คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 275/2549

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ผู้ถือหุ้นของจำเลย ได้เปลี่ยนสถานภาพมาจากการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทยซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจประเภทองค์การของรัฐตาม พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจฯ พ.ร.บ. ดังกล่าวระบุเหตุผลในการเปลี่ยนแปลงว่า เพื่อให้บริษัทที่จัดตั้งขึ้นเป็นองค์กรธุรกิจของรัฐที่มีความคล่องตัวในการบริหารและในเหตุผลการจัดตั้งกับมาตรา 26 ได้กำหนดให้บริษัทที่จัดตั้งขึ้นนั้นมีสถานภาพเป็นรัฐวิสาหกิจเช่นเดียวกัน บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) จึงเปลี่ยนแปลงมาจากการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทยที่เป็นรัฐวิสาหกิจจึงมีสถานภาพเป็นรัฐวิสาหกิจด้วย เมื่อบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจถือหุ้นในบริษัทจำเลยเกินกว่าร้อยละห้าสิบ จำเลยจึงเป็นรัฐวิสาหกิจตาม พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ฯ มาตรา 6 (2) ซึ่งไม่อยู่ในบังคับของ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 4 โจทก์ทำงานกับจำเลยจนเกษียณอายุเป็นเวลา 7 ปีเศษ จำเลยจ่ายเงินค่าตอบแทนความชอบให้แก่โจทก์เท่ากับอัตราค่าจ้างสุดท้าย 180 วัน ตามระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ฯ หมวด 6 ข้อ 47 เป็นการถูกต้องครบถ้วนตามกฎหมายแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินค่าชดเชย 274,800 บาท ให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินค่าชดเชยให้โจทก์ 274,800 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ปรากฏข้อเท็จจริงว่า จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ก่อนวันที่ 30 กันยายน 2545 การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทยเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ โดยถืออยู่ประมาณร้อยละ 70 แต่หลังจากวันที่ 30 กันยายน 2545 แล้ว การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทยได้เปลี่ยนสถานภาพเป็นบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) โดยมีพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542 เป็นกฎหมายรองรับ และต่อมามีพระราชกฤษฎีกายกเลิกกฎหมายว่าด้วยการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทยตามสำเนาพระราชกฤษฎีกากำหนดเงื่อนเวลายกเลิกกฎหมายว่าด้วยการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย พ.ศ.2545 (จ.6) ในวันที่ 30 กันยายน พ.ศ.2545 มีการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นของบริษัทจำเลยโดยการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทยโอนหุ้นทั้งหมดให้แก่บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ตามสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (จ.4) และมีการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนโดยจดแจ้งผู้ถือหุ้นใหม่ต่อกระทรวงพาณิชย์เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2546 ทำให้บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นอยู่ประมาณร้อยละ 70 ต่อมาวันที่ 10 กันยายน 2546 บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ได้รับโอนหุ้นมาจากกระทรวงการคลังอีกประมาณร้อยละ 25 ทำให้เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทจำเลยโดยถืออยู่ประมาณร้อยละ 90 โจทก์เกษียณอายุในวันที่ 30 กันยายน 2546 คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยเพียงประการเดียวว่า จำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 (4) หรือจ่ายเงินเพื่อตอบแทนความชอบในการทำงานตามพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 มาตรา 6 (2) ประกอบระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2534 หมวด 6 ข้อ 47 หรือไม่ พิเคราะห์แล้ว พระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 มาตรา 6 บัญญัติว่า “รัฐวิสาหกิจ” หมายความว่า
(1) องค์การของรัฐบาลตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาลหรือกิจการของรัฐตามกฎหมายที่จัดตั้งกิจการนั้น และให้หมายความรวมถึงหน่วยงานธุรกิจที่รัฐเป็นเจ้าของ
(2) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่กระทรวง ทบวง กรม หรือทบวงการเมืองที่มีฐานะเทียบเท่า หรือรัฐวิสาหกิจตาม (1) มีทุนรวมอยู่ด้วยเกินร้อยละห้าสิบ เห็นว่า บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ผู้ถือหุ้นของจำเลย ได้เปลี่ยนสถานภาพมาจากการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทยซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจประเภทองค์การของรัฐ ตามพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542 พระราชบัญญัติดังกล่าวระบุเหตุผลในการเปลี่ยนแปลงว่า เพื่อให้บริษัทที่จัดตั้งขึ้นเป็นองค์กรธุรกิจของรัฐที่มีความคล่องตัวในการบริหารและในเหตุผลการจัดตั้งกับมาตรา 26 ได้กำหนดให้บริษัทที่จัดตั้งขึ้นนั้นมีสถานภาพเป็นรัฐวิสาหกิจเช่นเดียวกัน ดังนั้น บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งเปลี่ยนแปลงมาจากการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทยที่เป็นรัฐวิสาหกิจดังกล่าว จึงมีสถานภาพเป็นรัฐวิสาหกิจด้วย เมื่อบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจถือหุ้นในบริษัทจำเลยจำนวน 214,999,994 หุ้น ในหุ้นทั้งหมดจำนวน 215,000,000 หุ้น จึงมีทุนที่รัฐวิสาหกิจถืออยู่เกินร้อยละห้าสิบ จำเลยจึงเป็นรัฐวิสาหกิจตามพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 มาตรา 6 (2) ซึ่งไม่อยู่ในบังคับของพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 4 แต่ต้องบังคับตามพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 มาตรา 6 (2) ประกอบระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2534 หมวด 6 ข้อ 47 โจทก์ทำงานกับจำเลยจนเกษียณอายุเป็นเวลา 7 ปีเศษ จำเลยจ่ายเงินเพื่อตอบแทนความชอบในการทำงานให้แก่โจทก์เท่ากับอัตราค่าจ้างสุดท้าย 180 วัน เป็นเงิน 584,400 บาท ตามระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2534 หมวด 6 ข้อ 47 นั้น เป็นการถูกต้องครบถ้วนตามกฎหมายแล้ว ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 (4) ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

Share