แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
แม้จำเลยทั้งสามมิได้ระบุเอกสารหมาย ล.1 ถึง ล.4 เป็นพยานหลักฐานแต่ได้ใช้เอกสารเหล่านั้นประกอบการถามค้านโจทก์ที่ 1 ซึ่งอ้างตนเองเป็นพยานว่าโจทก์ที่ 1 ได้รับเงินที่จำเลยที่ 1 โอนให้แก่โจทก์ที่ 1 แล้วตามใบรับฝากเงินเอกสารหมาย ล.1 ทั้งโจทก์ที่ 1 เองก็เบิกความรับรองเอกสารหมาย ล.1 ถึง ล.4 โดยยืนยันว่าเป็นผู้ลงลายมือชื่อรับรองความถูกต้องเกี่ยวกับหลักฐาน การที่จำเลยที่ 1 ขายที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 2 ตามเอกสารหมาย ล.2 และ ล.3 จำเลยที่ 1 จึงอ้างเอกสารเหล่านั้นเป็นพยานหลักฐานประกอบคำเบิกความของโจทก์ที่ 1 ได้ กรณีไม่อยู่ในบังคับ ป.วิ.พ. มาตรา 88 และมาตรา 90 แม้เอกสารหมาย ล.1 ถึง ล.4 มิได้ระบุไว้ในบัญชีพยานและส่งสำเนาให้โจทก์ทั้งสอง ก็หาต้องห้ามมิให้รับฟังเอกสารดังกล่าวแต่อย่างใด
โจทก์ทั้งสองได้มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 ขายที่ดินพิพาทแทนโจทก์ทั้งสองและทราบดีว่าเมื่อจำเลยที่ 1 โอนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 แล้ว จำเลยที่ 2 จะต้องจำนองที่ดินพิพาทเป็นประกันหนี้เงินที่จำเลยที่ 3 กู้ยืมสหกรณ์ออมทรัพย์เพื่อนำเงินมาชำระค่าที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์ทั้งสอง การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการกระทำในขอบอำนาจที่โจทก์ทั้งสองมอบอำนาจให้ไว้ หาใช่ร่วมกันสมคบกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ฉ้อฉลโจทก์ทั้งสองไม่ โจทก์ทั้งสองจึงไม่อาจฟ้องขอเพิกถอนนิติกรรมดังกล่าวได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายฉบับลงวันที่ 7 พฤษภาคม 2540 ระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยที่ 2 หากจำเลยที่ 2 ไม่ไปดำเนินการจดทะเบียนเพิกถอน ให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาแทนและให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 15,562.50 บาท และต่อไปอีกเดือนละ 2,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยทั้งสามให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ 2 ถึงแก่ความตาย ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยที่ 3 เข้าเป็นคู่ความแทน
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้ฎีกาโต้แย้งกันรับฟังเป็นยุติว่า โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นสามีภริยากันเป็นเจ้าของผู้ถือกรรสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 111720 ตำบลสีกัน (บ้านใหม่) อำเภอบางเขน (ตลาดขวัญ) กรุงเทพมหานคร พร้อมบ้านเลขที่ ส.1669/898 แขวงสีกัน เขตดอนเมือง กรุงเทพมหานคร ตามสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.13 ส่วนจำเลยที่ 1 เป็นสามีของจำเลยที่ 3 และเป็นบุตรเขยของจำเลยที่ 2 โดยโจทก์ที่ 1 และจำเลยที่ 1 รู้จักกันมาก่อน เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2540 โจทก์ที่ 1 ได้ไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจนครบาลประชาชื่น ตามสำเนารายงานประจำวันรับแจ้งเอกสารหมาย จ.6 ว่าโจทก์ทั้งสองได้มอบโฉนดที่ดินพิพาทและลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจที่ยังไม่ได้กรอกข้อความให้แก่จำเลยที่ 