คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1883/2549

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ระบบฐานข้อมูลสมาชิกพรรคการเมืองและทะเบียนสมาชิกพรรคการเมืองของคณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ที่คณะกรรมการการเลือกตั้งจัดทำขึ้นเป็นข้อมูลของทางราชการเพื่อให้พรรคการเมือง สมาชิกพรรคการเมืองและประชาชนทั่วไปสามารถตรวจสอบข้อมูลได้ ข้อมูลในระบบฐานข้อมูลของคณะกรรมการการเลือกตั้งจึงเป็นข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือ การที่ไม่ปรากฏชื่อของผู้ร้องซึ่งอ้างว่าเป็นสมาชิกพรรค ป. มาตั้งแต่ปี 2535 ในระบบฐานข้อมูลของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ทั้ง ๆ ที่พรรค ป. ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่จัดตั้งขึ้นเพื่อดำเนินการในทางการเมือง รวมทั้งส่งสมาชิกพรรคสมัครเข้ารับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และผู้ร้องซึ่งประสงค์จะใช้ความเป็นสมาชิกภาพของพรรคสมัครรับเลือกตั้งย่อมรู้อยู่แล้วว่า คณะกรรมการการเลือกตั้งต้องใช้ข้อมูลของคณะกรรมการการเลือกตั้งในการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สมัครต่างสามารถตรวจสอบข้อมูลในระบบฐานข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งนับแต่มีการจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งหลังใช้บังคับ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2541 จนถึงปัจจุบันเป็นเวลาหลายปีแต่ก็ยังไม่ปรากฏชื่อผู้ร้องอยู่ในระบบฐานข้อมูลดังกล่าว แสดงว่าพรรค ป. และผู้ร้อง ไม่เคยตรวจสอบและโต้แย้งเลย กรณีจึงมีข้อน่าเคลือบแคลงสงสัยและมีพิรุธ ไม่อาจเชื่อได้ว่าผู้ร้องเป็นสมาชิกพรรค ป. อยู่ในขณะสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ผู้ร้องจึงไม่มีคุณสมบัติเป็นผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามมาตรา 107 (4) แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฯ และมาตรา 29 แห่ง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาฯ

