แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
จำเลยที่ 2 ขอแก้ไขคำให้การเพิ่มเติมประเด็นฟ้องซ้อน เป็นการขอแก้ไขเกี่ยวกับอำนาจฟ้องของโจทก์ซึ่งเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยที่ 2 จึงอาจขอแก้ไขได้ก่อนศาลแรงงานกลางพิพากษาคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 180 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 31
กรณีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ในฐานความผิดยักยอกทรัพย์และขอให้คืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยักยอกไป แม้จะถือว่าเป็นการขอแทนผู้เสียหายตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 43 ก็ตาม แต่ก็เป็นกรณีที่ความเสียหายนั้นเนื่องมาจากการกระทำผิดอาญาเท่านั้น ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างทำให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ซึ่งเป็นนายจ้าง ซึ่งการกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ทำให้เกิดความเสียหายนั้นอาจเป็นบ่อเกิดแห่งหนี้ที่จะใช้สิทธิเรียกร้องได้สองทาง คือในมูลละเมิดและในมูลแห่งสัญญาจ้างแรงงานที่มีต่อกันอยู่ ในคดีอาญาดังกล่าวกับคดีนี้ถึงแม้คำขอบังคับจะเป็นอย่างเดียวกันคือ ขอให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าเสียหายแต่ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหานั้นมิได้เป็นอย่างเดียวกัน ในคดีอาญานั้นข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาที่พนักงานอัยการขอบังคับในส่วนแพ่งนั้น มาจากข้ออ้างเนื่องจากการกระทำผิดทางอาญาอันเป็นการเรียกร้องในมูลหนี้ละเมิด แต่คดีนี้มีที่มาจากมูลสัญญาจ้างแรงงาน และคำฟ้องของโจทก์กรณีของการผิดสัญญาจ้างแรงงานนั้นเป็นอำนาจของคู่สัญญาโดยเฉพาะ พนักงานอัยการที่เป็นโจทก์ในคดีอาญาไม่อาจจะอาศัยสิทธิในเรื่องของสัญญาจ้างแรงงานมาเป็นข้ออ้างในคำขอส่วนแพ่งได้ จึงมิใช่เป็นกรณีที่เป็นการฟ้องคดีในเรื่องเดียวกันอันจะเป็นฟ้องซ้อนตามความหมายของ ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 31
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เข้าทำงานเป็นลูกจ้างโจทก์ ตำแหน่งพนักงานขายมีจำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันการทำงานโดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมต่อมาจำเลยที่ 1 เบียดบังยักยอกขวดและลังน้ำอัดลมของโจทก์คิดเป็นเงิน 259,348 บาท พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องคดีอาญาต่อศาลจังหวัดปทุมธานี เป็นคดีหมายเลขดำที่ อ.2483/2544 แต่จำเลยที่ 1 หลบหนี ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีชั่วคราวและออกหมายจับ ก่อนฟ้องคดีโจทก์ทวงถามแล้ว แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายเป็นเงิน 259,348 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การ ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วไม่อนุญาตให้จำเลยที่ 2 แก้ไขคำให้การ
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 259,348 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (วันที่ 19 มีนาคม 2547) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ว่า ที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งไม่อนุญาตให้จำเลยที่ 2 แก้ไขคำให้การนั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 180 บัญญัติว่า “การแก้ไขคำฟ้องหรือคำให้การที่คู่ความเสนอต่อศาลไว้แล้วให้ทำเป็นคำร้องยื่นต่อศาลก่อนวันชี้สองสถานหรือก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่าเจ็ดวันในกรณีที่ไม่มีการชี้สองสถาน