1 เพื่อให้จำเลยที่ 1 จัดการหาเงินกู้จำนวน 100,000 บาท ให้แก่โจทก์ทั้งสอง แต่จำเลยที่ 1 กลับนำหนังสือมอบอำนาจไปกรอกข้อความเป็นว่าโจทก์ทั้งสองมอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 ขายที่ดินพิพาทแล้วจำเลยที่ 1 ได้นำหนังสือมอบอำนาจและโฉนดที่ดิน ดังกล่าวไปโอนขายให้แก่จำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2540 และต่อมาวันที่ 26 พฤษภาคม 2540 จำเลยที่ 2 ได้จำนองที่ดินพิพาทเป็นประกันเงินกู้ที่จำเลยที่ 3 กู้จากสหกรณ์ออมทรัพย์ครูนนทบุรี ในวงเงิน 940,000 บาท หลังจากโจทก์ที่ 1 แจ้งความร้องทุกข์แล้ว ต่อมาวันที่ 6 มกราคม 2541 โจทก์ทั้งสองได้ไปขออายัดที่ดินพิพาทต่อเจ้าพนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร และเจ้าพนักงานที่ดินได้รับอายัดไว้ตามสำเนาคำขออายัดที่ดินและบันทึกข้อความเรื่องการอายัดที่ดินเอกสารหมาย จ.7 และ จ.8 ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองในเบื้องต้นมีว่าจำเลยทั้งสามอ้างเอกสารหมาย ล.1 ถึง ล.4 เป็นพยาน โดยไม่ต้องยื่นบัญชีระบุพยานและไม่ต้องส่งสำเนาให้แก่โจทก์ทั้งสองก่อนสืบพยาน 7 วัน หรือไม่ เห็นว่า คดีนี้แม้จำเลยทั้งสาม มิได้ระบุเอกสารหมาย ล.1 ถึง ล.4 เป็นพยาน แต่ได้ใช้เอกสารเหล่านั้นประกอบการถามค้านโจทก์ที่ 1 ซึ่งอ้างตนเองเป็นพยานปากแรกว่า โจทก์ที่ 1 ได้รับเงินที่จำเลยที่ 1 โอนให้แก่โจกท์ที่ 1 แล้วตามใบรับฝากเงินเอกสารหมาย ล.1 ทั้งโจทก์ที่ 1 เองก็เบิกความรับรองข้อเท็จจริงตามเอกสารหมาย ล.1 ถึง ล.4 โดยยืนยันว่าเป็นผู้ลงลายมือชื่อรับรองความถูกต้องเกี่ยวกับหลักฐานการที่จำเลยที่ 1 ขายที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 2 ตามเอกสารหมาย ล.2 และ ล.3 จำเลยที่ 1 จึงอ้างเอกสารเหล่านั้นเป็นพยานหลักฐานประกอบคำเบิกความของโจทก์ที่ 1 ได้ กรณีไม่อยู่ในบังคับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 88 และมาตรา 90 ดังนั้น แม้เอกสารหมาย ล.1 ถึง ล.4 มิได้ระบุไว้ในบัญชีพยานและส่งสำเนาให้โจทก์ทั้งสองก็หาต้องห้ามมิให้รับฟังเอกสารดังกล่าวแต่อย่างใด ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยมานั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองประการต่อไปมีว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันฉ้อฉลหลอกลวงโจทก์ทั้งสองหรือไม่ โดยโจทก์ทั้งสองฎีกาว่า จำเลยที่ 1 หลอกลวงให้โจทก์ทั้งสองหลงเชื่อว่าจะหากู้เงิน 100,000 บาท ให้แก่โจทก์ทั้งสอง โดยให้โจทก์ทั้งสองนำโฉนดที่ดินพิพาทพร้อมหนังสือมอบอำนาจของโจทก์ทั้งสองไปวางเป็นการประกันการชำระหนี้ แต่จำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 กลับนำหนังสือมอบอำนาจตามสำเนาเอกสารหมาย จ.3 และ จ.4 ที่โจทก์ทั้งสองลงลายมือชื่อไว้โดยมิได้กรอกข้อความใดๆ ไปกรอกข้อความว่าให้จำเลยที่ 1 ขายที่ดินพิพาทแทนโจทก์ทั้งสอง แล้วจำเลยที่ 1 ได้นำหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวไปทำนิติกรรมจดทะเบียนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ตามสำเนาหนังสือสัญญาขายที่ดินเอกสารหมาย จ.2 จากนั้นจำเลยที่ 2 จำนองที่ดินพิพาทเป็นประกันการชำระหนี้เงินกู้ของจำแลยที่ 3 ตามหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเอกสารหมาย