แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
แม้ศาลจะยกฟ้องโจทก์ในชั้นตรวจคำฟ้องโดยมิได้ปฏิบัติตาม ป.วิ.พ. มาตรา 141 ที่บัญญัติไว้ว่าให้ทำเป็นหนังสือและต้องกล่าวหรือแสดงชื่อศาลที่พิพากษา ชื่อคู่ความทุกฝ่าย รายการแห่งคดี เหตุผลแห่งคำวินิจฉัยทั้งปวง และคำวินิจฉัยของศาลในประเด็นแห่งคดีตลอดทั้งค่าฤชาธรรมเนียมก็ตาม แต่ในชั้นตรวจคำฟ้อง เมื่อปรากฏจากคำฟ้องกับคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ไม่อาจจะพิพากษาให้ได้เช่นนี้ ศาลชั้นต้นก็ชอบที่จะยกฟ้องโจทก์เสียได้ในชั้นตรวจคำฟ้อง การที่ศาลชั้นต้นตรวจคำฟ้องแล้วมีคำสั่งว่าฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 3 (จำเลยที่ 2 และที่ 3 ในคดีนี้) เป็นฟ้องซ้ำ ส่วนจำเลยที่ 2 (จำเลยที่ 1 ในคดีนี้) ไม่ใช่คู่สัญญา โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง พิพากษายกฟ้อง จึงเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นแห่งคดีโดยทำเป็นคำพิพากษาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 131 (2) แล้ว หากโจทก์ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยชี้ขาดของศาลชั้นต้นย่อมมีสิทธิอุทธรณ์ได้ และการที่โจทก์ลงลายมือชื่อทราบคำสั่งในคำฟ้องย่อมถือว่าทราบคำพิพากษาแล้วด้วย หาจำต้องสั่งรับฟ้องก่อนแล้วกำหนดวันนัดฟังคำพิพากษาและอ่านคำพิพากษาให้คู่ความฟังก่อนดังที่โจทก์ฎีกาไม่
เมื่อศาลได้วินิจฉัยแล้วว่าฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้ำ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสามอันเป็นปัญหาข้อกฎหมายแล้ว ศาลย่อมมีอำนาจที่จะพิพากษายกฟ้องได้เลย โดยไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยในประเด็นอื่นอีก แม้จะวินิจฉัยในปัญหาดังกล่าวก็ไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไป
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามคืนเงิน 318,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งสามจะชำระเสร็จ และให้จำเลยทั้งสามเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการทางทะเบียนเพื่อกลับคืนสู่ฐานะเดิมต่อไป
จำเลยทั้งสามให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืน
ก่อนศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกา จำเลยที่ 2 ถึงแก่ความตาย โจทก์ยื่นคำร้องขอให้เรียกนายเอกภพ ตั้งอุสาหะ ทายาทของจำเลยที่ 2 เข้ามาเป็นคู่ความแทนศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้นายเอกภพทายาทของจำเลยที่ 2 เข้ามาเป็นคู่ความแทน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2538 โจทก์ทำหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 3204 ตำบลน้ำทรง อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ กับจำเลยที่ 2 และวันที่ 4 กรกฎาคม 2539 จำเลยที่ 2 ได้จดทะเบียนขายที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์ ต่อมาโจทก์ได้ฟ้องจำเลยที่ 2 นายพลศักดิ์ จันทร์ธนวงษ์ และจำเลยที่ 3 เป็นจำเลยในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 935/2543 ของศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า นิติกรรมการซื้อขายที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 (จำเลยที่ 2 ในคดีนี้) สมบูรณ์ไม่เป็นโมฆียะกรรม โจทก์ไม่มีสิทธิบอกล้างและพิพากษายกฟ้องคดีถึงที่สุดโดยโจทก์มิได้อุทธรณ์ แต่โจทก์ได้ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสามเป็นจำเลยที่ 2 ที่ 1 และที่ 3 ตามลำดับในเรื่องเดียวกันต่อศาลชั้นต้นอีก ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 158/2544 ศาลชั้นต้นตรวจคำฟ้องแล้ววินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 3 (จำเลยที่ 2 และที่3 ในคดีนี้) เป็นฟ้องซ้ำ ส่วนจำเลยที่ 2 (จำเลยที่ 1 ในคดีนี้) ไม่ใช่คู่สัญญาโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง พิพากษายกฟ้อง คดีถึงที่สุดโดยโจทก์มิได้อุทธรณ์ แต่กลับฟ้องจำเลยทั้งสามเป็นคดีนี้อีก…
ที่โจทก์ฎีกาทำนองว่าคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 158/2544 ของศาลชั้นต้นที่ศาลสั่งในชั้นตรวจคำฟ้องว่าไม่ใช่คำพิพากษา เพราะศาลยังไม่ได้สั่งรับคำฟ้องยังไม่ได้กำหนดวันนัดฟังและยังไม่ได้อ่าน คดีจึงไม่ถึงที่สุด การที่โจทก์ลงลายมือชื่อในคำฟ้องว่า ได้รอฟังคำสั่งอยู่ เป็นการรอฟังคำสั่งศาลว่าจะมีคำสั่งรับคำฟ้องหรือไม่รับคำฟ้อง ไม่ใช่ลงลายมือชื่อในเรื่องการอ่านคำพิพากษาหรือการกำหนดนัดฟังคำพิพากษานั้น เห็นว่า แม้ศาลจะยกฟ้องโจทก์ในชั้นตรวจคำฟ้องโดยมิได้ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 141 ที่บัญญัติไว้ว่าให้ทำเป็นหนังสือและต้องกล่าวหรือแสดงชื่อศาลที่พิพากษา ชื่อคู่ความทุกฝ่าย รายการแห่งคดีเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยทั้งปวง และคำวินิจฉัยของศาลในประเด็นแห่งคดีตลอดทั้งค่าฤชาธรรมเนียมก็ตาม แต่ในชั้นตรวจคำฟ้อง เมื่อปรากฏจากคำฟ้องกับคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ไม่อาจจะพิพากษาให้ได้เช่นนี้ ศาลชั้นต้นก็ชอบที่จะยกฟ้องโจทก์เสียได้ในชั้นตรวจคำฟ้อง การที่ศาลชั้นต้นตรวจคำฟ้องแล้วมีคำสั่งว่าฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 3 (จำเลยที่ 2 และที่ 3 ในคดีนี้) เป็นฟ้องซ้ำ ส่วนจำเลยที่ 2 (จำเลยที่ 1 ในคดีนี้) ไม่ใช่คู่สัญญา โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง พิพากษายกฟ้อง จึงเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นแห่งคดีโดยทำเป็นคำพิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 131 (2) แล้ว หากโจทก์ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยชี้ขาดของศาลชั้นต้นย่อมมีสิทธิอุทธรณ์ได้ และการที่โจทก์ลงลายมือชื่อทราบคำสั่งในคำฟ้องย่อมถือว่าทราบคำพิพากษาแล้วด้วย หาจำต้องสั่งรับคำฟ้องก่อนแล้วกำหนดวันนัดฟังคำพิพากษาและอ่านคำพิพากษาให้คู่ความฟังก่อนดังที่โจทก์ฎีกาไม่ เมื่อโจทก์มิได้อุทธรณ์คดีหมายเลขแดงที่ 158/2544 ของศาลชั้นต้นย่อมถึงที่สุด
ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า คำพิพากษาของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 6 ไม่ชอบเพราะไม่ได้วินิจฉัยว่าสัญญาซื้อขายที่ดินตกเป็นโมฆียะกรรมหรือไม่ และการทำสัญญาซื้อขายเป็นกลฉ้อฉลหรือไม่นั้น เห็นว่า เมื่อศาลได้วินิจฉัยแล้วว่าฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้ำโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสามอันเป็นปัญหาข้อกฎหมายแล้วศาลย่อมมีอำนาจที่จะพิพากษายกฟ้องได้เลย โดยไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยในประเด็นอื่นอีกแม้จะวินิจฉัยในปัญหาดังกล่าวก็ไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไป คำพิพากษาของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 6 จึงชอบแล้ว…”
พิพากษายืน