวหาทุกครั้ง ข้อนำสืบของจำเลยที่ 3 จึงไม่มีน้ำหนักที่จะรับฟัง ข้อเท็จจริงเชื่อได้ว่าจำเลยที่ 3 ได้ให้การรับสารภาพในชั้นมอบตัวและชั้นสอบสวนโดยสมัครใจและตามความสัตย์จริง ส่วนที่จำเลยที่ 3 ฎีกาว่าพยานโจทก์ปากนางอำพันธ์ และเด็กชายวิรัตน์ไม่ได้ยืนยันว่าจำเลยที่ 3 เป็นคนร้าย นางอำพันธ์เพียงแต่เบิกความว่าคนร้ายคนหนึ่งมีหน้าตาคล้ายกับจำเลยที่ 3 ส่วนเด็กชายวิรัตน์จำหน้าคนร้ายไม่ได้ ทำให้มีเหตุสงสัยตามสมควรว่าจำเลยที่ 3 กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ อีกทั้งการที่ศาลอุทธรณ์นำคำรับสารภาพของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นคำซัดทอดของผู้ที่ร่วมกระทำความผิดมาลงโทษจำเลยที่ 3 จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า ก่อนจับกุมจำเลยที่ 1 พันตำรวจโทสุขสันและพันตำรวจตรีธีรเดชผู้ร่วมจับกุมจำเลยที่ 1 ได้สอบปากคำพยานที่เห็นเหตุการณ์เช่นนางอำพันธ์และนายธานี ชวศิลป สามีของผู้ตายไว้ จนมีผลให้พันตำรวจโทสุขสันกับพวกได้สืบสวนต่อมาจนจับกุมจำเลยที่ 1 ได้ และจำเลยที่ 3 เข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวนตามลำดับ เมื่อจำเลยที่ 3 เข้ามอบตัวก็ให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา ซึ่งสอดคล้องกับคำให้การรับสารภาพของจำเลยที่ 1 ซึ่งศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยถึงไว้โดยละเอียดแล้ว พยานหลักฐานโจทก์หาได้มีเหตุสงสัยหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายดังฎีกาของจำเลยที่ 3 ไม่ สำหรับฎีกาข้ออื่น ๆ ของจำเลยที่ 3 ก็ไม่เป็นข้อสาระสำคัญอันจะทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง จึงไม่จำต้องวินิจฉัย พยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบมาไม่มีที่จะระแวงสงสัยว่าจะมีการกลั่นแกล้งปรักปรำจำเลยที่ 3 แต่อย่างใด จึงมีน้ำหนักมั่นคงรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยที่ 3 ได้กระทำความผิดฐานฆ่าผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อนตามที่โจทก์ฟ้อง พยานจำเลยที่ 3 ไม่มีน้ำหนักพอที่จะหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าจำเลยที่ 3 มีความผิดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นนั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 3 ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง สำหรับกระสุนปืนลูกซองจำนวน 4 นัด ของกลางตามฟ้องนั้นได้ความจากพันตำรวจโทธารา เดชศรี ผู้ตรวจพิสูจน์อาวุธปืนลูกซองและกระสุนปืนลูกซองของกลางพยานโจทก์ว่า กระสุนปืนลูกซองของกลางทั้งสี่นัดได้ใช้ทดลองยิงหมดแล้วตามรายงานการตรวจพิสูจน์เอกสารหมาย จ.25 ดังนั้น การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้ริบกระสุนปืนลูกซองจำนวน 4 นัด ของกลางด้วยนั้นจึงไม่ถูกต้อง เพราะการริบทรัพย์สินเป็นการเอาทรัพย์สินที่ริบเป็นของแผ่นดิน ดังนั้น ทรัพย์สินที่จะริบต้องมีตัวอยู่ ถ้าทรัพย์สินที่จะริบไม่มีตัวอยู่ย่อมสั่งริบไม่ได้ ปัญหาดังกล่าวนี้แม้คู่ความไม่ได้ฎีกาแต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225”
พิพากษายืน แต่ไม่ริบกระสุนปืนลูกซองจำนวน 4 นัด ของกลางตามฟ้อง

Share