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งที่ 4 จังหวัดนราธิวาส ประกาศชื่อผู้ร้องเป็นผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ในวันนัดพิจารณา ศาลฎีกาสอบถามข้อเท็จจริงจากคู่ความทั้งสองฝ่าย คู่ความแถลงรับข้อเท็จจริงกันว่า มีหนังสือสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งที่ ลต.0401/ว 346 ลงวันที่ 13 มีนาคม 2549 แจ้งไปถึงคณะกรรมการเลือกตั้งจังหวัดนราธิวาสว่าไม่พบชื่อผู้ร้องเป็นสมาชิกพรรคการเมืองในระบบฐานข้อมูลสมาชิกพรรคการเมืองและทะเบียนสมาชิกพรรคการเมืองตามเอกสารท้ายคำคัดค้าน แต่นายทะเบียนพรรคประชากรไทยที่มาศาลฎีกาแถลงว่า ผู้ร้องเป็นสมาชิกพรรคนี้มาแต่ปี 2535 แต่ไม่ทราบสาเหตุที่หัวหน้าพรรคไม่ส่งหลักฐานเอกสารให้สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ศาลฎีกาเห็นว่าข้อเท็จจริงเพียงพอแก่การวินิจฉัยแล้ว จึงให้งดสืบพยาน
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังยุติตามที่คู่ความรับกันและไม่โต้เถียงกันว่า ผู้ร้องยื่นใบสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งที่ 4 จังหวัดนราธิวาส แต่ต่อมาผู้คัดค้านมีหนังสือแจ้งผู้ร้องว่าผู้ร้องไม่มีสิทธิสมัครเพราะไม่ปรากฏว่าผู้ร้องเป็นสมาชิกพรรคประชากรไทย จึงขาดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิสมัครตามมาตรา 107 (4) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ซึ่งบัญญัติมีใจความว่า บุคคลผู้มีคุณสมบัติที่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ต้องเป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งแต่เพียงพรรคเดียวนับถึงวันสมัครรับเลือกตั้งเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าเก้าสิบวัน ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยมีว่า การที่ผู้คัดค้านไม่รับสมัครและไม่ประกาศชื่อผู้ร้องเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งชอบหรือไม่ ซึ่งมีปัญหาต้องวินิจฉัยในเบื้องแรกว่า ผู้ร้องเป็นสมาชิกพรรคประชากรไทยหรือไม่ เห็นว่า ผู้ร้องได้แถลงในรายงานกระบวนพิจารณาของศาลฎีกายอมรับว่าไม่พบชื่อผู้ร้องเป็นสมาชิกพรรคการเมืองในระบบฐานข้อมูลสมาชิกพรรคการเมืองและทะเบียนสมาชิกพรรคการเมืองของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ตามเอกสารท้ายคำคัดค้านหมายเลข 3 ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า ผู้ร้องไม่มีชื่อเป็นสมาชิกพรรคการเมืองไม่ว่าพรรคใดรวมทั้งพรรคประชากรไทยในระบบฐานข้อมูลของทางราชการดังกล่าว ซึ่งระบบฐานข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์นี้สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งจัดทำขึ้นเพื่อให้เป็นทะเบียนพรรคการเมืองและทะเบียนสมาชิกพรรคโดยให้พรรคการเมืองไม่ว่าจะเป็นนายทะเบียนของพรรคหรือสมาชิกพรรค และประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงข้อมูลโดยตรวจดูได้ ข้อมูลในระบบฐานข้อมูลนี้จึงมีความน่าเชื่อถือและมีน้ำหนักรับฟังได้ ที่ผู้ร้องอ้างว่าเป็นสมาชิกพรรคประชากรไทยมาตั้งแต่ปี 2535 ตามสำเนาทะเบียนสมาชิกพรรค และบัตรสมาชิกพรรคประชากรไทยนั้น เห็นว่า พรรคการเมืองจัดตั้งขึ้นเพื่อสร้างเจตนารมณ์ทางการเมืองของประชาชนและเพื่อดำเนินกิจการในทางการเมืองให้เป็นไปตามเจตนารมณ์นั้น ซึ่งรวมทั้งการส่งสมาชิกพรรคสมัครเข้ารับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยวิสัยพรรคการเมืองย่อมต้องให้ความสำคัญต่อความเป็นสมาชิกพรรคซึ่งเป็นคุณสมบัติประการหนึ่งของผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง โดยเฉพาะผู้ร้องซึ่งต้องการสมัครรับเลือกตั้งย่อมมีส่วนได้เสียอย่างสำคัญในการใช้ความเป็นสมาชิกภาพของพรรคในการสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และควรรู้อยู่แล้วว่าสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งต้องใช้ข้อมูลในระบบฐานข้อมูลนี้ในการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้งว่ามีคุณสมบัติหรือไม่ พรรคการเมืองและผู้ร้องจึงควรเข้าตรวจดูข้อมูลในระบบฐานข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งว่ามีชื่อผู้ร้องเป็นสมาชิกพรรคอยู่หรือไม่ หากตรวจแล้วไม่พบ ก็ต้องแจ้งรายชื่อไปให้ปรากฏ ซึ่งนับแต่มีการจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งหลังใช้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2541 จนถึงปัจจุบันเป็นเวลาที่ผ่านไป 6 ปี หากผู้ร้องเป็นสมาชิกพรรคประชากรไทยมาตั้งแต่ปี 2535 จริง พรรคประชากรไทยและหรือผู้ร้องก็มีโอกาสตรวจดูข้อมูลการเป็นสมาชิกพรรคประชากรไทยในฐานข้อมูลของทางราชการนั้นได้ แต่ก็ยังไม่ปรากฏว่ามีชื่อของผู้ร้องอยู่ในระบบฐานข้อมูล แสดงว่าพรรคและผู้ร้องไม่เคยเข้าตรวจดูและโต้แย้งเลยซึ่งผิดวิสัย กรณีจึงมีข้อน่าเคลือบแคลงสงสัยและมีพิรุธไม่อาจเชื่อได้ว่าผู้ร้องเป็นสมาชิกพรรคประชากรไทยอยู่ในขณะสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ผู้ร้องจึงขาดคุณสมบัติเป็นผู้สมัครตามมาตรา 107 (4) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 และมาตรา 29 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 ที่ผู้คัดค้านไม่รับสมัครและไม่ประกาศชื่อผู้ร้องเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งที่ 4 จังหวัดนราธิวาส นั้นชอบแล้ว”
จึงมีคำสั่งให้ยกคำร้อง

Share