แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
แม้ว่าโจทก์จะเป็นสถาบันการเงิน การคิดดอกเบี้ยของโจทก์ไม่ได้อยู่ภายใต้บทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 654 ก็ตาม แต่การคิดดอกเบี้ยของโจทก์จะต้องอยู่ภายใต้บทบัญญัติของ พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ฯ มาตรา 14 ซึ่งกำหนดให้ธนาคารแห่งประเทศไทยออกประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลดด้วย ตามประกาศอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อของโจทก์นั้น โจทก์ได้ออกประกาศอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อเป็นสองอัตรา คือ อัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้าทั่วไปและอัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้าที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไขในการผ่อนชำระ ดังนั้น การที่โจทก์กำหนดอัตราดอกเบี้ยตามสัญญากู้ยืมเงินในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกหนี้ที่ปฏิบัติผิดสัญญา โดยจำเลยที่ 1 ยังไม่ได้ปฏิบัติผิดเงื่อนไขหรือผิดสัญญาเลยจึงเป็นการกำหนดอัตราดอกเบี้ยเกินกว่าประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยและประกาศของโจทก์ ถือว่าเป็นการปฏิบัติฝ่าฝืน พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ฯ อันเป็นการต้องห้าม ตาม พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราฯ มาตรา 3 (ก) จึงตกเป็นโมฆะ
การที่ศาลฎีกาจะพิพากษาตามยอมได้นั้น ศาลฎีกาจะต้องพิจารณาสัญญาประนีประนอมยอมความของคู่ความว่า เป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายหรือไม่ หากสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ศาลฎีกาก็ย่อมไม่อาจพิพากษาให้คดีเป็นอันเสร็จเด็ดขาดไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความนั้นได้เพราะเป็นการขัดต่อ ป.วิ.พ. มาตรา 138 เมื่อปรากฏตามสัญญาประนีประนอมยอมความที่โจทก์เสนอต่อศาลใน ข้อ. 1 ระบุว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ตกลงร่วมกันชำระเงินจำนวน 1,150,253.55 บาท แก่โจทก์ และจำเลยที่ 1 กับที่ 5 ตกลงร่วมกันชำระเงินจำนวน 558,543.32 บาท แก่โจทก์ เมื่อรวมจำนวนเงินทั้งสองจำนวนแล้วเป็นเงินทั้งสิ้น 1,708,796.87 บาท ซึ่งเงินจำนวนดังกล่าวนี้มีจำนวนเงินซึ่งคำนวณจากดอกเบี้ยเกินอัตราอันเป็นการต้องห้ามตาม พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราฯ มาตรา 3 (ก) รวมอยู่ด้วย สัญญาประนีประนอมยอมความที่โจทก์เสนอต่อศาลจึงเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2536 จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินโจทก์ 850,000 บาท ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ตกลงผ่อนชำระหนี้ให้แก่โจทก์เป็นรายเดือน เดือนละไม่น้อยกว่า 12,500 บาท ชำระทุกวันสิ้นเดือน เริ่มชำระงวดแรกในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2536 หากผิดนัดงวดใดงวดหนึ่งให้ถือว่าผิดนัดทั้งหมดโดยมีจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ทำสัญญาค้ำประกันโดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม และจำเลยที่ 1 จำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 24407 ตำบลพระบาท (หัวเวียง) อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง พร้อมสิ่งปลูกสร้าง เป็นประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 จำนวน 850,000 บาท ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี และตกลงขึ้นเงินจำนองเป็นประกันครั้งที่ 1 จำนวน 300,000 บาท เมื่อรวมกับสัญญาจำนองเดิมเป็นเงินจำนวน 1,150,000 บาท ต่อมาวันที่ 17 ธันวาคม 2540 จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินโจทก์อีก 540,000 บาท ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ตกลงผ่อนชำระหนี้ให้แก่โจทก์เป็นรายเดือน เดือนละไม่น้อยกว่า 11,600 บาท เริ่มชำระงวดแรกในวันที่ 31 มกราคม 2541 หาผิดนัดไม่ว่างวดหนึ่งงวดใดให้ถือว่าผิดนัดทั้งหมด โดยมีจำเลยที่ 5 ทำสัญญาประกันโดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ในวันดังกล่าวจำเลยที่ 1 ตกลงขึ้นเงินจำนองเป็นค้ำประกันครั้งที่ 2 จำนวน 540,000 บาท เมื่อรวมกับสัญญาจำนองเดิมเป็นเงิน 1,690,000 บาท หลังจากทำสัญญาจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ โจทก์ทวงถามและบอกกล่าวบังคับจำนองแล้ว แต่จำเลยทั้งห้าเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระเงินจำนวน 1,708,796.87 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของเงินต้นจำนวน 1,203,276.68 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ หากจำเลยทั้งห้าไม่ชำระหรือชำระไม่ครบถ้วนให้ยึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง ทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์ หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งห้าออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน
