คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 878/2549

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

เมื่อโจทก์ตกเป็นบุคคลล้มละลาย เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ย่อมมีอำนาจหน้าที่รวบรวมและจำหน่ายทรัพย์สินของโจทก์ตามวิธีการที่บัญญัติไว้ในหมวด 4 ส่วนที่ 4 แห่ง พ.ร.บ.ล้มละลายฯ ซึ่งมาตรา 123 บัญญัติให้อำนาจแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ที่จะขายทรัพย์สินที่รวบรวมได้มาตามวิธีที่สะดวกและเป็นผลดีที่สุด โดยมีเงื่อนไขว่าการขายโดยวิธีอื่นนอกจากการขายทอดตลาดต้องได้รับความเห็นชอบของกรรมการเจ้าหนี้ การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ประกาศขายสิทธิเรียกร้องของโจทก์โดยวิธีอื่นตามมติของที่ประชุมเจ้าหนี้เป็นการดำเนินการตามบทกฎหมายดังกล่าว สิทธิของผู้ซื้อทรัพย์สินที่ได้มาจากการขายสิทธิเรียกร้องของโจทก์ซึ่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ดำเนินการ โดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายจึงควรได้รับความรับรอง คุ้มครอง และบังคับตาม กรณีหาใช่เป็นเรื่องซื้อขายความหรือแสวงหาประโยชน์จากการที่ผู้อื่นเป็นความกันโดยมิชอบอันจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนไม่ ดังนั้น หากผู้ร้องเป็นผู้ซื้อทรัพย์สินและได้มาซึ่งสิทธิเรียกร้องของโจทก์รวมถึงสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้จากจำเลย ซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาในคดีนี้จากการขายดังกล่าว ย่อมถือได้ว่าผู้ร้องเป็นผู้มีสิทธิเรียกร้องเกี่ยวเนื่องด้วยการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งในอันที่จะร้องขอเข้ามาเป็นคู่ความในชั้นบังคับคดีเพื่อยังให้ได้รับความคุ้มครองและบังคับตามสิทธิของตนที่มีอยู่ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (1) ได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน พร้อมดอกเบี้ยกับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมีคำสั่งให้ระงับการดำเนินกิจการของโจทก์และดำเนินการชำระบัญชีตามกฎหมาย ต่อมาผู้ชำระบัญชีของโจทก์ร้องขอต่อศาลล้มละลายกลางให้มีคำสั่งให้โจทก์เป็นบุคคลล้มละลายและศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของโจทก์เด็ดขาดแล้ว ต่อมาเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้รวบรวมทรัพย์สินและสิทธิเรียกร้องอื่น ๆ ของโจทก์นำออกประมูลขายตามประกาศเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เรื่อง การขายสิทธิเรียกร้องของผู้ล้มละลายโดยวิธีอื่นตามมติที่ประชุมเจ้าหนี้ อันเป็นการจัดการและรวบรวมทรัพย์สินของบุคคลผู้ล้มละลาย ผู้ร้องเป็นผู้ประมูลซื้อสินทรัพย์และสิทธิเรียกร้องอื่น ๆ ของโจทก์ซึ่งรวมถึงสิทธิเรียกร้องตามคำพิพากษาในคดีนี้ ผู้ร้องได้รับโอนซึ่งสิทธิเรียกร้องและอุปกรณ์แห่งหนี้มาเป็นของผู้ร้อง จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีและมีสิทธิดำเนินการบังคับคดีต่อไปได้ ผู้ร้องบอกกล่าวแจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวให้จำเลยทราบแล้ว ขอให้มีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเข้าเป็นคู่ความแทนที่โจทก์ และมีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาต่อไป
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขายสิทธิในการบังคับคดีมิใช่ทรัพย์สินที่ยึดหรืออายัด จึงไม่มีอำนาจขายได้ตามกฎหมายล้มละลาย การนำสิทธิบังคับคดี ซึ่งเป็นสิทธิเฉพาะตัวมาประมูลขายให้แก่บุคคลภายนอกโดยไม่มีกฎหมายรองรับ มีลักษณะเป็นการซื้อขายความกัน ถือว่าเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อย เป็นโมฆะ ยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้ร้องว่า คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้ยกคำร้องของผู้ร้องชอบหรือไม่ เห็นว่า เมื่อโจทก์ตกเป็นบุคคลล้มละลาย เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ย่อมมีอำนาจหน้าที่รวบรวมและจำหน่ายทรัพย์สินของโจทก์ตามวิธีการที่บัญญัติไว้ในหมวด 4 ส่วนที่ 4 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ซึ่งมาตรา 123 บัญญัติให้อำนาจแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ที่จะขายทรัพย์สินที่รวบรวมได้มาตามวิธีที่สะดวกและเป็นผลดีที่สุดโดยมีเงื่อนไขว่าการขายโดยวิธีอื่นนอกจากการขายทอดตลาดต้องได้รับความเห็นชอบของกรรมการเจ้าหนี้ การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ประกาศขายสิทธิเรียกร้องของโจทก์โดยวิธีอื่นตามมติของที่ประชุมเจ้าหนี้ในคดีหมายเลขแดงที่ 1152/2544 ของศาลล้มละลายกลาง เป็นการดำเนินการตามบทกฎหมายดังกล่าว สิทธิของผู้ซื้อทรัพย์สินที่ได้มาจากการขายสิทธิเรียกร้องของโจทก์ซึ่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ดำเนินการโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายจึงควรได้รับความรับรอง คุ้มครอง และบังคับตาม กรณีหาใช่เป็นเรื่องซื้อขายความหรือแสวงหาประโยชน์จากการที่ผู้อื่นเป็นความกันโดยมิชอบอันจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนไม่ ดังนั้น หากเป็นความจริงตามข้ออ้างของผู้ร้องว่า ผู้ร้องเป็นผู้ซื้อทรัพย์สินและได้มาซึ่งสิทธิเรียกร้องของโจทก์รวมถึงสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้จากจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาในคดีนี้จากการขายดังกล่าว ย่อมถือได้ว่าผู้ร้องเป็นผู้มีสิทธิเรียกร้องเกี่ยวเนื่องด้วยการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งในอันที่จะร้องขอเข้ามาเป็นคู่ความในชั้นบังคับคดีเพื่อยังให้ได้รับความคุ้มครองและบังคับตามสิทธิของตนที่มีอยู่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (1) ได้ ที่ศาลชั้นต้นด่วนวินิจฉัยและมีคำสั่งยกคำร้องของผู้ร้องโดยอ้างเหตุโมฆะกรรมนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย และเห็นสมควรย้อนสำนวนให้ศาลชั้นต้นดำเนินการไต่สวนคำร้องและมีคำสั่งใหม่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243 (1) ประกอบมาตรา 247 อุทธรณ์ของผู้ร้องฟังขึ้น”
พิพากษายกคำสั่งของศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการไต่สวนคำร้องของผู้ร้องแล้วมีคำสั่งใหม่ตามรูปคดี

Share