คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3932/2549

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 1 (3) ฟ้องแย้งเป็นคำฟ้องอย่างหนึ่ง ดังนั้น การบรรยายฟ้องจะต้องปฏิบัติตามมาตรา 172 วรรคสอง กล่าวคือ ต้องแสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้น และต้องบรรยายให้เห็นว่าโจทก์ได้โต้แย้งสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายของจำเลยที่ 2 อย่างไรตามมาตรา 55 ทั้งต้องเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับคำฟ้องเดิมพอที่จะรวมการพิจารณาและชี้ขาดตัดสินเข้าด้วยกันได้ตามมาตรา 177 วรรคสาม และมาตรา 179 วรรคท้าย
โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ตามสัญญาเช่าซื้อ จำเลยที่ 2 ตามสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 2 ฟ้องแย้งอ้างว่า จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อครบถ้วนแล้ว เมื่อจำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตาย โจทก์ต้องจดทะเบียนใส่ชื่อทายาทของจำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์รถยนต์ที่เช่าซื้อ เป็นการกล่าวอ้างว่าโจทก์โต้แย้งสิทธิของจำเลยที่ 1 หาใช่โต้แย้งสิทธิของจำเลยที่ 2 ไม่ จำเลยที่ 2 ไม่มีอำนาจฟ้องแย้ง ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2 จึงไม่เกี่ยวข้องกับคำฟ้องเดิม ไม่อาจพิจารณารวมไปกับคำฟ้องเดิมได้และการที่สัญญาค้ำประกันระบุว่า จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 อย่างลูกหนี้ร่วมนั้น มีผลเพียงว่าโจทก์มีสิทธิที่จะเรียกชำระหนี้จากจำเลยที่ 1 หรือจำเลยที่ 2 คนใดคนหนึ่งโดยสิ้นเชิงได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 291 และจำเลยที่ 2 ไม่อาจใช้สิทธิดังที่กล่าวไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 688, 689 และ 690 ได้เท่านั้น หาทำให้จำเลยที่ 2 เกิดสิทธิที่จะฟ้องคดีแทนจำเลยที่ 1 ด้วยไม่

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันส่งมอบรถยนต์ที่จำเลยที่ 1 เช่าซื้อคืนให้แก่โจทก์ หากส่งคืนไม่ได้ให้ใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 157,020 บาท และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสื่อมราคาเป็นเงิน 306,000 บาท และค่าเสื่อมราคาอีกเดือนละ 3,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะส่งมอบรถยนต์ที่เช่าชื้อคืนพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 24 ต่อปี จากต้นเงิน 463,020 บาท นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตายก่อนที่โจทก์ยื่นฟ้อง ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 1 ออกจากสารบบความ
จำเลยที่ 2 ให้การ ขอให้ยกฟ้องและให้บังคับโจทก์จดทะเบียนใส่ชื่อเด็กชายกิตติ แสงจันทร์ ทายาทของจำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์รถยนต์ที่เช่าซื้อ
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยที่ 2 แก้ไขคำให้การ ส่วนฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2 ที่อาศัยสิทธิของบุคคลภายนอกมาฟ้องโจทก์ ไม่เกี่ยวข้องกับฟ้องเดิมจึงไม่รับฟ้องแย้ง คืนค่าขึ้นศาลแก่จำเลยที่ 2
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า การที่ศาลล่างทั้งสองมีคำสั่งไม่รับฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2 ชอบหรือไม่ โดยจำเลยที่ 2 ฎีกาว่า โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อแก่โจทก์ หากส่งมอบไม่ได้ให้จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ใช้ค่าเสียหายและค่าเสื่อมราคาแก่โจทก์ ตามสัญญาค้ำประกันระบุให้จำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 อย่างลูกหนี้ร่วม จำเลยที่ 2 จึงสามารถยกข้อต่อสู้ที่จำเลยที่ 1 มีต่อโจทก์ขึ้นต่อสู้โจทก์ได้เช่นเดียวกับจำเลยที่ 1 และสิทธิใดที่เป็นของจำเลยที่ 1 จะใช้ในการเรียกร้องหรือต่อสู้คดีกับโจทก์แล้ว จำเลยที่ 2 ในฐานะลูกหนี้ร่วมย่อมมีสิทธิที่จะยกขึ้นอ้างอิงและมีคำขอบังคับได้เช่นเดียวกับจำเลยที่ 1 ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2 เกี่ยวข้องกับฟ้องเดิมจึงเป็นฟ้องแย้งที่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 1 (3) ฟ้องแย้งเป็นคำฟ้องอย่างหนึ่ง ดังนั้นการบรรยายฟ้องแย้งจะต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสอง กล่าวคือ ต้องแสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้น และจะต้องบรรยายให้เห็นว่าโจทก์ได้โต้แย้งสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายของจำเลยที่ 2 อย่างไรตาม มาตรา 55 ทั้งต้องเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับคำฟ้องเดิมพอที่จะรวมการพิจารณาและชี้ขาดตัดสินเข้าด้วยกันได้ตามมาตรา 177 วรรคสาม และมาตรา 179 วรรคสุดท้ายฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2 อ้างว่า จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อครบถ้วนแล้ว โจทก์มีหน้าที่ต้องจดทะเบียนใส่ชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ แต่เนื่องจากจำเลยที่ 1 ได้ถึงแก่ความตายแล้วโจทก์จึงต้องจดทะเบียนให้เด็กชายกิตติ แสงจันทร์ ทายาทของจำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์รถยนต์ที่เช่าซื้อ และมีคำขอให้บังคับโจทก์จดทะเบียนใส่ชื่อเด็กชายกิตติ แสงจันทร์ ทายาทของจำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์รถยนต์ที่เช่าซื้อ เป็นการกล่าวอ้างว่าโจทก์โต้แย้งสิทธิของจำเลยที่ 1 หาใช่โต้แย้งสิทธิของจำเลยที่ 2 ไม่ จำเลยที่ 2 จึงไม่มีอำนาจฟ้องแย้งในส่วนนี้ ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2 จึงไม่เกี่ยวข้องกับฟ้องเดิม ไม่อาจพิจารณารวมไปกับฟ้องเดิมได้ การที่สัญญาค้ำประกันระบุว่าจำเลยที่ 2 ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 อย่างลูกหนี้ร่วมนั้นคงมีผลเพียงว่าโจทก์มีสิทธิที่จะเรียกชำระหนี้จากจำเลยที่ 1 หรือจำเลยที่ 2 คนใดคนหนึ่งจนสิ้นเชิงได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 291 และจำเลยที่ 2 ไม่อาจใช้สิทธิดังที่กล่าวไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 688, 689 และ 690 ได้เท่านั้น หาได้ทำให้จำเลยที่ 2 เกิดสิทธิที่จะฟ้องคดีแทนจำเลยที่ 1 ด้วยไม่ ที่ศาลล่างทั้งสองมีคำสั่งไม่รับฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2 นั้น ชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share