คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2515/2549

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การที่โจทก์ฟ้องว่าโจทก์อนุญาตให้จำเลยปลูกบ้านอยู่ในที่ดินพิพาทของโจทก์เพราะจำเลยเป็นบุตรเขยของโจทก์ ต่อมาจำเลยหย่าขาดกับบุตรีของโจทก์ โจทก์จึงไม่ประสงค์ให้จำเลยอยู่ในที่ดินพิพาทอีกต่อไป เป็นการฟ้องเพื่อใช้สิทธิติดตามเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 ซึ่งไม่มีบทกฎหมายใดบังคับให้เจ้าของกรรมสิทธิ์ต้องบอกกล่าวผู้ไม่มีสิทธิดังกล่าวก่อนฟ้องคดีแต่อย่างใด โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยได้โดยไม่ต้องบอกกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนบ้านเลขที่ 116 ขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากที่ดินกับห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้องในที่ดินของโจทก์
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยรื้อถอนบ้านเลขที่ 116 หมู่ที่ 4 ตำบลปกาสัย อำเภอเหนือคลอง จังหวัดกระบี่ และให้จำเลยขนย้ายทรัพย์สิน และบริวารออกจากที่ดินพิพาท ห้ามจำเลยและบริวารเข้ามาเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทอีกต่อไป
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ข้อเท็จจริงเบื้องต้นที่คู่ความไม่โต้เถียงกันฟังได้ว่า เดิมโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตั้งแต่ปี 2521 โดยปลูกต้นปาล์ม ต้นมะพร้าว และต้นผลไม้ในที่ดินพิพาท ปี 2535 จำเลยได้สมรสกับนางเยาว์มาลย์บุตรสาวโจทก์ จำเลยจึงปลูกบ้านเลขที่ 116 ในที่ดินพิพาท ต่อมาปี 2541 จำเลยและนางเยาว์มาลย์จดทะเบียนหย่าขาดจากกัน ที่จำเลยฎีกาข้อแรกว่า จำเลยเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทเนื่องจากโจทก์และภริยาโจทก์ขายที่ดินพิพาทราคา 500,000 บาท พร้อมผลอาสินบนที่ดินราคา 200,000 บาท รวมราคา 700,000 บาท ให้แก่จำเลยและจำเลยเข้าครอบครองปลูกบ้านบนที่ดินพิพาทอยู่อาศัยตลอดมาตั้งแต่ปี 2535 แล้ว ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยฟังว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทจึงไม่ชอบนั้น เห็นว่า ในปัญหาว่าโจทก์ได้ขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยแล้วหรือไม่ จำเลยมีจำเลย นายวันชัย จิรวัฒน์ ผู้รับเหมาสร้างบ้านดังกล่าวให้จำเลย เป็นพยาน โดยจำเลยเบิกความว่า จำเลยไปพูดกับโจทก์เพื่อให้เจรจากับนางยุพา แต่นางยุพาบอกว่านางเยาว์มาลย์ไม่ใช่บุตรสาวจริง ๆ ของนางยุพา หากต้องการที่ดินเพื่อจะปลูกสร้างบ้านจะต้องซื้อขายกัน โจทก์ได้ไปสืบราคาที่ดินพร้อมผลอาสินในที่ดิน และบอกตกลงขายในราคาเฉพาะที่ดิน 500,000 บาท ผลอาสินที่ปลูกอยู่ 200,000 บาท รวม 700,000 บาท จำเลยตกลงซื้อแต่เนื่องจากเงินยังไม่พอ ซึ่งนางยุพาจะเอาส่วนของนางยุพาเป็นเงิน 350,000 บาท แต่จำเลยบอกว่าจะไปเอาเงินกับญาติที่กรุงเทพมหานครมาให้โดยขอให้ช่างดำเนินการก่อสร้างบ้านก่อน แต่นางยุพาไม่ยินยอม จำเลยจึงทำสัญญากู้ยืมเงินจำนวน 350,000 บาท มอบให้นางยุพาไว้ โดยมีนายวันชัยและคนงานก่อสร้างเป็นพยาน แต่นายวันชัยซึ่งอ้างว่าได้อยู่ร่วมฟังการเจรจาตกลงซื้อที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์และนางยุพากับจำเลยนั้นกลับเบิกความเพียงว่า โจทก์และนางยุพาตกลงขายที่ดินให้แก่จำเลยเป็นเงิน 700,000 บาท นางยุพาจะเอาค่าที่ดิน 350,000 บาท แต่จำเลยไม่มีเงิน จำเลยจึงทำสัญญากู้ยืมเงินให้นางยุพาไว้โดยพยานลงชื่อเป็นพยานในสัญญากู้ยืมนั้นด้วย