แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินให้โจทก์ แต่จำเลยทั้งสองไม่ชำระ โจทก์ขอให้บังคับคดี จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องว่านอกจากคดีนี้แล้วโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีอาญาและได้มีการตกลงประนีประนอมยอมความกัน ขอให้งดการบังคับคดีแก่จำเลยที่ 2 ไว้จนกว่าจะได้มีการปฏิบัติตามข้อตกลงประนีประนอมยอมความ ตามคำแถลงของโจทก์และจำเลยที่ 2 ที่แถลงต่อศาลชั้นต้นในคดีอาญามีเงื่อนไขว่า ถ้าจำเลยที่ 1 ได้ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ครบถ้วนแล้ว โจทก์จึงจะไม่ติดใจเรียกร้องเอากับจำเลยที่ 2 อีกต่อไป แต่โจทก์และจำเลยที่ 2 ไม่ได้ตกลงกันว่าในกรณีที่จำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ให้แก่โจทก์หรือชำระหนี้ไม่ครบถ้วนแล้วโจทก์จะยินยอมให้จำเลยที่ 2 หลุดพ้นจากความรับผิดไปหรือไม่ คำแถลงดังกล่าวเป็นเพียงเหตุผลในการขอเลื่อนการนัดฟังคำพิพากษาออกไปอีกนัดหนึ่งเท่านั้น ไม่มีลักษณะที่โจทก์จำเลยที่ 2 ได้ตกลงระงับข้อพิพาทที่มีอยู่ระหว่างกันให้เสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน จึงไม่ใช่สัญญาประนีประนอมยอมความ สิทธิในการบังคับของโจทก์จึงไม่ระงับสิ้นไป
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 1,100,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ย แต่จำเลยทั้งสองไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าว โจทก์ขอให้บังคับคดี เจ้าพนักงานบังคับคดียึดบ้าน ที่ดิน และทรัพย์สินในบ้านของจำเลยที่ 2 เพื่อบังคับชำระหนี้ตามคำพิพากษา
จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเพิกถอนหมายบังคับคดีและปล่อยทรัพย์สินคืนแก่จำเลยที่ 2 หรืองดการบังคับคดีแก่จำเลยที่ 2 ไว้จนกว่าจะได้มีการปฏิบัติตามข้อตกลงประนีประนอมยอมความ หรือจนกว่าศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้อง ค่าคำร้องให้เป็นพับ
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่าโจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางปลิก หลำเจริญ ได้ขายที่ดินมรดกของนางปลิกจำนวน 3 แปลง ให้แก่จำเลยที่ 1 ในราคา 2,300,000 บาท จำเลยที่ 1 สั่งจ่ายเช็คพิพาทและส่งมอบให้แก่โจทก์เพื่อชำระราคาที่ดิน ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นผู้ลงลายมือชื่อสลักหลังเช็คดังกล่าว โจทก์นำเช็คพิพาทไปเข้าบัญชีของโจทก์เพื่อเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน โจทก์ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ และพนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาลชั้นต้น โดยฟ้องจำเลยที่ 2 เป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1690/2542 กับฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่ 2186/2544 ศาลชั้นต้นนัดฟังคำพิพากษาในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1690/2542 ในวันที่ 27 ธันวาคม 2544 ครั้นถึงวันนัด ทนายโจทก์และจำเลยที่ 2 แถลงร่วมกันว่า คดีอาญาหมายเลขดำที่ 1690/2542 มีความเกี่ยวพันกับคดีอาญาหมายเลขดำที่ 2186/2544 และในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 2186/2544 นั้น จำเลยที่ 1 ได้ตกลงจะชำระหนี้ให้โจทก์ในวันที่ 12 มีนาคม 2545 หากจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ให้แก่โจทก์แล้ว โจทก์ก็จะไม่ติดใจเรียกร้องเอากับจำเลยที่ 2 จึงขอเลื่อนคดีออกไปอีกสักนัด ศาลชั้นต้นพิเคราะห์แล้วเห็นว่า กรณียังไม่แน่นอนว่าจำเลยที่ 1 จะได้ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ได้ครบถ้วนหรือไม่ และหากจำเลยที่ 1 ไม่สามารถชำระหนี้ให้แก่โจทก์แล้ว จำเลยที่ 2 จะชำระหนี้ให้แก่โจทก์ให้เสร็จภายในระยะเวลาเท่าใด กรณีจึงเห็นสมควรให้จำหน่ายคดีชั่วคราวไปก่อน หากจำเลยที่ 2 ต้องชำระหนี้ให้แก่โจทก์แล้วจำเลยที่ 2 ไม่ชำระ ให้โจทก์แถลงต่อศาลเพื่อยกคดีขึ้นพิจารณาต่อไปตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 27 ธันวาคม 2544
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า ข้อความที่โจทก์และจำเลยที่ 2 ร่วมกันแถลงต่อศาลในรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1690/2542 ดังกล่าวเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความหรือไม่ เห็นว่าตามคำแถลงของโจทก์และจำเลยที่ 2 ดังกล่าว มีเงื่อนไขว่า ถ้าจำเลยที่ 1 ได้ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ครบถ้วนแล้วโจทก์จึงจะไม่ติดใจเรียกร้องเอากับจำเลยที่ 2 อีกต่อไป แต่โจทก์และจำเลยที่ 2 ไม่ได้ตกลงกันว่า ในกรณีที่จำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ หรือชำระหนี้ไม่ครบถ้วนแล้ว โจทก์จะยินยอมให้จำเลยที่ 2 หลุดพ้นจากความรับผิดไปหรือไม่ คำแถลงดังกล่าวเป็นเพียงเหตุผลในการขอเลื่อนนัดฟังคำพิพากษาออกไปอีกนัดหนึ่งเท่านั้น ไม่มีลักษณะที่โจทก์และจำเลยที่ 2 ได้ตกลงระงับข้อพิพาทที่มีอยู่ระหว่างกันให้เสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กันดังที่จำเลยที่ 2 ฎีกา จึงมิใช่สัญญาประนีประนอมยอมความ สิทธิในการบังคับคดีของโจทก์หาได้ระงับสิ้นไปไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยว่า ข้อความที่โจทก์และจำเลยที่ 2 แถลงในรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1690/2542 ดังกล่าวมิใช่สัญญาประนีประนอมยอมความและไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนหมายบังคับคดีหรืองดการบังคับคดีนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