จำเลยทั้งห้าขาดนัดยื่นคำให้การและขาดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ เฉพาะจำเลยที่ 1 ให้ชำระเงินจำนวน 584,861.02 บาท จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ร่วมรับผิดจำนวน 190,861.02 บาท และจำเลยที่ 5 ให้รับผิดชำระต้นจำนวน 394,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินต้นแต่ละจำนวนดังกล่าว นับแต่วันที่ 20 สิงหาคม 2542 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ หากจำเลยทั้งห้าไม่ชำระให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 24407 ตำบลพระบาท (หัวเวียง) อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้แก่โจทก์ หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งห้าออกขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ร่วมกันรับผิดตามสัญญากู้ยืมเงินฉบับลงวันที่ 7 ตุลาคม 2536 ชำระเงินให้โจทก์จำนวน 592,573.35 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2543 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ 1 และที่ 5 ร่วมกันรับผิดตามสัญญากู้ยืมเงินฉบับลงวันที่ 17 ธันวาคม 2540 ชำระเงินจำนวน 394,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 31 มกราคม 2541 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์จากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ที่โจทก์คิดตามสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.4 และ จ.5 เป็นโมฆะหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่าโจทก์เป็นสถาบันการเงิน การคิดดอกเบี้ยของโจทก์ไม่อยู่ภายใต้บังคับแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 654 โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยที่กำหนดให้โจทก์กำหนดอัตราดอกเบี้ยได้ไม่เกินร้อยละ 19 ต่อปี ตามเอกสารหมาย จ.28 ถึง จ.33 โจทก์จึงสามารถเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยทั้งห้าได้ในอัตราร้อยละ 19 ต่อปีนั้น เห็นว่า แม้ว่าโจทก์จะเป็นสถาบันการเงิน การคิดดอกเบี้ยของโจทก์ไม่ได้อยู่ภายใต้บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 654 ก็ตาม แต่การคิดดอกเบี้ยของโจทก์จะต้องอยู่ภายใต้บทบัญญัติของพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 มาตรา 14 ซึ่งกำหนดให้ธนาคารแห่งประเทศไทย ออกประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลดด้วย ตามประกาศอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อของโจทก์นั้น โจกท์ได้ออกประกาศอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อเป็นสองอัตรา คือ อัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้าทั่วไปและอัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้าที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไขในการผ่อนชำระ สำหรับจำเลยที่ 1 เป็นลูกค้าทั่วไปตามรายการคิดดอกเบี้ยเอกสารหมาย จ.30 ซึ่งเป็นการคิดดอกเบี้ยตามสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.4 โจทก์กำหนดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 13 ต่อปี และตามรายการคิดดอกเบี้ยเอกสารหมาย จ.31 ซึ่งเป็นการคิดดอกเบี้ยตามสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.5 โจทก์กำหนดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 18.75 ต่อปี ส่วนลูกค้าที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไขตามประกาศอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อเอกสารหมาย จ.29 แผ่นที่ 12 โจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ดังนั้น การที่โจทก์กำหนดอัตราดอกเบี้ยตามสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.4 และ จ.5 ในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกหนี้ที่ปฏิบัติผิดสัญญา โดยจำเลยที่ 1 ยังไม่ได้ปฏิบัติผิดเงื่อนไขหรือผิดสัญญาเลย จึงเป็นการกำหนดอัตราดอกเบี้ยเกินกว่าประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยและประกาศของโจทก์ ถือว่าเป็นการปฏิบัติฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 อันเป็นการต้องห้ามตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 มาตรา 3 (ก) จึงตกเป็นโมฆะ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
อนึ่ง ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา โจทก์ยื่นคำแถลงลงวันที่ 24 ธันวาคม 2545 อ้างว่า โจทก์และจำเลยทั้งห้าสามารถตกลงประนีประนอมยอมความกันได้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความลงวันที่ 24 ธันวาคม ที่เสนอต่อศาลชั้นต้นและศาลชั้นต้นส่งมายังศาลฎีกาเพื่อพิจารณาและพิพากษาตามยอมนั้น เห็นว่า การที่ศาลฎีกาจะพิพากษาตามยอมได้นั้น ศาลฎีกาจะต้องพิจารณาสัญญาประนีประนอมยอมความของคู่ความว่าเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายหรือไม่ หากสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ศาลฎีกาก็ย่อมไม่อาจพิพากษาให้คดีเป็นอันเสร็จเด็ดขาดไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความนั้นได้ เพราะเป็นการขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 138 เมื่อปรากฏตามสัญญาประนีประนอมยอมความที่โจทก์เสนอต่อศาลในข้อ 1 ระบุว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ตกลงร่วมกันชำระเงินจำนวน 1,150,253.55 แก่โจทก์ และจำเลยที่ 1 กับที่ 5 ตกลงร่วมกันชำระเงินจำนวน 558,543.32 บาทแก่โจทก์ เมื่อรวมจำนวนเงินทั้งสองจำนวนแล้วเป็นเงินทั้งสิ้น 1,708,796.87 บาท ซึ่งเงินจำนวนดังกล่าวนี้มีจำนวนเงินซึ่งคำนวณจากดอกเบี้ยเกินอัตราอันเป็นการต้องห้ามตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 มาตรา 3 (ก) รวมอยู่ด้วย สัญญาประนีประนอมยอมความที่โจทก์เสนอต่อศาลจึงเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ศาลฎีกาจึงไม่อาจพิพากษาตามยอมให้ได้”
พิพากษายืน และให้ยกคำแถลงของโจทก์ลงวันที่ 24 ธันวาคม 2545 ที่ขอให้ศาลฎีกาพิพากษาตามยอม