จ.5 ซึ่งมีผลทำให้สัญญาขายที่ดินพิพาทตามเอกสารหมาย จ.2 เป็นโมฆะ ไม่ผูกพันโจทก์ทั้งสองนั้น เห็นว่า แม้โจทก์ทั้งสองกล่าวอ้างว่าได้ลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจตามสำเนาเอกสารหมาย จ.3 และ จ.4 เพื่อให้โจทก์ที่ 1 นำที่ดินพิพาทไปประกันการกู้ยืมเงินที่โจทก์ประสงค์จะขอกู้เพียง 100,000 บาท โดยโจทก์ทั้งสองมิได้มีเจตนาจะขายที่ดินดังกล่าวแต่จากหลักฐานหนังสือที่ผู้จัดการสหกรณ์ออมทรัพย์ครูนนทบุรี จำกัด มีไปถึงสำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาดอนเมือง เพื่อขอทราบราคาประเมินที่ดินพิพาทซึ่งสำนักงานที่ดินดังกล่าวได้แจ้งราคาประเมินที่ดินพิพาทว่า ราคาตารางวาละ 15,000 บาท ตามสำเนาเอกสารหมาย ล.2 ก็ดี ใบสั่งเงินค่าธรรมเนียม ค่าใช้จ่ายและค่าภาษีอากรในการซื้อขายที่ดินพิพาทตามสำเนาเอกสารหมาย ล.3 ก็ดีล้วนแล้วเป็นเอกสารที่โจทก์ที่ 1 รับว่าโจทก์ที่ 1 ได้ลงลายมือชื่อรับรองความถูกต้องของเอกสารทั้งสองฉบับไว้ บ่งชัดว่าโจทก์ที่ 1 ทราบถึงการขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และทราบราคาประเมินของที่ดินพิพาท ก่อนที่จำเลยที่ 2 จะจำนองที่ดินดังกล่าวเป็นประกันเงินที่จำเลยที่ 3 กู้ยืมจากสหกรณ์ออมทรัพย์ครูนนทบุรี จำกัด อีกทั้งยังยอมรับว่าจำเลยที่ 1 ได้โอนเงิน 50,000 บาท เข้าบัญชีเงินฝากของโจทก์ที่ 1 ตามสำเนาใบรับฝากเงินเอกสารหมาย ล.1 ที่ระบุว่าจำเลยที่ 1 ได้โอนเงินให้โจทก์ที่ 1 เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2540 ซึ่งเป็นระยะเวลาภายหลังจากวันที่มีการทำนิติกรรมจดทะเบียนขายและจำนองที่ดินพิพาทแล้ว จากพยานหลักฐานฝ่ายจำเลยประกอบพฤติการณ์ของโจทก์ทั้งสองที่มอบบัตรประจำตัวประชาชนสำเนาทะเบียนบ้านของโจทก์ทั้งสองพร้อมกับลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 ไปทำนิติกรรม ตลอดจนรับรู้ถึงค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนขาย และราคาประเมินของที่ดินพิพาทในการจดทะเบียนจำนองที่ดินดังกล่าวจึงมีน้ำหนักฟังได้ว่า โจทก์ทั้งสองได้มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 ขายที่ดินพิพาทแทนโจทก์ทั้งสอง และทราบดีว่าเมื่อจำเลยที่ 1 โอนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 แล้ว จำเลยที่ 2 จะต้องจำนองที่ดินพิพาทเป็นประกันหนี้เงินที่จำเลยที่ 3 กู้ยืมสหกรณ์ออมทรัพย์ครูนนทบุรี จำกัด เพื่อนำเงินมาชำระค่าที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์ทั้งสองดังข้อนำสืบของจำเลยทั้งสาม การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการกระทำในขอบอำนาจที่โจทก์ทั้งสองมอบอำนาจให้ไว้ หาใช่ร่วมกันสมคบกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ฉ้อฉลโจทก์ทั้งสองแต่ประการใดไม่ โจทก์ทั้งสองจึงไม่อาจฟ้องขอเพิกถอนนิติกรรมดังกล่าวได้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาต้องกันมาให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสองนั้นต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาของโจทก์ทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน ส่วนฎีกานอกเหนือจากนี้ไม่เป็นสาระอันควรได้รับการวินิจฉัย เนื่องจากไม่ทำให้ผลคำพิพากษาเปลี่ยนแปลงไป”
พิพากษายืน