นายวันชัยมิได้เบิกความเลยว่าโจทก์ได้ไปสืบราคาที่ดินก่อน หรือโจทก์ตกลงขายที่ดิน 500,000 บาท ผลอาสิน 200,000 บาท หรือจำเลยจะไปเอาเงินกับญาติที่กรุงเทพมหานคร โดยขอให้ช่างดำเนินการก่อสร้างบ้านก่อน หรือมีคนงานก่อสร้างมาร่วมฟังการเจรจาและเป็นพยานในสัญญากู้ยืมเงินดังจำเลยเบิกความแต่อย่างใด จึงไม่ตรงกัน เป็นพิรุธ จำเลยเบิกความว่า การซื้อขายที่ดินพิพาทไม่ได้ทำหลักฐานหรือสัญญาซื้อขายกันไว้ ทั้ง ๆ ที่จำเลยยอมทำสัญญากู้ยืมเงิน 350,000 บาท ให้นางยุพาไว้แต่โดยดี จึงผิดปกติเช่นวิญญูชนจะพึงกระทำ เป็นพิรุธอีกเช่นกัน จำเลยยังอ้างว่าชำระเงิน 350,000 บาท ให้นางยุพา และชำระเงินค่าที่ดินพิพาทให้โจทก์แล้ว แต่จำเลยก็ไม่ได้มีหลักฐานการจ่ายเงินหรือสัญญากู้ยืมเงินที่ทำให้นางยุพาไว้มาแสดงแต่อย่างใด คำเบิกความของจำเลยและนายวันชัยจึงเป็นพิรุธไม่น่าเชื่อถือ ส่วนโจทก์มีโจทก์และนางเยาว์มาลย์อดีตภริยาจำเลยต่างเบิกความยืนยันว่าโจทก์ไม่เคยขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลย นอกจากนี้โจทก์ยังมีแบบแสดงรายการที่ดินเพื่อชำระภาษีบำรุงท้องที่ประจำปี 2541 ถึง 2544 (ภ.บ.ท. 5) ซึ่งเป็นเอกสารราชการทำขึ้นปี 2541 ก็ระบุว่าโจทก์เป็นเจ้าของที่ดิน และหนังสือสัญญาการซื้อขายเป็นพยานสนับสนุน เช่นนี้ พยานหลักฐานของจำเลยมีน้ำหนักน้อยกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าโจทก์ได้ขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยแล้วดังจำเลยอ้าง นั่นคือโจทก์จึงเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท จำเลยอยู่ในที่ดินพิพาทโดยอาศัยสิทธิของโจทก์ จำเลยจึงไม่ได้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทจึงชอบแล้ว ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ที่จำเลยฎีกาข้อสุดท้ายว่า จำเลยไม่ได้รับหนังสือบอกกล่าวล่วงหน้าให้รื้อถอนบ้านออกจากที่ดินพิพาทเพราะผู้รับหนังสือบอกกล่าวตามใบตอบรับในประเทศไม่ได้อยู่ในบ้านของจำเลย การบอกกล่าวให้รื้อถอนบ้านดังกล่าวจึงไม่ชอบนั้น เห็นว่า การที่โจทก์ฟ้องว่าโจทก์อนุญาตให้จำเลยปลูกบ้านอยู่ในที่ดินพิพาทของโจทก์เพราะจำเลยเป็นบุตรเขยของโจทก์ ต่อมาจำเลยหย่าขาดกับบุตรีของโจทก์ โจทก์จึงไม่ประสงค์ให้จำเลยอยู่ในที่ดินพิพาทอีกต่อไป เป็นการฟ้องเพื่อใช้สิทธิติดตามเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 ซึ่งไม่มีบทกฎหมายใดบังคับให้เจ้าของกรรมสิทธิ์ต้องบอกกล่าวผู้ไม่มีสิทธิดังกล่าวก่อนฟ้องคดีแต่อย่างใด โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยได้โดยไม่ต้องบอกกล่าว เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยปลูกบ้านอยู่ในที่ดินพิพาทโดยอาศัยสิทธิของโจทก์ดังได้วินิจฉัยมาแล้ว และภายหลังจากที่จำเลยหย่าขาดกับบุตรีของโจทก์แล้ว โจทก์ก็มาฟ้องขับไล่จำเลยแสดงว่าโจทก์ไม่ประสงค์จะให้จำเลยอยู่ในที่ดินพิพาทอีกต่อไป การที่โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยจึงเป็นการบอกกล่าวจำเลยแล้ว แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ตามที่โจทก์อ้างและนำสืบว่าก่อนฟ้องโจทก์มีหนังสือบอกกล่าวจำเลยแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉยหรือไม่ก็ไม่มีผลต่ออำนาจฟ้องของโจทก์ คงมีผลเพียงก่อให้เกิดสิทธิแก่โจทก์ในการเรียกค่าเสียหายเท่านั้น ซึ่งโจทก์ก็มิได้เรียกร้องค่าเสียหายมาด้วย การวินิจฉัยฎีกาของจำเลยข้อนี้จึงไม่มีผลเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาแต่อย่างใด จึงเป็นฎีกาที่ไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายืน

Share