คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1572/2549

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

จำเลยถ่ายสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนจากฉบับที่แท้จริงซึ่งเป็นเอกสารราชการแล้วแก้ไขในช่องชื่อ ชื่อสกุล วันออกบัตร วันหมดอายุ และนำสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนดังกล่าวไปถ่ายสำเนาเอกสารอีก เพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าสำเนาเอกสารดังกล่าวมีข้อความตรงกับต้นฉบับและน่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน เป็นการทำปลอมเอกสารขึ้นทั้งฉบับ แม้จำเลยจะมิได้แก้ไขในเอกสารที่แท้จริง การกระทำของจำเลยก็เป็นความผิดฐานปลอมบัตรประจำตัวประชาชนอันเป็นเอกสารราชการและฐานใช้บัตรประจำตัวประชาชนอันเป็นเอกสารราชการปลอมตาม ป.อ. มาตรา 265, 268 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 265 พ.ร.บ.บัตรประจำตัวประชาชนฯ มาตรา 14 วรรคหนึ่ง (2) (3)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265, 268, 91 พระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 มาตรา 14
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265, 268, 91 ฐานปลอมเอกสารราชการ จำคุก 6 เดือน และปรับ 4,000 บาท ฐานปลอมและใช้เอกสารเท็จ เนื่องจากจำเลยเป็นผู้ปลอมและใช้จึงให้ลงโทษฐานปลอมจำคุกกระทงละ 6 เดือน และปรับกระทงละ 4,000 บาท รวม 3 กระทง เป็นจำคุก 24 เดือน และปรับ 16,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ฐานปลอมเอกสารราชการจำคุก 3 เดือน และปรับ 2,000 บาท ฐานปลอมและใช้เอกสารเท็จอีก 3 กระทง จำคุกกระทงละ 3 เดือน และปรับกระทงละ 2,000 บาท รวมจำคุก 12 เดือน และปรับ 8,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ให้คุมความประพฤติ โดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 4 เดือนต่อครั้ง เป็นเวลา 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265, 268 วรรคหนึ่ง (ที่ถูกมาตรา 268 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 265) พระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 มาตรา 14 (2) (3) วรรคหนึ่ง (ที่ถูกมาตรา 14 วรรคหนึ่ง (2) (3)) การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ความผิดฐานปลอมบัตรประจำตัวประชาชนอันเป็นเอกสารราชการ และใช้บัตรประจำตัวประชาชนอันเป็นเอกสารราชการจำเลยเป็นผู้ปลอมและใช้บัตรประจำตัวประชาชนอันเป็นเอกสารราชการที่จำเลยเป็นผู้ปลอม ให้ลงโทษฐานใช้บัตรประจำตัวประชาชนอันเป็นเอกสารราชการปลอมตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 มาตรา 14 (3) ประกอบมาตรา 14 (2) ตามมาตรา 14 วรรคสอง แต่กระทงเดียว จำคุกกระทงละ 2 ปี รวม 3 กระทง เป็นจำคุก 6 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 3 ปี
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาว่าจำเลยมิได้ปลอมบัตรประจำตัวประชาชนฉบับที่แท้จริง จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานปลอมบัตรประชาชนอันเป็นเอกสารราชการและใช้บัตรประจำตัวประชาชนอันเป็นเอกสารราชการปลอม แต่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 นั้น เห็นว่า การที่จำเลยถ่ายสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนจากฉบับที่แท้จริงซึ่งเป็นเอกสารราชการแล้วจำเลยแก้ไขในช่องชื่อ ชื่อสกุล วันออกบัตร วันหมดอายุ แล้วนำสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนดังกล่าวไปถ่ายสำเนาเอกสารอีก เพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าสำเนาเอกสารดังกล่าวมีข้อความตรงกับต้นฉบับและน่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชนเป็นการทำปลอมเอกสารขึ้นทั้งฉบับ แม้จำเลยจะมิได้แก้ไขในเอกสารที่แท้จริง การกระทำของจำเลยก็เป็นความผิดฐานปลอมบัตรประจำตัวประชาชนอันเป็นเอกสารราชการและฐานใช้บัตรประจำตัวประชาชนอันเป็นเอกสารราชการปลอมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265, 268 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 265 พระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 มาตรา 14 วรรคหนึ่ง (2) (3) แล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่าสมควรรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยหรือไม่ เห็นว่า บัตรประจำตัวประชาชนเป็นเอกสารสำคัญของทางราชการที่ออกให้โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นพยานหลักฐานในการแสดงตนของบุคคล การที่จำเลยปลอมบัตรประจำตัวประชาชนของนายอุบล สถาปน์เงิน แล้วนำบัตรประจำตัวประชาชนปลอมดังกล่าวไปใช้แสดงต่อเจ้าพนักงานที่ดินเพื่อจดทะเบียนจำนองและขายฝากที่ดินของนางอุบล เป็นการกระทำที่กระทบต่อความเชื่อถือของประชาชนผู้สุจริตโดยทั่วไปในการใช้บัตรประจำตัวประชาชนเป็นหลักฐาน ทั้งเป็นการกระทำที่มุ่งถึงแต่ประโยชน์ส่วนตนโดยไม่คำนึงถึงความเสียหายที่เกิดแก่ทางราชการ เจ้าของที่ดิน ผู้รับจำนอง และผู้รับซื้อฝาก พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องที่ร้ายแรง แม้จำเลยได้คืนเงินให้แก่ผู้รับจำนอง และบิดาจำเลยได้คืนเงินให้แก่ผู้รับซื้อฝากจนไม่ติดใจเอาความแก่จำเลย ก็ยังไม่เป็นเหตุอันควรปรานีที่จะรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน แต่โทษจำคุกที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 กำหนดมานั้นหนักเกินไป ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียใหม่ เพื่อให้เหมาะสมแก่รูปคดี”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำคุกจำเลยกระทงละ 1 ปี รวม 3 กระทง เป็นจำคุก 3 ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี 6 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2

Share