เว้นแต่มีเหตุอันสมควรที่ไม่อาจยื่นคำร้องได้ก่อนนั้นหรือเป็นการขอแก้ไขในเรื่องที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน หรือเป็นการแก้ไขข้อผิดพลาดเล็กน้อยหรือข้อผิดหลงเล็กน้อย” จำเลยที่ 2 ขอแก้ไขคำให้การเพิ่มเติมประเด็นฟ้องซ้อนว่า พนักงานอัยการได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานยักยอกทรัพย์ต่อศาลจังหวัดปทุมธานีเป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.2483/2544 และมีคำขอให้จำเลยที่ 1 คืนหรือใช้เงินจำนวนเดียวกันกับที่ขอบังคับในคดีนี้ แต่จำเลยที่ 1 หลบหนี ศาลจังหวัดปทุมธานีจึงมีคำสั่งจำหน่ายคดีชั่วคราวและออกหมายจับจำเลยที่ 1 เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้เรียกร้องเงินจำนวนเดียวกันจากจำเลยทั้งสอง ซึ่งเป็นการชำระหนี้ที่แบ่งแยกจากกันมิได้จึงเป็นฟ้องซ้อนอันเป็นการขอแก้ไขเกี่ยวกับอำนาจฟ้องของโจทก์ซึ่งเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยที่ 2 จึงอาจขอแก้ไขได้ก่อนศาลแรงงานกลางพิพากษาคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 180 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 ที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งไม่อนุญาตให้จำเลยที่ 2 แก้ไขคำให้การจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลฎีกาเห็นสมควรให้รับไว้พิจารณาและเมื่อพิจารณาในประเด็นฟ้องซ้อนที่จำเลยที่ 2 ขอแก้ไขคำให้การดังกล่าวและอุทธรณ์ขอให้ศาลฎีกาพิพากษาในประเด็นนี้มาด้วยแล้ว เห็นว่า ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.2483/2544 ของศาลจังหวัดปทุมธานี เป็นกรณีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ในฐานความผิดยักยอกทรัพย์และขอให้คืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยักยอกไป แต่จำเลยที่ 1 หลบหนีศาลจังหวัดปทุมธานีจึงมีคำสั่งจำหน่ายคดีชั่วคราว การขอให้คืนหรือใช้ราคาทรัพย์ให้ผู้เสียหายที่พนักงานอัยการขอมาในคำฟ้องคดีอาญานั้น แม้จะถือว่าเป็นการขอแทนผู้เสียหายตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 43 ก็ตาม แต่ก็เป็นกรณีที่ความเสียหายนั้นเนื่องมาจากการกระทำผิดอาญาเท่านั้น ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างทำให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ซึ่งเป็นนายจ้าง ซึ่งการกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ทำให้เกิดความเสียหายนั้นอาจเป็นบ่อเกิดแห่งหนี้ที่จะใช้สิทธิเรียกร้องได้สองทางคือในมูลละเมิดและในมูลแห่งสัญญาจ้างแรงงานที่มีต่อกันอยู่ ในคดีอาญาดังกล่าวกับคดีนี้ถึงแม้คำขอบังคับจะเป็นอย่างเดียวกันคือขอให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าเสียหาย แต่ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหานั้นมิได้เป็นอย่างเดียวกัน ในคดีอาญานั้นข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาที่พนักงานอัยการขอบังคับในส่วนแพ่งนั้นมาจากข้ออ้างเนื่องจากการกระทำผิดทางอาญาอันเป็นการเรียกร้องในมูลหนี้ละเมิด แต่คดีนี้มีที่มาจากมูลสัญญาจ้างแรงงาน และคำฟ้องของโจทก์กรณีของการผิดสัญญาจ้างแรงงานนั้นเป็นอำนาจของคู่สัญญาโดยเฉพาะ พนักงานอัยการที่เป็นโจทก์ในคดีอาญาไม่อาจจะอาศัยสิทธิในเรื่องของสัญญาจ้างแรงงานมาเป็นข้ออ้างในคำขอส่วนแพ่งได้ จึงมิใช่เป็นกรณีที่เป็นการฟ้องคดีในเรื่องเดียวกันอันจะเป็นฟ้องซ้อนตามความหมายของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง (1) ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระค่าเสียหายแก่โจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์จำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน