คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4841/2549

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยประกอบกิจการให้บริการฉายหรือให้เช่าเทปหรือวัสดุโทรทัศน์ โดยได้ประโยชน์ตอบแทนด้วยการคิดค่าบริการ โดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนและมิได้รับยกเว้นตามที่กำหนดในกฎกระทรวงอันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ฯ มาตรา 6 วรรคหนึ่ง และ 20 วรรคสอง ซึ่งเป็นคนละฐานความผิดและมีบทกำหนดโทษแตกต่างกัน ตามคำฟ้องแสดงว่าโจทก์ประสงค์จะให้ลงโทษจำเลยในข้อหาใดข้อหาหนึ่งเพียงข้อหาเดียว การที่จำเลยให้การรับสารภาพตลอดข้อหาจึงเป็นคำรับสารภาพที่ไม่สามารถรับฟังได้ว่า จำเลยกระทำความผิดในข้อหาใด โจทก์ต้องนำพยานเข้าสืบเพื่อให้ได้ความว่าจำเลยกระทำความผิดฐานใด เพื่อศาลจะได้นำข้อเท็จจริงที่ได้ความมาปรับบทลงโทษได้ แต่โจทก์มิได้นำสืบ ศาลย่อมพิพากษาลงโทษจำเลยไม่ได้
การที่โจทก์ฎีกาว่าโจทก์ได้ปฏิบัติตามข้อบังคับและตามบทบัญญัติของ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงฯ ตามมาตรา 19 วรรคสอง และมาตรา 19 วรรคสี่ ครบถ้วนแล้ว เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพโจทก์ก็หาจำต้องสืบพยานแต่อย่างใดไม่ ฎีกาของโจทก์มิได้มีข้อความโต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 2 ว่าเป็นคำวินิจฉัยที่ไม่ชอบเพราะเหตุใด ฎีกาของโจทก์จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายที่มิได้โต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 เป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ. ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัดฯ มาตรา 3 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงฯ มาตรา 4 และ ป.วิ.อ. มาตรา 216 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยประกอบกิจการให้บริการฉายหรือให้เช่าเทปหรือวัสดุโทรทัศน์ที่ร้านรินคาราโอเกะ โดยได้ประโยชน์ตอบแทนด้วยการคิดค่าบริการโดยจำเลยไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนตามกฎหมาย เจ้าพนักงานจับจำเลยพร้อมด้วยตู้คาราโอเกะซึ่งใช้แสดงภาพและเสียง 1 ตู้ และไมโครโฟน 1 ตัว เป็นของกลาง ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ.2530 มาตรา 4, 6, 20, 34 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 และริบของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามฟ้อง ปรับ 20,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับ 10,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายประการแรกว่าฟ้องโจทก์ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 19 เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพแล้ว โจทก์หาจำต้องนำพยานเข้าสืบแต่อย่างใดนั้น เห็นว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยว่า คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยประกอบกิจการให้บริการฉายหรือให้เช่าเทปหรือวัสดุโทรทัศน์โดยได้ประโยชน์ตอบแทนด้วยการคิดค่าบริการ โดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนและมิได้รับยกเว้นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ.2530 มาตรา 6 วรรคหนึ่ง และ 20 วรรคสอง ซึ่งเป็นคนละฐานความผิดและมีบทกำหนดโทษแตกต่างกันทั้งตามคำฟ้องแสดงว่าโจทก์ประสงค์จะให้ลงโทษจำเลยในข้อหาใดข้อหาหนึ่งเพียงข้อหาเดียว การที่จำเลยให้การรับสารภาพตลอดข้อหาจึงเป็นคำรับสารภาพที่ไม่สามารถรับฟังได้ว่าจำเลยกระทำผิดในข้อหาใด โจทก์ต้องนำพยานเข้าสืบเพื่อให้ได้ความว่าจำเลยกระทำความผิดฐานใดเพื่อศาลจะได้นำข้อเท็จจริงที่ได้ความมาปรับบทลงโทษได้ แต่โจทก์มิได้นำสืบให้ได้ความเช่นนั้น ศาลย่อมพิพากษาลงโทษจำเลยไม่ได้ ที่ศาลชั้นต้นอาศัยคำรับสารภาพของจำเลยที่ไม่ชัดแจ้งว่ากระทำผิดฐานใดมาพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามฟ้องจึงไม่ถูกต้อง แต่โจทก์ฎีกาว่า ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 19 วรรคสอง บัญญัติว่า การฟ้องด้วยวาจานั้น ให้โจทก์แจ้งต่อศาลถึงชื่อโจทก์ ชื่อที่อยู่และสัญชาติของจำเลย ฐานความผิด การกระทำที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำความผิด ข้อเท็จจริงและรายละเอียด เกี่ยวกับเวลา สถานที่ และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี และมาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่า การกระทำเช่นนั้นเป็นความผิด และมาตรา 19 วรรคสี่ บัญญัติไว้ว่า ในกรณีที่ฟ้องหรือให้การด้วยวาจาให้ศาลบันทึกใจความไว้เป็นหลักฐาน และให้คู่ความลงชื่อไว้ จะเห็นได้ว่าโจทก์ได้ปฏิบัติตามข้อบังคับโดยครบถ้วนแล้ว และตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพแล้วโจทก์ก็หาจำต้องสืบพยานแต่อย่างใดไม่เท่านั้น ฎีกาของโจทก์มิได้มีข้อความโต้แย้งว่าที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยว่า คำฟ้องโจทก์แสดงว่าโจทก์ประสงค์จะให้ลงโทษจำเลยในข้อหาใดข้อหาหนึ่งเพียงข้อหาเดียว การที่จำเลยให้การรับสารภาพตลอดข้อหาไม่สามารถรับฟังได้ว่าจำเลยกระทำผิดข้อหาใด โจทก์ต้องนำพยานเข้าสืบให้ได้ความว่าจำเลยกระทำความผิดฐานใด จึงจะพิพากษาลงโทษจำเลยได้ เป็นคำวินิจฉัยที่ไม่ชอบเพราะเหตุใด ฎีกาของโจทก์ข้อนี้จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายที่มิได้โต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 เป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 216 วรรคหนึ่ง แม้ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาข้อนี้ ศาลฎีกาก็ไม่รับวินิจฉัยให้”
พิพากษายกฎีกาของโจทก์

Share