คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 604/2549

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

คำฟ้องของโจทก์เป็นการฟ้องจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของ น. เพื่อให้แบ่งทรัพย์มรดกและขอให้ถอดถอนจำเลยจากการเป็นผู้จัดการมรดกของ น. อันเป็นการพิพาทในฐานะจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของ น. ซึ่งต้องแบ่งปันทรัพย์มรดกของ น. ให้แก่โจทก์ หาได้พิพาทกันในฐานะส่วนตัวไม่ ดังนั้นการที่ผู้ร้องเข้าสวมสิทธิของโจทก์จึงไม่อยู่ในฐานะเป็นผู้ฟ้องมารดาซึ่งเป็นบุพการีของตน กรณีจึงไม่ต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 1562
แม้ผู้ร้องจะไม่อาจเข้าเป็นคู่ความแทนที่โจทก์ได้เพราะคดีถึงที่สุดในศาลชั้นต้นก่อนแล้วก็ตาม แต่การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเข้ามาเป็นคู่ความแทนที่โจทก์ก็เพื่อมีสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์ ซึ่งโจทก์มีสิทธิได้รับจากจำเลยในฐานะจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของ น. และโจทก์มีสิทธิดังกล่าวก่อนที่จะถึงแก่กรรม เมื่อโจทก์ถึงแก่กรรมจึงตกทอดแก่ผู้ร้อง ผู้ร้องอยู่ในฐานะเป็นผู้รับมรดกของโจทก์และเป็นผู้รับพินัยกรรมย่อมมีสิทธิและหน้าที่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1599 และมาตรา 1600 จึงมีสิทธิที่จะเข้าเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์และดำเนินการบังคับคดีต่อไปได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 250,000 บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 7 ตุลาคม 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้องไม่เกิน 3,698 บาท กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 8,000 บาท คำขออื่นให้ยก ต่อมาจำเลยยื่นอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเกี่ยวกับอุทธรณ์ของจำเลยว่ารอไว้สั่งเมื่อไต่สวนคำร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาเสร็จแล้ว ซึ่งในระหว่างไต่สวนคำร้องขออุทธรณ์อย่างคนอนาถานั้น ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทนที่โจทก์เพื่อดำเนินกระบวนพิจารณาในชั้นศาลต่อไป
จำเลยยื่นคำร้องคัดค้านว่า จำเลยยื่นอุทธรณ์ฝ่ายเดียว คดีอยู่ในระหว่างโต้เถียงกันว่า โจทก์มีสิทธิขอแบ่งทรัพย์มรดกจากจำเลยได้หรือไม่ เมื่อจำเลยเป็นมารดาของผู้ร้อง การที่ผู้ร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทนที่โจทก์ ผู้ร้องจึงตกอยู่ในฐานะเป็นผู้ฟ้องจำเลยซึ่งเป็นบุพการีของตน ไม่มีสิทธิเข้าเป็นคู่ความแทนที่โจทก์ผู้มรณะได้ นอกจากนี้การจดทะเบียนรับรองผู้ร้องเป็นบุตรของโจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และพินัยกรรมทำขึ้นโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้ร้องจึงมิได้เป็นทายาทโดยธรรมของโจทก์และไม่มีสิทธิได้รับทรัพย์สินตามพินัยกรรม ขอให้ยกคำร้องของผู้ร้อง
ในวันนัดไต่สวนคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทนที่โจทก์ผู้มรณะ ศาลชั้นต้นสอบถามผู้ร้องและทนายจำเลยแล้ว เห็นว่า ไม่จำเป็นต้องไต่สวนคำร้องอีกต่อไป จึงให้งดไต่สวนและวินิจฉัยว่าการเข้าเป็นคู่ความแทนที่โจทก์ของผู้ร้อง ทำให้ผู้ร้องอยู่ในฐานะเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยซึ่งเป็นบุพการีของตน ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1562 ให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ผู้ร้องเข้าเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์ และมีอำนาจดำเนินการบังคับคดีได้ต่อไป นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำสั่งของศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังยุติได้ว่า ผู้ร้องเป็นบุตรของโจทก์และจำเลย โจทก์ได้จดทะเบียนรับรองผู้ร้องเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย และโจทก์ทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกที่โจทก์มีสิทธิที่จะได้รับให้แก่ผู้ร้อง ต่อมาหลังจากที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาในคดีนี้ให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย แต่ก่อนที่จำเลยจะยื่นอุทธรณ์ โจทก์ได้ถึงแก่กรรม คดีคงมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า ผู้ร้องจะเข้าเป็นคู่ความแทนที่โจทก์ผู้มรณะได้หรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า โจทก์ฟ้องคดีขอให้ถอดถอนจำเลยจากการเป็นผู้จัดการมรดกแล้วให้ศาลตั้งโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกแทน และฟ้องขอให้แบ่งปันทรัพย์มรดกด้วย อันเป็นการแบ่งปันทรัพย์มรดกในฐานะที่จำเลยเป็นทายาทโดยธรรม มิใช่ในฐานะผู้จัดการมรดก จึงเป็นการฟ้องจำเลยในฐานะส่วนตัว เมื่อผู้ร้องเข้าสวมสิทธิโจทก์จึงอยู่ในฐานะเป็นผู้ฟ้องและดำเนินคดีกับบุพการีของตนอันเป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1562 เห็นว่า โจทก์และจำเลยต่างเป็นทายาทโดยธรรมของนางสาวนิรมล และโจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้โดยอ้างว่าจำเลยจำหน่ายทรัพย์มรดกของนางสาวนิรมลแล้วไม่นำเงินมาแบ่งปันให้โจทก์ ทำให้โจทก์ซึ่งมีสิทธิได้รับมรดกได้รับความเสียหาย ขอให้ศาลมีคำสั่งหรือคำพิพากษาถอดถอนจำเลยจากการเป็นผู้จัดการมรดกของนางสาวนิรมลแล้วตั้งให้โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของนางสาวนิรมลแทน และให้จำเลยแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่โจทก์กึ่งหนึ่งเป็นเงิน 25,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย เช่นนี้คำฟ้องของโจทก์เป็นการฟ้องจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของนางสาวนิรมลเพื่อให้แบ่งทรัพย์มรดกและขอให้ถอดถอนจำเลยจากการเป็นผู้จัดการมรดกของนางสาวนิรมล อันเป็นการพิพาทกันในฐานะจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของนางสาวนิรมลซึ่งจะต้องแบ่งปันทรัพย์มรดกของนางสาวนิรมลให้แก่โจทก์ หาได้พิพาทกันในฐานะส่วนตัวดังที่จำเลยฎีกา ดังนั้นการที่ผู้ร้องเข้าสวมสิทธิของโจทก์จึงไม่อยู่ในฐานะเป็นผู้ฟ้องมารดาซึ่งเป็นบุพการีของตน กรณีไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1562 ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น ส่วนที่จำเลยฎีกาประการต่อมาว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยโดยมีคำสั่งก่อนที่ศาลชั้นต้นจะส่งอุทธรณ์ของผู้ร้องมาให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษา คดีจึงถึงที่สุดในศาลชั้นต้นแล้ว เมื่อไม่มีคดีในชั้นอุทธรณ์ที่จะให้ผู้ร้องเข้ามาดำเนินคดีแทนที่โจทก์ผู้มรณะ จึงไม่มีเหตุที่จะให้ผู้ร้องเข้ามาดำเนินคดีแทนที่โจทก์ผู้มรณะได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 42 นั้น เห็นว่า แม้ผู้ร้องจะไม่อาจเข้าเป็นคู่ความแทนที่โจทก์ได้ เพราะคดีถึงที่สุดในศาลชั้นต้นก่อนแล้วก็ตาม แต่การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเข้ามาเป็นคู่ความแทนที่โจทก์ก็เพื่อมีสิทธิที่จะได้รับการชำระหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์ ซึ่งโจทก์มีสิทธิได้รับจากจำเลยในฐานะจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของนางสาวนิรมลและโจทก์มีสิทธิดังกล่าวก่อนที่จะถึงแก่กรรม เมื่อโจทก์ถึงแก่กรรมจึงตกทอดแก่ผู้ร้อง ผู้ร้องอยู่ในฐานะเป็นผู้รับมรดกของโจทก์และเป็นผู้รับพินัยกรรมย่อมมีสิทธิและหน้าที่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1599 และมาตรา 1600 ทำให้มีสิทธิที่จะเข้ารับมรดกสิทธิความเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์และดำเนินการบังคับคดีต่อไปได้ ที่ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งและคำพิพากษาให้ผู้ร้องเข้าเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์และดำเนินการบังคับคดีกับจำเลยนั้นชอบแล้ว ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share